อียู-จีนแบนนำเข้าไม้รุกป่า จี้รัฐตั้งวาระแห่งชาติรับมือ

ผู้ส่งออกน้ำยาง-ไม้ยางพาราส่อวิกฤต อียู-จีน จ่อประกาศไม่ซื้อ ผู้ผลิตไม้ยางรุกป่าขัดมาตรฐาน FSC นักวิชาการเร่ง 6 แนวทาง บรรจุเป็นวาระแห่งชาติ บูรณาการหน่วยงานสร้างมาตรฐาน กยท.แบ่งรับแบ่งสู้ อีก 10 ปีดันชาวสวนผ่านมาตรฐาน 50%

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากการที่องค์การสหประชาชาติและประเทศผู้ซื้อยางและไม้ยางพาราบีบประเทศผู้ผลิตน้ำยางและไม้ยางพาราต้องผ่านมาตรฐานสากลการจัดการสวนป่าที่ยั่งยืนทั้ง Forest Stewardship Council (FSC) และ Program for the Endorsement of Forest Certification (PEFC) โดยสหภาพยุโรป บริษัท มิชลิน บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านยางรถยนต์ของฝรั่งเศสและเฟอร์นิเจอร์อิเกียของสวีเดน จะไม่ซื้อหากไม่ผ่านมาตรฐานดังกล่าว ในปี 2563 ขณะที่จีนสร้างมาตรฐานเสร็จแล้ว ส่วนไทยผ่านมาตรฐานนี้เพียง 1.22 แสนไร่ หรือ 0.5% จากพื้นที่ปลูกทั้งหมด 20 ล้านไร่

ผศ.ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร หัวหน้าภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า รัฐบาลต้องดำเนินการตาม 6 แนวทางเพื่อตอบโจทย์เร่งด่วน คือ 1.กำหนดเป็นวาระแห่งชาติเร่งพัฒนาศักยภาพการทำสวนยางทั้งระบบให้เป็นไปตามมาตรฐาน 2.กำหนดหรือสร้างองค์กรที่มีภารกิจในการรับมือ เจรจาและสร้างการรับรู้กับผู้เกี่ยวข้อง เช่น การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ มหาวิทยาลัย 3.พัฒนาศักยภาพและสร้างความพร้อมของชาวสวน และผู้ประกอบการ 4.สร้าง forest management standard for Thailand บนพื้นฐานของงานวิจัย ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก FSC หรือ PEFC 5.เร่งวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมจากการจัดการสวนยาง เพื่อรองรับการตรวจมาตรฐานภายใน 1-2 ปีนี้ และ 6. เร่งรัดเพิ่มศักยภาพให้สวนยางไทยผ่านมาตรฐานการรับรองการจัดการป่าไม้ในระดับนานาชาติ

นายณรงศักดิ์ ใจสมุทร ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เขตภาคใต้ตอนบน กล่าวว่า ไทยจะเร่งจัดทำมาตรฐานของไทยที่อิงกับมาตรฐาน FSC และเร่งอบรมเจ้าหน้าที่ กยท. โดยคาดว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า จะสามารถรับรองสวนยางของไทยอิงมาตรฐาน FSC ได้ถึง 50% ของสวนยางที่เปิดกรีดแล้ว หรือประมาณ 10 ล้านไร่