“เอสซีจี เคมิคอลส์” ผงาดเวทีโลก อวดโฉมนวัตกรรมกลางงาน K 2019

SCG at K 2019 Messe Düsseldorf / CCD South Photo: Anke Hesse 17.10.2019

ติดตามคณะเอสซีจีเยี่ยมชมงาน K 2019 ว่าด้วยเทคโนโลยีการผลิตพลาสติกและยางที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถึงดึสเซลดอร์ฟ เยอรมนี บรีฟแรกที่ได้รับจากทีมก็คือ นี่คืองานที่เอสซีจีให้ความสำคัญ ทั้งตัวบูท พื้นที่จัดงาน อินโนเวชั่นจัดแสดงที่เตรียมการเป็นแรมปี รวมถึงโอกาสพบปะคู่ค้าจากทั่วโลก

K 2019 ระหว่างวันที่ 16-23 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา มีบูทแสดงงานต่าง ๆ กว่า 3,300 ราย จากกว่า 60 ประเทศ พื้นที่จัดงานรวมถึง 175,000 ตารางเมตร ในจำนวนนี้มีบูทของเอสซีจีตั้งอยู่ใน hall 6 เป็นครั้งที่ 3 ต่อเนื่องกันที่ได้ประชันกับบรรดายักษ์ ๆ ระดับโลก

SCG at K 2019
Messe Düsseldorf / CCD South
Photo: Anke Hesse
17.10.2019

เนื่องจากเป็นงานที่ว่าด้วยเรื่องนวัตกรรมล้วน ๆ และจัดขึ้นทุก ๆ 3 ปี ใครมีของอะไรที่ไปสุ่มพัฒนากันเอาไว้ ก็เอาออกมาโชว์ มาอวดกัน บวกกับโอกาสพบปะคู่ค้าจากทั่วโลกจึงมีทั้งรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ซีอีโอเอสซีจี, ชลณัฐ ญาณารณพ รองผู้จัดการใหญ่, ธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ และผู้บริหารระดับท็อป ๆ พร้อมหน้า

ปัญหาโลกร้อน ขยะพลาสติกที่ยากต่อการย่อยสลาย มีส่วนสำคัญให้ K 2019 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “พลาสติกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” และ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ซึ่งเป็นประเด็นที่ท้าทาย แม้แต่ตัวเราเองยังสัมผัสได้ถึงผลกระทบดูจากปีนี้ที่ทั้งร้อนมากขึ้น นานขึ้น อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าปกติถึง 2 องศาส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ในเมื่อทิศทางโลกมุ่งไปแนวทางนี้ เอสซีจีต้องพยายามสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว

ต้องยอมรับว่าในบรรดายักษ์ธุรกิจบ้านเราเอสซีจีคือแถวหน้าที่ “ตื่นรู้” เรื่อง “วิจัยและพัฒนา” กว่าใคร ๆ รวมถึงการให้ความสำคัญกับ “เศรษฐกิจหมุนเวียน-circular economy” ผ่าน 3 ขั้นตอน “ผลิต-ใช้-วนกลับ” นอกจากจะลดปริมาณการใช้ทรัพยากร ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สามารถตอบทั้งโจทย์ธุรกิจและความยั่งยืน

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ฉายภาพให้เห็นว่า “ตอนนี้เราเห็นถึงความตื่นตัว การลดปริมาณขยะพลาสติก ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่การรีไซเคิลเพื่อ “วนกลับ” มาใช้ใหม่บ้านเราอาจต้องใช้เวลา เริ่มต้นง่าย ๆ แค่แยกขยะเปียกและแห้ง…หรือกรณีไบโอเคมิคอลที่มาจากพืช และบางฝ่ายมองว่าน่าจะทดแทนปิโตรเคมิคอลนั้น จริง ๆ แล้วแก้ปัญหาหรือไม่ เนื่องจากต้องใช้พืชผลการเกษตรจำนวนมากเป็นวัตถุดิบ ต้องพึ่งพาทรัพยากรน้ำต้องใช้สารเคมี การเผาเพื่อเปิดหน้าดินใหม่ ๆ”

