โรงงานอาหารสัตว์ป่วนหนัก US ขู่ไทยเลิกแบน “ไกลโฟเซต”

แบน 3 สารพิษเคมีเกษตรบานปลาย หลังกระทรวงเกษตรฯสหรัฐทำหนังสือถึง “ประยุทธ์” ขอชะลอการแบน “ไกลโฟเซต” พร้อมขู่กระทบการค้ากากถั่วเหลือง-ข้าวสาลี-กาแฟ-องุ่น-แอปเปิล เพราะมีการใช้ในพืชเหล่านี้ ร้อนถึงสมาคมอาหารสัตว์-น้ำมันถั่วเหลืองเต้น กลัวขาดวัตถุดิบ เสียหายหลายแสนล้าน

การประกาศ “แบน” สารเคมีกำจัดวัชพืชอันตราย “พาราควอต-ไกลโฟเซล-คลอร์ไพริฟอส” ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้กลายเป็นประเด็น “การเมืองระหว่างประเทศ” ไปแล้ว เมื่อกระทรวงเกษตรและการค้าสหรัฐ (Trade and Foreign Affairs) เข้า “แทรกแซง” ด้วยการทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ “ชะลอ” การแบนสารเคมี “ไกลโฟเซต” ออกไปก่อน

ในขณะที่การบริหารจัดการสต๊อกคงเหลือของสารเคมีกำจัดวัชพืชทั้ง 3 ชนิดก็เต็มไปด้วยความสับสน และโยนกันไปมาระหว่างคณะกรรมการวัตถุอันตราย กับกรมวิชาการเกษตร ทั้ง ๆ ที่เหลือเวลาอีกเพียง 1 เดือน (1 ธันวาคม 2562) ก็จะครบกำหนดการห้ามผลิต-นำเข้า-ส่งออก และมีไว้ในครอบครองแล้ว

สหรัฐจุ้นกระทบเกษตรกรไทย

Ted A. Mekinney เลขานุการกระทรวงเกษตรและการค้าสหรัฐ ได้ระบุถึงความกังวลของสหรัฐต่อการ “แบน” สารไกลโฟเซตของคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยกล่าวหาประเทศไทยไม่ยึดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จากการเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ทั้งยังอ้างว่า ไกลโฟเซตเป็นสารเคมีจำกัดศัตรูพืชที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลก และอ้างการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพของคน โดย U.S. Environmental Protection Agency หรือ EPA ว่า ไกลโฟเซตไม่มีส่วนทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายคน

ในขณะที่ Russ Nicely ที่ปรึกษาด้านการเกษตร สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ก็ได้ทำหนังสือถึง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยจะได้รับจากการประกาศแบนไกลโฟเซตไว้ 3 ประการ คือ 1) ต้นทุนการใช้สารเคมีทดแทนของเกษตรกรไทยจะเพิ่มขึ้น 75,000-125,000 เหรียญสหรัฐ

ADVERTISMENT

2) หากยังไม่มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เหมาะสม (ทั้งราคาและประสิทธิภาพในการใช้งาน) ต้นทุนแรงงานในการควบคุมวัชพืชและการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรคาดว่าจะสูงถึง 128,000 ล้านบาท

และ 3) การค้ากากถั่วเหลือง-ข้าวสาลี-กาแฟ-แอปเปิล และองุ่น ระหว่างสหรัฐกับประเทศไทยอาจหยุดชะงักและจะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าเหล่านี้ของไทย คิดเป็นมูลค่า 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ และความเสียหายข้างต้นยังไม่รวมถึงผลกระทบที่อุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย อาทิ ขนมอบ-บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งใช้ข้าวสาลีนำเข้า 100% เป็นวัตถุดิบ จะมีมูลค่าสูงถึง 40,000 ล้านบาท

ADVERTISMENT

ทั้งนี้เป็นที่เข้าใจกันดีว่า ถั่วเหลือง-ข้าวสาลี-กาแฟ-แอปเปิล-องุ่น ใช้ไกลโฟเซตในการกำจัดศัตรูพืช จึงอาจมีการ “ตกค้าง” อยู่ในตัวผลิตภัณฑ์ และการประกาศ “แบน” ของประเทศไทยได้ก่อให้เกิดข้อกังวลที่ว่า ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเหล่านี้จะถูกห้ามนำเข้าตามไปด้วยหรือไม่

เอกชนร้องปลดล็อกส่งออก

นายประกอบ วิวิธจินดา ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า เบื้องต้นจะได้ตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบจากการยกเลิก 3 สารเคมี ส่วนประเด็นที่ว่า หลังวันที่ 1 ธันวาคมที่ห้ามการใช้-นำเข้า-ส่งออก-ผลิต และครอบครองนั้น “กรณีการครอบครองจะต้องแจ้งให้หน่วยงานทราบหรือไม่ ตรงนี้อยู่ในความรับผิดชอบและเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะรับไปดำเนินการต่อ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะเช็กว่าปริมาณสต๊อกที่เหลือเท่าไร อยู่ที่ไหนบ้าง และจะจัดการอย่างไร” นายประกอบกล่าว

ด้าน ดร.วรณิกา นาควัชระ บีดิงเฮาส์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย กล่าวว่า สมาคมยอมรับมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ให้แบนสารเคมีในวันที่ 1 ธันวาคม “แต่ไม่เห็นด้วยในเรื่องการทำลายสต๊อกสารเคมีที่เหลือในประเทศ ประมาณ 40,000 ตัน” ซึ่งทางรัฐบาลระบุว่า “จะให้เป็นภาระหน้าที่ของเอกชนในการเก็บรักษาและทำลาย” เนื่องจากสต๊อกจำนวนนี้ได้กระจายออกไปสู่ร้านค้าและเกษตรกรหมดแล้ว หากจะเรียกเก็บคืนเป็นเรื่องลำบาก และจะต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณ 12,000 ล้านบาท

