ใครแบน 3 สารฟ้องหมด! “กลุ่มรักแม่กลอง” ขอศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราว 6 เดือน ก่อนบุกพบบิ๊กตู่หลังลามจนสหรัฐฯตัดสิทธิ GSP
รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (28 ต.ค. 2562) เวลา 11.00 น. นางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง และพวก ได้เดินทางมาทางยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อฟ้อง 3 หน่วยงานหลัก คือ คณะกรรมการวัตถุอันตราย (ที่1) คณะกรรมการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดสตูพืชที่มีความเสี่ยงสูง (ที่2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ที่3)
นางสาวอัญชุลี กล่าวว่า เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา ให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่งหรือมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่1 และที่ 2 ที่ให้ระงับการผลิต การจำหน่าย การนำเข้า ครอบครอง หรือการใช้สารพาราควอต สารไกลโฟเสต และสารคลอร์ไพรีฟอส ให้กลับไปเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 เช่นเดิม
ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรและหรือหน่วยงานในสังกัด กำหนดแผนหรือมาตรการรองรับหรือแก้ไขปัญหาให้เกษตรกร ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยเฉพาะการกำหนดสารทดแทนที่มีราคาใกล้เคียงกันกับสารเคมีทั้ง 3 ที่ถูกแบนไป หรือมีมาตรการอื่นใดที่จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรทั้งประเทศ
ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา ให้ผู้ถูกฟ้องคดี กำหนดแนวทางการบริหารจัดการ 3 สาร ในทางการเกษตรในประเทศไทย เพื่อไม่ให้ก่อผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม หรือตามที่ศาลเห็นสมควร
ขอให้ศาลมีคำสั่งอย่างใดๆ เพื่อกำหนดมาตรการหรือวิธีการอย่างใดๆ เพื่อคุ้มครองเกษตรกรชั่วคราวในการให้ใช้สารเคมีทั้ง 3 ต่อไปก่อน จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด โดยการกำหนดมาตรการอย่างใดๆ ตามที่ศาลเห็นสมควร
“เราต้องการขอให้ศาลพิจารณากรณีเร่งด่วน เพื่อคุ้มครองชั่วคราวให้เรา 6 เดือน เพราะตอนนี้เรามีสารครองครองและใช้อยู่ พอถึงวันที่ 1 ธ.ค.2562 คนที่มีไว้จะถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งหากศาลไม่รับพิจารณาเราก็ต้องร้องไปที่ศาลอุทธรณ์ และจะขอเข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภายหลังวันที่ 5 พ.ย.นี้ เพื่อขอให้ท่านทบทวนและขอความชัดเจน ในการแปลง 3 สารให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งกระทบทั้งเกษตรกร และยังลามไปจนทำให้สหรัฐอเมริกาตัดสิทธิ์ GSP ของไทยสำหรับอาหารแช่แข็ง ซึ่งรัฐบาลจะรับผิดชอบอย่างไร”
สำหรับสารทดแทนที่จะนำมาใช้ ได้มีการเปิดเผยว่าคือ “กลูโฟซิเนต” ซึ่งขณะนี้มีราคาสูงกว่าสารที่ใช้อยู่ 4-5 เท่า หรือมีราคา 2,100 บาท และยังพบว่ามีการผสมของสารเคมีที่ไม่ต่างจากการใช้พาราควอตเลย
อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มเครือข่ายฯ ยังมีข้อมูลที่แม้จริง ทั้งงานด้านวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์ รายงานด้านสารตกค้าง ข้อมูลที่แท้จริงที่ยืนยันได้ว่าสารไม่สามารถติดต่อจากแม่ไปสู่ลูกได้ ผลกระทบที่เกิดในขณะนี้คือ เกษตรกรใช้สารที่มีราคาแพงขึ้น ทั้งหมดถูกพิจารณาจากข้อมูลที่เป็นเท็จ ซึ่งยังเป็นสาเหตุที่ทำมห้สหรัฐตัดสิทธิพิเศษ GSP ต่อไทยไปด้วยแน่นอนว่าจะกระทบต่อการส่งออกอาหารแช่แข็งไทย
และทางกลุ่มเครือข่ายฯ ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพบนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสากรรม และรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่อย่างใด