“ในแง่ผู้ผลิตวัตถุดิบอย่างเอสซีจีต้องคิดเยอะ และมองลึกลงไปในรายละเอียดยิ่งกว่า รีไซเคิลได้แค่ไหน รีไซเคิลได้จริงหรือเปล่า”

มุมมองที่ตกผลึกสะท้อนผ่านนวัตกรรมใหม่ ๆ ภายใต้แนวคิด Passion for a Better World ถูกนำมาอวดสายตา ในกลุ่มที่เพิ่มความคงทน ไฮไลต์นำมาจัดแสดง คือ เม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีน จากเทคโนโลยี SMXTM สามารถลดความหนาของชิ้นงาน ทำให้ลดการใช้เม็ดพลาสติก โดยยังคงคุณสมบัติเท่าเดิมหรือมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นวงท่อขนาดใหญ่ ซึ่งทีม R&D ให้ข้อมูลว่าถูกพัฒนาให้มีความแข็งแรงเป็นพิเศษ สำหรับท่อก๊าซ ท่อที่ใช้ในเหมืองที่ต้องทนทานจริง ถังบรรจุสารเคมีขนาดใหญ่ (IBC) ซึ่งมีความแข็งแรง ไม่ฉีกขาด และทนต่อฤทธิ์กัดกร่อน

ส่วนนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การรีไซเคิลหมุนเวียนกลับมาใช้ได้ใหม่ จากที่ผ่านมาบรรจุภัณฑ์พลาสติกต่าง ๆ มองโดยสายตาเป็นเนื้อเดียว แต่จริง ๆ แล้วประกอบด้วยชั้นฟิล์มหลายชั้นซ้อนกันอยู่ ยากต่อการนำไปรีไซเคิล สิ่งที่เอสซีจีพัฒนา คือ พัฒนาให้ชั้นฟิล์มเป็นวัสดุชนิดเดียวกัน (monomaterial packaging) เพื่อให้บรรจุภัณฑ์นำไปรีไซเคิลได้ง่าย

ในงาน K 2019 ครั้งนี้ เอสซีจียังมีโชว์เคสเม็ดพลาสติกคุณสมบัติพิเศษต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียนอีกหลายรายการ กว่าจะเป็นสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์มูลค่าเพิ่ม หรือ HVA ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ รองกรรมผู้จัดการธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อมองจากว่า R&D ของไทยเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ต้องสู้กับบรรดาคู่แข่งขันจากทั่วโลกที่นำหน้าเป็นสิบปี

“เราลงทุนกับเรื่องนี้เยอะ ปีที่แล้วใช้ไปถึง 2,500 ล้าน มีบุคลากรด้าน R&D กว่า 690 คน มีความร่วมมือกับทั่วโลก มีสิทธิบัตรรวมทั้งสิ้นกว่า 1,200 ฉบับ”

นอกเหนือจากนวัตกรรมพลาสติก เอสซีจีไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การขายวัตถุดิบเท่านั้น ยังมีทีมงานที่พร้อมจะร่วมพัฒนาสินค้าและโซลูชั่นใหม่ ๆ ร่วมกับลูกค้า เพื่อให้ได้มาซึ่งนวัตกรรมสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ ตลอด 1 วันเต็ม ๆ ที่เฝ้าสังเกตการณ์ถือว่าเรียกความสนใจจากผู้คนในวงการไม่แพ้บูทของบรรดายักษ์ในอุตสาหกรรมนี้

ในภูมิภาคนี้เอสซีจี เคมิคอลส์ คือแถวหน้า แต่เทียบกับเวทีโลกอาจยังไม่ถึงกับเป็นเบอร์ต้น ๆ แต่ด้วยการนำ R&Dมาเป็นจุดแข็ง พยายามสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ตลาดเช่นเดียวกับการตอบโจทย์โซลูชั่นให้กับคู่ค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายของรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ชัดเจนว่า ต้องการนำพาเอสซีจี เคมิคอลส์ได้รับการยอมรับระดับเวิลด์คลาสในเรื่องอินโนเวชั่นเป็น challenge ที่ “รุ่งโรจน์” มองว่า มีโอกาสเกิดขึ้นในงาน K อีก 2 ครั้ง หรือ 6 ปีข้างหน้า