กฟภ.ก้าวสู่ Digital Utility พลิกโมเดลธุรกิจใหม่ขยายฐานลูกค้า

เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่ปลุกให้ภาคธุรกิจต้องตั้งรับปรับตัวเท่านั้น แม้แต่รัฐวิสาหกิจสำคัญที่ดูแลระบบสาธารณูปโภคอย่างระบบไฟฟ้าก็ต้องออกมาจากเซฟโซน ปรับตัวให้สอดรับกับธุรกิจพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ตลาดไฟฟ้าในประเทศไทยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.-PEA) เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ และมีระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่มีการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ดูแลพื้นที่ กทม.และปริมณฑล และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดููแล 74 จังหวัดทั่วประเทศ แต่เมื่อมองภาพที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน คือ ผู้ใช้ไฟฟ้าก็สามารถเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เอง หากมีไฟฟ้าส่วนเกินก็ขายเข้าระบบได้อีกด้วย นั่นหมายถึงว่าทั้ง 3 กิจการไฟฟ้าต้องเผชิญกับคู่แข่งในตลาด

เน้น 5 เป้าหมายหลักขับเคลื่อน PEA

การปรับโครงสร้างองค์กร (transform) เพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กร “digital utility” หรือการเป็นองค์กรที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการมากขึ้น ที่ กฟภ. ภายใต้การนำของ “สมพงษ์ ปรีเปรม” ผู้ว่าการ กฟภ. กำลังขยับปรับเปลี่ยนในขณะนี้ เพื่อก้าวสู่เป้าหมายในอนาคตอันใกล้จึงน่าจับตาอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งเน้นหัวใจสำคัญ 5 เรื่องหลัก คือ

1) การให้ความสำคัญกับระบบโครงข่ายไฟฟ้า พัฒนาให้เป็นสายส่งอัจฉริยะ (smart grid) เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด (disruption) ทำให้พฤติกรรมของผู้ใช้ไฟสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เอง และส่วนที่เหลือขายเข้าระบบได้ด้วย ฉะนั้นในอนาคตการใช้ประโยชน์จากระบบสายส่งจะพัฒนาให้เป็นระบบ smart grid ที่ไม่ได้จำกัดแค่เพียงจำหน่ายไฟให้ลูกค้าเท่านั้น ยังให้บริการในการ “บริหารระบบ” ซื้อ-ขายไฟฟ้าได้ และยังเปิดโอกาสให้บุคคลที่ 3 (third par-ty access) เข้ามาใช้ระบบสายส่งได้ด้วย

2) เพิ่มแผนกใหม่ คือ การทำตลาด (marketing) และแผนกการขาย (sales) เพื่อให้การบริการลูกค้าได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ตั้งแต่การยื่นขอติดตั้งมิเตอร์ ไปจนถึงการบริการด้านอื่น ๆ ที่จะเป็นธุรกิจใหม่ในอนาคตและพัฒนาให้เป็น one stop service เพื่อให้บริการเบ็ดเสร็จในจุดเดียว

3) พัฒนาคนทำงาน เมื่อปรับโครงสร้างใหม่จะต้องเปลี่ยนวิธีคิด (mindset) และวิธีทำงานของคนในองค์กรให้มีความเป็น “นักขาย” มากขึ้น ปัจจุบัน กฟภ.มีพนักงาน 30,000 คน ซึ่งจะใช้วิธีการเพิ่มทักษะการทำงานที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลมากขึ้น และรับพนักงานใหม่เพิ่มเติมที่มีความเชี่ยวชาญด้าน data engineer และผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (artificial intelligence) เข้ามารองรับธุรกิจใหม่

4) การบริหารองค์กรภายใน กระจายอำนาจบางเรื่องไปยังสาขาที่มีอยู่ทั่วประเทศ เพื่อให้ตัดสินใจได้รวดเร็วมากขึ้น

และ 5) ปรับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เพื่อรองรับการดำเนินการ 4 เรื่องข้างต้น

ยกตัวอย่าง เช่น การพัฒนา platform ใหม่ อย่างแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงข้อมูล และการบริการด้านต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น โดยมีการทำแผนปฏิบัติการ

ดิจิทัลเป็นกรอบการดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบาย digital utility อีกด้วย

กฟภ.นำร่อง Transform

ผู้ว่าการสมพงษ์กล่าวว่า “กฟภ.ถือเป็นรัฐวิสาหกิจแรกที่ประกาศ transform ตัวเองเป็นทางการ เพราะต้องการความคล่องตัว และเปลี่ยนวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่จะขายไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว สำหรับแผนการดำเนินการที่วางไว้ทั้งหมดนี้จะเห็นเป็นรูปเป็นร่างในอีก 5 ปีข้างหน้า รวมถึงบางประเด็นที่ค่อนข้างละเอียดและซับซ้อนนั้น ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ บางอย่างที่เรามองเป็นโอกาส แต่อาจจะเสี่ยงหรืออาจจะไม่คุ้มที่จะทำก็ได้”