“สมาคมคาดการณ์ว่า สต๊อก 40,000 ตันอยู่ในมือเกษตรกรประมาณ 10,000 ตัน ร้านค้า 10,000 ตัน และอีก 20,000 ตันเป็นสต๊อกที่เอกชนต้องส่งออก แต่ปัญหาก็คือ ขณะนี้เราส่งออกไม่ได้ เพราะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ (น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์) สั่งการด้วยวาจาโดยไม่มีลายลักษณ์อักษรไปยังกรมวิชาการเกษตร ห้ามไม่ให้สำนักควบคุมวัสดุและปัจจัยการเกษตร ดำเนินการขึ้นทะเบียนรับรองผู้ผลิตในการส่งออกหรือแก้ไขฉลากก็ยังทำไม่ได้เลย ถ้าปลดล็อกให้มีการส่งออกได้ก็จะช่วยลดภาระในการทำลายลงได้ 50% ของสารที่เหลือตกค้างอยู่ ตอนนี้เอกชนเดือดร้อนมาก” ดร.วรณิกากล่าว

ล่าสุดได้สอบถามไปยัง นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯเองก็บอกว่า “ไม่ได้มีนโยบายห้ามส่งออก” ทั้ง ๆ ที่ความจริงประเทศไทยมีทั้งการนำเข้า-ส่งออก และผลิตสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิดนี้ ยกตัวอย่าง ผู้ผลิต ได้แก่ บริษัทเอราวัณ ผลิตพาราควอต และ ป.เคมี ส่วนในกรณีนี้จะมีการฟ้องดำเนินคดีต่อศาลหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของแต่ละบริษัท หรือกลุ่มเกษตรกรจะดำเนินการกันเอง ทางสมาคมไม่มีนโยบายที่จะเป็นผู้ยื่นฟ้องคดี

หวั่นนำเข้ากากถั่วเหลืองไม่ได้

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการค้ากากถั่วเหลือง ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ของประเทศตามหนังสือของกระทรวงเกษตรฯสหรัฐว่า ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลจะมีมาตรการเรื่องการนำเข้าถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองอย่างไร

“จะให้นำเอกสารใดมารับรอง เพียงแต่ระบุว่าแบน ตอนนี้ทุกคนรอความชัดเจนจากรัฐมนตรีว่า แบนแล้วจะทำอย่างไรต่อ”

ปัจจุบันประเทศไทยใช้เมล็ดและกากถั่วเหลืองนำเข้าปีละ 5 ล้านตัน หรือเฉลี่ยเดือนละ 200,000 ตัน ซึ่งหากไทยแบนแล้วห้ามนำเข้าด้วยจะกระทบเพราะไม่มีแหล่งนำเข้าสำรอง

“การประกาศแบนไม่ใช่จุดจบปัญหา แต่เป็นจุดเริ่มต้น คณะกรรมการวัตถุอันตรายประกาศแบนแล้วไม่มีกากถั่วเหลืองนำเข้าจะทำอย่างไร ผมก็รอฟังจากรัฐมนตรีที่ใช้นโยบายนี้”

สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากสมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันรำข้าวระบุว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบความชัดเจนจากภาครัฐว่าจะดำเนินการอย่างไรกับการค้าเมล็ดถั่วเหลืองระหว่างไทย-สหรัฐ ที่ได้รับผลกระทบจากการแบนไกลโฟเซต จะสามารถนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองได้หรือไม่ โดยปกติอุตสาหกรรมนี้ใช้ถั่วเหลืองปีละ 1-2 ล้านตัน ในการผลิตจากสหรัฐ-บราซิล และส่งขายกากถั่วเหลืองให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์

จัดโปรโมชั่นลดล้างสต๊อก

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ออกสำรวจร้านจำหน่ายยากำจัดศัตรูพืชและวัสดุการเกษตรในหลายจังหวัดพบความ “สับสน” ในการดำเนินการครอบครองสต๊อก “พาราควอต-ไกลโฟเซส-คลอร์ไพริฟอส” หลังวันที่ 1 ธันวาคม 2562 จะต้องดำเนินการอย่างไร เพราะติดต่อไปยังตัวแทนจำหน่ายและผู้ผลิตและนำเข้าแล้วก็ยังไม่ได้รับคำตอบ และไม่มีทีท่าจะรับคืนสารเคมีเหล่านี้ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมวิชาการเกษตร ก็ไม่ได้ติดต่อเข้ามาว่า ร้านจำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจะต้องดำเนินการอย่างไร

“ตอนนี้ที่เราทำได้ก็คือ เร่งขายพาราควอต-ไกลโฟเซส-คลอร์ไพริฟอส ออกไปให้ได้มากที่สุด ด้วยการจัดโปรโมชั่นลดราคา อย่างพาราควอตเดิมลิตรละ 180 บาท ตอนนี้ขายแค่ 135-140 บาท ไกลโฟเซต 140 บาท/ลิตร ปัจจุบันขาย 135 บาท/ลิตร และคลอร์ไพริฟอสจากลิตรละ 380 บาท หั่นเหลือแค่ 290 บาท”

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมกลุ่มอาหารวันนี้ (25 ต.ค.) พิจารณาท่าทีของกลุ่มว่าห่วงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการแบน 3 สารเคมี

โดยจะส่งผลสรุปไปยังประธาน ส.อ.ท. เพื่อเป็นการรวบรวมความเห็นจากหลาย ๆ กลุ่มอุตสาหกรรม ก่อนจะออกเป็นท่าทีของ ส.อ.ท.ต่อไป