ส่งออกปี”62 วืดเป้า 3% หนุนฟื้น FTA กู้ตลาด

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2562 ลดลง 3.0% จากเดิมที่คาดไว้ 3.2% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปี จากปัจจัยลบที่พาเหรดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งผลพวงสงครามการค้าที่ยืดเยื้อระหว่างสหรัฐ-จีน ทั้งยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งคงจะยืดเยื้อข้ามไปถึงปี 2563 รวมถึงวิกฤตค่าเงินในหลายประเทศ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการชุมนุมประท้วงในฮ่องกง การโจมตีคลังน้ำมันในซาอุดีอาระเบียที่ส่งผลต่อสถานการณ์ราคาพลังงานโลก

“ไทย” ไม่ต่างจากทั่วโลกที่ต้องประสบปัญหาการแข่งขันส่งออกที่รุนแรงขึ้นจากภาวะการค้าโลกฝืดเคือง และความสามารถในการแข่งขันลดต่ำลงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 6 ปี และเทคโนโลยีดิสรัปชั่นในหลายอุตสาหกรรม

โดยล่าสุดกระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขส่งออก 3 ไตรมาสของปี 2562 (มกราคม-กันยายน) มีมูลค่า 186,572 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.1% ซึ่งยังห่างไกลจากเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ 3% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 179,191 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.7% โดยไทยยังเกินดุลการค้ามูลค่า 7,381 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นผลจากการส่งออกเดือนกันยายน 2562 มีมูลค่า 20,481 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.4% ขณะที่การนำเข้า 19,206.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.24% ไทยยังได้ดุลการค้า 1,275 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ยังมีความคาดหวังว่า หากการส่งออกไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ไทยยังสามารถผลักดันยอดส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนได้ 20,821 ล้านเหรียญ จะช่วยพยุงให้การส่งออกทั้งปีเติบโต 0.1% ได้ แต่ก็ยอมรับว่ามีโอกาสติดลบ 1% แต่ยืนยันว่าจะไม่แย่ไปกว่านี้แน่นอน

ขณะที่คาดการณ์ส่งออกไทยในปี 2563 จะสามารถพลิกกลับเป็นบวกได้ 1-2% หากการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนสามารถส่งออกอยู่ที่ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30-31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ขยายตัว 2.7-3.2% ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ย 30-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการส่งออกรวม 3 ไตรมาส พบว่า สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 16.4% ของการส่งออกทั้งประเทศ ปรับลดลง 2.2% ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 80.0% ของการส่งออกทั้งประเทศ ลดลง 1.3% (ตามตาราง) โดยสินค้าส่งออกเกือบทั้งหมดลดลง ยกเว้นทองคำยังไม่ขึ้นรูป ขยายตัว 107.44% เครื่องประดับไม่รวมทอง 6.66% ผลิตภัณฑ์ยาง 1.33% และผักและผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป 22.09% และไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป 8.72%

ขณะที่ภาพรวมตลาดส่งออก 3 ไตรมาสแรก ประกอบด้วย ตลาดหลักซึ่งมีสัดส่วน 31.3% ของการส่งออกไทย ส่งออกขยายตัว 3% จากการส่งออกไปตลาดสหรัฐ ขยายตัว 14.1% ส่วน สหภาพยุโรป หดตัว 6.6% และญี่ปุ่น หดตัว 0.4% ส่วนตลาดศักยภาพสูงซึ่งมีสัดส่วน 49.2% ของการส่งออกไทย ส่งออกติดลบ 7.1% โดยติดลบทุกตลาด ทั้งอาเซียน ติดลบ 8.3% (ยกเว้นมีเพียงตลาดบรูไน ที่ขยายตัว15.9%) CLMV ติดลบ 6.4% จีน ติดลบ 5.6% เอเชียใต้ ติดลบ 5.1% ส่วนตลาดศักยภาพระดับรอง สัดส่วน 16.65 ของการส่งออกไทย ส่งออก ติดลบ 4.5% จากออสเตรเลีย ติดลบ 2.4% ตะวันออกกลาง ติดลบ 4.5% แอฟริกา ติดลบ 9.5% ละตินอเมริกา ติดลบ 5.3% รัสเซียและซีไอเอส ติดลบ 9.3% ส่วนตลาดอื่น ๆ ที่มีสัดส่วน 2.9% ขยายตัว 105.8% จากการส่งออกทองคำไปตลาดสวิตเซอร์แลนด์

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า แม้ว่าภาพการส่งออกเดือนกันยายน 2562 และ 3 ไตรมาสแรกของปีจะลดลง แต่ทางสำนักงานยังมั่นใจว่าการส่งออกไทยยังมีพื้นฐานที่เข้มแข็ง ยังสามารถปรับตัวการส่งออกให้ขยายตัวหรือปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากการศึกษาเปรียบเทียบส่วนแบ่งตลาดส่งออกสำคัญสหรัฐ ซึ่งไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 1.26% ในปีก่อน เป็น 1.31% ตลาดจีนส่วนแบ่งตลาดเพิ่มจาก 2.15% เป็น 2.24% ญี่ปุ่นเพิ่มจาก 3.35% เป็น 3.55% แต่มีเพียงตลาดสหภาพยุโรปหรืออียูเท่านั้นที่ส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทยลดลงจาก 1.17% เหลือ 1.13% ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งรื้อฟื้นกรอบเจรจาการค้าสำคัญ ๆ โดยเฉพาะเอฟทีเอไทย-อียู ซึ่งรัฐบาลเตรียมจะฟื้นการเจรจาเพื่อเปิดโอกาสในการขยายตลาดส่งออกให้กับประเทศ และการสรุปผลการเจรจาเอฟทีเอที่ยังค้าง เช่น ไทย-ตุรกี เพื่อขยายโอกาสในการส่งออก


นอกจากนี้ แนวทางในการผลักดันการส่งออกช่วงที่เหลือของปีนี้ต้องลดอุปสรรคการค้าและการลงทุน และช่วยปลดล็อกอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนให้มากขึ้น การส่งเสริมการค้าชายแดนและการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งกระทรวงพาณิชย์ยังพุ่งเป้าทำการตลาดสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเปิดให้เอกชนเจรจาธุรกิจกับผู้นำเข้า ทั้งมันสำปะหลัง มะพร้าวน้ำหอม ไม้ ยางพารา เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น รวมไปถึงการฟื้นตลาดเก่าและรักษาตลาดเก่าจะเป็นส่วนช่วยให้การส่งออกไทยมีโอกาสเติบโตและขยายตัวเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นในระยะยาว