ดัน PEA ENCOM หาธุรกิจใหม่

ในปัจจุบัน กฟภ.มีบริษัทในเครือ คือ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ PEA ENCOM ที่วางไว้ให้ไปดำเนินธุรกิจซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าทั้้งในและต่างประเทศ รวมถึงเมื่อนโยบายส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น จึงมอบหมายให้ PEA ENCOM เข้าไปลงทุนด้านพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ รวมไปถึงการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ฯลฯ

นอกจากนี้ ได้เปิดทางให้ PEA ENCOM เป็นหน่วยงานในการหาโอกาสในธุรกิจใหม่ ๆ ให้องค์กร โดยสามารถจัดตั้งบริษัทใหม่เพิ่มอีก 2-3 บริษัท เพื่อทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับไฟฟ้า เช่น สถานีชาร์จไฟฟ้า และเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งจะทำให้ กฟภ.ขยายฐานลูกค้าได้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่ฐานลูกค้า คือ ผู้ใช้ไฟฟ้าแบบครัวเรือนใน 74 จังหวัดทั่วประเทศ กลุ่มผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมและ SMEs เท่านั้น

ตั้ง บ.เฮย์กรุ๊ป ทีี่ปรึกษาโอกาสทางธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตนั้น ทางคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ยังได้อนุมัติให้มีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา คือ บริษัท เฮย์กรุ๊ป จำกัด ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม โดยเฉพาะโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งคาดว่าบริษัทที่ปรึกษาจะดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2563 นี้ หลังจากนั้นจะนำผลศึกษามาหารือในระดับผู้บริหาร รวมไปถึงคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) เพื่อพิจารณาต่อไป

“การศึกษาดังกล่าวข้างต้น บางส่วนได้ถูกระบุไว้ในแผนพัฒนายุทธศาสตร์องค์กร 5 ปี (2562-2567) สำหรับไฟฟ้าถือเป็นการให้บริการขั้นพื้นฐานที่ภาครัฐต้องเข้ามากำกับดูแล หากมองสถานะของ กฟภ.ในปัจจุบันก็ถือเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงมหาดไทย ที่ผูกขาดในการขายไฟฟ้าไปให้ประชาชน เมื่อมีคู่แข่งเกิดขึ้นก็ต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในธุรกิจไฟฟ้าด้วยเช่นกัน เพราะเชื่อมั่นว่าหากไม่ทำ กฟภ.จะกลายเป็นองค์กรที่ตกขบวนในที่สุด” ผู้ว่าการสมพงษ์กล่าว

ความต้องการใช้ไฟฟ้าขยายตัวปีละ 3-4%

สำหรับการคาดการณ์ถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น ผู้ว่าการ กฟภ.ระบุว่า ถึงแม้ว่าจะมีแหล่งพลังงานของโลกที่ถูกค้นพบเพิ่มเติมนั้น แต่การคาดการณ์โดยองค์กรระดับโลกเฮาส์แมคคินซีย์ และอีกหลายองค์กรว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะขยายตัวอยู่ที่ 3-4% ต่อปี ซึ่งแม้แต่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศเองก็จะขยายตัวในระดับเดียวกันอีกด้วย นั่นหมายถึงว่าธุรกิจไฟฟ้ายังคงมีโอกาสสำหรับนักลงทุน
ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ รวมถึงการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้าที่เริ่มเห็นสัญญาณแล้วว่าจำนวนการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตั้งโจทย์หาโอกาสทำธุรกิจ

นายสมพงษ์ยังระบุอีกว่า การเป็นรัฐวิสาหกิจในยุคนี้จะต้อง alert มากขึ้น มองและตั้งคำถามถึงโอกาสที่เป็นไปได้ทางธุรกิจ โดยเฉพาะนโยบายของกระทรวงพลังงานมีทิศทางอย่างไร อย่างเช่น ในอนาคตการผลิตไฟฟ้าจะใช้เชื้อเพลิงประเภทใด ระบบสายส่งที่กระจายอยู่ทั่วประเทศของ กฟภ.นั้นถือว่าได้เปรียบคู่แข่งอยู่แล้ว ฉะนั้น จะสามารถต่อยอดโอกาสอื่น ๆ ทางธุรกิจได้

หรือไม่ การขยายรถไฟฟ้ามีโอกาสให้ กฟภ.เข้าไปทำธุรกิจอะไรได้บ้าง และจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะพัฒนาแอปพลิเคชั่น เพื่อใช้ในการมอนิเตอร์การซื้อ-ขายไฟฟ้าได้หรือไม่ หรือมีความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนวิธีซื้อขายไฟฟ้าได้หรือไม่ และเป็นอย่างไร และหากต้องการลงทุนทำธุรกิจใหม่จะสามารถหาพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุนได้หรือไม่ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นคำถามที่อยู่ระหว่างหาคำตอบ

“หากเปรียบเทียบว่า กฟภ.เป็นเรือ ก็คงเป็นเรือเดินสมุทรที่ใหญ่มาก เพราะมีผู้โดยสารกว่า 30,000 คน หากเดินทางพร้อมกันทีเดียวอาจจะประสบความสำเร็จยากหน่อย จึงจำเป็นต้องมีเรือขนาดเล็ก 2-3 ลำ เพื่อช่วยดูแลไม่ให้เกิดความเสียหาย เพื่อให้เรือเดินสมุทรยังคงแล่นต่อไปได้” นายสมพงษ์กล่าวสรุป