ค่าฝุ่นจิ๋ว PM2.5 กรุงเทพ-ปริมณฑล กลับมาเกินมาตรฐาน 21 จุด วันนี้

คพ.เร่งแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง หลังจากสถานการณ์ ค่าฝุ่นจิ๋ว PM2.5 กรุงเทพ-ปริมณฑล เกินเกณฑ์มาตรฐาน 21 จุด

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.)เปิดเผยว่า ปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ณ เวลา 15.00 น. วันนี้ ตรวจวัดได้ระหว่าง 33 – 93 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยปริมาณฝุ่นละอองเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกพื้นที่ของกทม. และปริมณฑล เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงกลางวัน

โดยในช่วงบ่ายนี้ พบพื้นที่กทม. และปริมณฑล ที่มีคุณภาพอากาศเกินเกณฑ์ค่ามาตรฐาน (เกิน 50 มคก. /ลบ.ม.) โดยอยู่ในเกณฑ์ที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (พื้นที่สีส้ม) เพิ่มขึ้นเป็น 20 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ริมถนนพระราม 3 (สี่แยกถนนตก) เขตบางคอแหลม/ สี่แยกหน้าสำนักงานเขตสาทร / พื้นที่หน้า ม.สยาม (ริม ถ.เพชรเกษม 36) เขตภาษีเจริญ/ ริมถนนจรัญสนิทวงศ์(หน้าสำนักงานเขตบางพลัด)/ พื้นที่เขตบางเขน (หน้าสำนักงานเขตบางเขน) / พื้นที่ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน / ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี/ ริมถนนตรีมิตร วงเวียนโอเดียน เขตสัมพันธวงศ์/ ริมถนนพระราม 3 เขตยานนาวา/ ริมถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ เขตธนบุรี/ ริมถนนเจริญนคร เขตคลองสาน/ ริมถนนซอยนิคมบ้านพักรถไฟธนบุรี เขตบางกอกน้อย/ ริมถนนพระรามที่ 2 เขตบางขุนเทียน/ แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร/ แขวงคลองเตย เขตคลองเตย/ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่/ ต.ทรงคะนอง จ.สมุทรปราการ/ ต.บางโปรง อ.เมือง จ.สมุทรปราการ/ ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร และพื้นที่ ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร

ส่วนพื้นที่ที่อยู่ในเกณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (พื้นที่สีแดง) มีจำนวน 1 พื้นที่ ได้แก่ ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ โดยมีค่าฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงที่ 93 มคก. /ลบ.ม.

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 สูงเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทางสุขภาพที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ที่ฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน (พื้นที่สีส้ม) ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านเป็นเวลานาน ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อเป็นการป้องกันฝุ่นละออง รวมถึงป้องกันโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นไปตามหลักการป้องกันไว้ก่อน

สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สีแดง (คุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ) กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนทุกคนในพื้นที่ดังกล่าวหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์

พร้อมกันนี้ คพ. ได้เร่งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการมาตรการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” อย่างเข้มงวด

โดยบก.จร. ส่วนงานตรวจพิสูจน์มลภาวะ ร่วมกับ กรมการขนส่งทางบก บูรณาการภารกิจร่วมกันเข้าดำเนินการกวดขันจับกุมยานพาหนะ ในพื้นที่ กทม. รวมทั้งสิ้น 667 ราย โดยสามารถดำเนินการตาม พรบ. ขนส่งทางบกฯ จำนวน 433 ราย และ พรบ. จราจรฯ จำนวน 234 ราย ดำเนินการออกคำสั่ง “ห้ามใช้ชั่วคราว” (คพ.3) จำนวน 34 ราย

และกตพ. คพ. ร่วมกับ บก.จร. และ ขสมก. บูรณาการร่วมกันในการตรวจสอบควันดำรถโดยสารประจำทาง ในพื้นที่เขตการเดินรถที่ 4 (อู่คลองเตย) จำนวน 42 คัน พบรถโดยสารที่มีค่าควันดำเกินค่ามาตรฐาน จำนวน 1 คัน ซึ่งได้ดำเนินการแจ้งหัวหน้าเขตการเดินรถที่ 4 ทราบและนำรถโดยสารคันดังกล่าวไปดำเนินการปรับปรุงรักษาเพื่อไม่ให้มีควันดำเกินค่ามาตรฐานต่อไป

ทั้งยังรายงานผลตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ที่มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน ให้กับกทม.จ.สมุทรปราการ และ จ.สมุทรสาคร อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทราบสถานการณ์และดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ในเชิงพื้นที่ต่อไป

แม้ว่าในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลจะยังคงมีการสะสมของฝุ่นละอองต่อเนื่องจากช่วงเช้าจนถึงบ่ายนี้ จนเป็นสาเหตุในหลายพื้นที่ของ กทม.และปริมณฑล มีค่าฝุ่นละออง PM2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐานและมีผลกระทบต่อสุขภาพแล้วนั้น จากข้อมูลรายงานสภาพอากาศ ในช่วงบ่ายนี้ พบว่า ตั้งแต่ช่วงเวลา 13.00 น. เป็นต้นมา พื้นที่ กทม. ได้รับอิทธิพลจากลมทิศตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็วลมสูงสุด 7.4 กม./ชม. ประกอบกับในช่วงเวลา 15.00 น. เรดาร์กรุงเทพมหานคร ตรวจพบกลุ่มฝนปานกลางถึงหนัก บริเวณกรุงเทพมหานคร (เขตวัฒนา/ ห้วยขวาง/ บางกะปิ /หลักสี่ /หนองแขม /บางแค /บางซื่อ /สวนหลวง) และจังหวัดนนทบุรี ซึ่งจะช่วยให้การสะสมตัวของฝุ่นละอองในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เริ่มมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยหลังจากนี้ไปจนถึงช่วงหัวค่ำ

ขอให้ประชาชนได้ติดตามข้อมูลสถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่ผ่านทางเว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th แอพพลิเคชั่น Air4Thai และข้อมูลจากกทม. สายด่วนกรมควบคุมมลพิษ 1650 สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 สายด่วนกรมการขนส่งทางบก 1584 สายด่วน บก.จร. 1197 สายด่วน ขสมก. 1348 (สำหรับรถโดยสารประจำทาง ขสมก.และรถร่วมฯ) และสายด่วน กทม. 1555