ศึกการค้า”สหรัฐ-อียู”ทุบเศรษฐกิจโลกทรุดไทยไร้อานิสงส์

แฟ้มภาพ

หรัฐเปิดศึกขึ้นภาษีนำเข้า 25% อียู 18 พ.ย. “สภาผู้ส่งออก” ชี้อานิสงส์ส่งออกทดแทนน้อย เหตุ 4 ประเทศผู้ผลิตอียูผลิตสินค้าแต่ละชนิดกับไทย หวั่นสินค้าไหลเข้า ห่วงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กระทบตลาดอาหารปี”62 ขยายตัว 0%

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และรองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเมินผลจากกรณีที่สหรัฐประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรป 25% มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา คาดว่าจะมีประเทศสหภาพยุโรป 4 ประเทศที่ได้รับผลกระทบ คือ เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน ด้วยสาเหตุจากการฟ้ององค์การการค้าโลก (WTO) เรื่องเครื่องบินแอร์บัส อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นมองว่าสินค้าที่ทั้ง 4 ประเทศนี้ผลิตไม่ใช่กลุ่มเดียวกับที่ไทยผลิต เช่น สินค้ากลุ่มไวน์ น้ำมันมะกอก ดังนั้น ไทยจะไม่ได้ประโยชน์ในแง่การส่งออกสินค้าเข้าไปทดแทนในตลาดดังกล่าว และในทางตรงข้ามสินค้าจาก 4 ประเทศนี้ที่ส่งออกไปยังสหรัฐไม่ได้ก็อาจจะมีบางส่วนที่ไหลเข้ามาขายในอาเซียนและไทย แต่ไม่ได้รุนแรงเท่ากับกรณีสงครามการค้าสหรัฐและจีน

“ประเด็นที่ห่วงคือภาพรวมเศรษฐกิจโลกอาจจะชะลอตัวมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดยุโรป ซึ่งชะลอมาระยะหนึ่งแล้ว จากปัจจัยเรื่องความไม่แน่นอน กรณีที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ไม่ชัดเจน หากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเพิ่มขึ้น กระทบต่อผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย แต่เราก็ยังหวังว่าถึงอย่างไรอาหารก็เป็นสินค้าจำเป็นที่ทุกคนต้องบริโภค จึงมีโอกาสที่ปีหน้าจะเติบโต 2% ได้ แต่ก็ยังต้องระวังปัจจัยเสี่ยงเรื่องบาทแข็งว่าจะกระทบต่อการแข่งขัน เหมือนปีนี้หรือไม่”

สำหรับแนวโน้มการส่งออกอาหารในช่วงไตรมาส 4 ยังมองว่าโอกาสที่จะฟื้นตัวยังเป็นไปได้ยาก โดยการส่งออกอาหารในช่วง 8 เดือนแรกลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าการส่งออกอาหารปีนี้จะได้ 0% หรือ 1-2% ต่ำกว่าเป้าที่เคยมองไว้ช่วงต้นปีว่าจะขยายตัว 7-8% จากปีก่อนซึ่งมีมูลค่าส่งออก 41,476 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.26 ล้านบาท

“ไทยทำได้แค่นี้ถือว่าแฮปปี้แล้ว เพราะภาวะการค้าโลกชะลอตัวนับจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน และล่าสุดสหรัฐประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรปอีก ซึ่งครั้งนี้เป็นภาพลบมากกว่าภาพบวก เพราะเดิมเราเคยมองว่าผลจากสงครามการค้าจะทำให้สินค้าไทยขายเข้าไปทดแทนในตลาดจีนและสหรัฐได้แต่ก็ได้เพียงเล็กน้อยหากเทียบกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวแล้วไม่คุ้มค่าเลย”

อย่างไรก็ตาม การฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูยังจำเป็น แม้ว่าจะไม่ใช่เครื่องมือจะเข้ามาช่วยทันที เพราะขณะนี้เศรษฐกิจอียูก็ชะลอตัว แต่ต้องเจรจาเพื่อเตรียมตัวเอาไว้หากเศรษฐกิจฟื้นแล้วไทยไม่มีเอฟทีเอ แต่ประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามมีเอฟทีเอ จะทำให้สินค้าจากไทยต้องเสียภาษีแพงกว่าเวียดนาม 10-20% ไม่สามารถแข่งขันได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไทยถูกกดดันทางอ้อม

ส่วนปี 2563 ประเมินว่าจะกลับมาขยายตัว 2% โดยหากวิเคราะห์รายกลุ่ม พบว่า น้ำตาลยังคงมีการแข่งขันสูงในตลาดโลก ขณะที่กุ้งไทยติดปัญหาเรื่องผลพวงจากโรคตายด่วน (EMS) ซึ่งภาครัฐต้องส่งเสริมเกษตรกรให้เพิ่มปริมาณการเลี้ยง เพราะตลาดโลกยังมีความต้องการแต่ไทยผลิตลดลง ขณะที่เวียดนามนำเข้าลูกกุ้งจากอินเดียไปผลิตแย่งตลาดไทย เหลือแค่ 2 แสนตัน

“ปัจจัยเรื่องโรคในปศุสัตว์ก็สำคัญ เราสามารถแก้ไขวิกฤตไข้หวัดนกได้ดี การส่งออกไก่ไปได้ เช่นเดียวกับโรคอหิวาต์สุกรเรายังคุมได้ ปลอดภัย ทำให้การส่งออกหมู ไปยังประเทศจีนเติบโต”

ส่วนกลุ่มผักผลไม้ยังเติบโตดี เพราะผักผลไม้ไทยได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้น แต่ไทยจำเป็นต้องพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้เกิดความแตกต่างให้สามารถแข่งขันได้ เพราะเมื่อขายดีคู่แข่งผลิตตาม เช่น เวียดนามเริ่มปลูกทุเรียน มาเลเซียตั้งเป้าพัฒนาทุเรียนมูซังคิงให้ส่งออกมากขึ้น ไทยต้องจดคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อดูแลสายพันธุ์ท้องถิ่น ใช้การตลาดนำการผลิต บูรณาการข้อมูล big data ระหว่างหน่วยงาน และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพื่อช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรด้วย