“แม่แจ่ม โมเดล” “สนธิรัตน์” ฝ่าด่านผุดโรงไฟฟ้าชุมชน

โรงไฟฟ้าชุมชนเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนเฟสแรกที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” หมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องเกิดให้ได้ภายใน 3 เดือน ทว่า หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการดำเนินการยังไม่ชัดเจน เพราะยังต้องรอการพิจารณาและผ่านการประชาพิจารณ์อย่างรอบด้าน

ล่าสุด “สนธิรัตน์” นำทัพผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อสำรวจพื้นที่ที่ปักหมุดเป็นโมเดลโรงไฟฟ้าชุมชนแห่งแรกของประเทศ โดยมี กฟผ.เป็นแม่งาน

เอกชนหนุนลงทุน 2 แสนล้าน

นายสนธิรัตน์เปิดเผยถึงเหตุที่เลือก อ.แม่แจ่ม พัฒนาโมเดลแม่แจ่มว่า เพราะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านวัตถุดิบที่จะสามารถใช้ผลิตพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะซังข้าวโพดและเศษวัสดุจากต้นข้าวโพด ปีละ 90,000 ตัน แกลบฟางจากนาข้าว 50,000 ไร่ และขยะแห้งจากชุมชน วันละ 3-4 ตัน ซึ่งมีสหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม จำกัด ผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง และด้วยความเข้มแข็งของชุมชน พร้อมกระจายสายส่งถึงถิ่นทุรกันดาร

ทั้งนี้ ได้คัดเลือกพื้นที่เหมาะสมสำหรับก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน 2 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านบนนา ตำบลช่างเคิ่ง และบ้านแม่นาจร โดยวางกรอบว่าแต่ละโรงจะมีกำลังการผลิต แห่งละ 2-3 เมกะวัตต์ ส่วน กฟผ.จะเป็นผู้ลงทุนรายแรกนำร่อง หลังจากนี้ จะมีการกำหนดรูปแบบและเงื่อนไขให้ชุมชน เอกชน และรัฐร่วมกันลงทุนโดยใช้เวลาศึกษา 10 เดือนนับจากตุลาคม 2562-สิงหาคม 2563

เบื้องต้นโครงการต้องผ่านเงื่อนไข 3 ข้อ ได้แก่ 1.ผู้ประกอบการต้องลงทุนให้ประชาชนก่อน 20 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนถือหุ้นแล้วแต่ศักยภาพของแต่ละพื้นที่ พร้อมมาก สามารถลงทุนได้มาก

2.ต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์ สัญญาประชาคม รวมถึงการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม และ 3.ต้องมีแผนพัฒนาชุมชน เป้าหมายยกระดับความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่นั้น ๆ อย่างชัดเจนและมั่นคง

“ขอให้มั่นใจว่าผมจะให้เอกชนออกให้ชุมชนก่อนสัดส่วน 20% หรือ 20 ล้านบาท ให้ชาวบ้านถือหุ้นร่วมกัน สามารถแบ่งปันผลกำไรได้ด้วย หลังจากนี้ จะเร่งทำรายละเอียดรูปแบบเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง.อีกครั้งภายในเดือนธันวาคมนี้ เพราะมีเอกชนแสดงความสนใจเข้าลงทุนหลายราย คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนในโครงการไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาทในพื้นที่เป้าหมาย 30 จังหวัดทั่วประเทศ”

กฟผ.รับลูกจ่อลงทุน 120 ล้าน

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า โมเดลแม่แจ่มของ กฟผ.เกิดจากความร่วมมือหลายเครือข่ายมองทุกมิติ เริ่มจากการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ทำให้ชาวบ้านมีรายได้และเข้าถึงแหล่งพลังงาน โดยมีสัญญาการันตีรายได้ 25 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ การเลือก 2 พื้นที่นำร่องดังกล่าวจากความพร้อมของชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่ รร.ร้างที่ดินของราชพัสดุ โดยจะใช้ซังข้าวโพดเป็นเชื้อเพลิงแห้ง ไบโอแมส ต้นทุนต่อโรง ประมาณ 100 ล้านบาท ปริมาณ 90,000 ตันต่อปี ป้อนชุมชน2.4 แสนครัวเรือน ใช้โมเดลและเทคโนโลยี biogasification และเทคโนโลยีบวกกับรูปแบบจากเยอรมนี ซึ่งเป็นก๊าซสังเคราะห์ แม้ข้อเสียคือใช้เชื้อเพลิงมาก แต่มีข้อดีในแง่ไม่มีมลพิษ ใช้น้ำน้อย ปล่องควันไม่มี

“กฟผ.จะศึกษา 10 เดือนเพื่อประเมินศักยภาพก่อน ส่วนราคาต้องพิจารณาตามความเหมาะสม ยอมรับว่าอาจต้องยอมจ่ายค่าไฟที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่เพื่อให้ทุกชุมชน รวมถึงถิ่นทุรกันดารเข้าถึงไฟฟ้าอย่างเท่าเทียมน่าจะเป็นประโยชน์ร่วมกัน”

หลากเสียงสะท้อนคนในชุมชน

ด้านนายณัณฐณัชช์ เกิดใหม่ ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอแม่แจ่ม เปิดเผยว่า แม้คนในชุมชนส่วนมากอยากให้มีโรงไฟฟ้าเนื่องจากหลายหมู่บ้านยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ทั้งยังมีปริมาณซังข้าวโพดและขยะจากครัวเรือนนำมาผลิตไฟฟ้าได้ แต่ต้องยอมรับว่าบางส่วนกังวลเรื่องมลพิษ

ขณะที่นายวิจิตร กูลเรือน ประธานสหกรณ์แม่แจ่ม กล่าวว่า สหกรณ์รับซื้อวัตถุดิบและทำเอง มีผลผลิตรวม 1 ล้านตันต่อปี มีรายได้รวม 128 ล้านบาทต่อปี พร้อมสนับสนุนนโยบาย ถามว่าอยากไปลงทุนหรือไม่ต้องหารือเรื่องบริหารจัดการวัตถุดิบ หากต้องป้อนโรงงานไฟฟ้าในส่วนที่เหลืออาจไม่เพียงพอส่งให้กับลูกค้าเดิม เช่น บางฤดูกาลที่เหลือ 40,000 ตัน และขณะนี้งบฯและเครื่องจักรยังไม่เพียงพอ

ด้านนายอุทิศ สมบัติ ประธานมูลนิธิฮักเมืองแจ๋ม กล่าวว่า เห็นด้วยในหลักการและแนวคิดโรงไฟฟ้าชุมชนทั้งหมด เพียงแต่รัฐบาลต้องวางแผนระยะยาว รอบคอบ โดยตั้งคณะทำงานหน่วยงานกลาง และต้องไม่ทำให้ประชาชนเป็นผู้แบกรับภาระ เนื่องจากแม่แจ่มมีประเด็นอ่อนไหวทั้งเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินทำกิน การถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน และพื้นที่ป่าต้นน้ำยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร ดังนั้น หากสร้างโรงไฟฟ้าแล้วชาวบ้านจะได้รับประโยชน์มากน้อยอย่างไร รัฐจะให้ความเชื่อมั่นด้านสิ่งแวดล้อมชุมชนได้หรือไม่ ชาวบ้านยังคงรอคำตอบที่ชัดเจนมากกว่านี้