ส.ป.ก. แจงกรณีรื้อ “สวนส้มธนาธร” จ.เชียงใหม่

จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวการยึดที่ดินแปลงสวนส้ม จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีการครอบครองที่ดิน ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 36/2559 และการนำที่ดินที่ยึดคืนมาดำเนินการตามนโยบายจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนของรัฐบาล ในพื้นที่ ส.ป.ก.

​นายบพิตร อมราภิบาล รองเลขาธิการ ส.ป.ก. เปิดเผยถึง กรณีที่มีการนำเสนอข่าวพร้อมมีการแสดงภาพถ่ายรถแบคโฮ กำลังรื้อถอนต้นส้ม ที่จังหวัดเชียงใหม่ เปรียบเทียบกับภาพสนามกอล์ฟที่จังหวัดนครราชสีมา พร้อมบรรยายว่าพื้นที่ทั้งสองแห่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเหมือนกัน ทำไมไม่รื้อสนามกอล์ฟ แต่มารีบเร่งรื้อถอนต้นส้มของสวนส้มธนาธร ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการทำเกษตรกรรมอยู่แล้ว โดยเสนอข้อมูลว่า ส.ป.ก. จะรื้อถอนต้นส้มทิ้งทั้งหมด จำนวน ๕,๐๐๐ ไร่เศษ เจ้าของสวนส้มขอร้องว่าอย่ารื้อต้นส้มโดยให้เอาไว้จัดให้เกษตรกรทำสวนส้มต่อไป แต่ทาง ส.ป.ก. เชียงใหม่ ไม่ยอมรับฟังจะเดินหน้ารื้อถอนต้นส้มทิ้งทั้งหมดนั้น

“ส.ป.ก. ขอเรียนชี้แจงว่า ภาพถ่ายดังกล่าวนั้น หน่วยทหารช่างจากกรมทหารช่างที่ ๓ ค่ายสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จังหวัดพิษณุโลก กำลัง รื้อถอนต้นส้มและต้นกล้วย (ปลูกแซมกัน) ในบริเวณที่จะจัดทำเป็นแปลงที่อยู่อาศัยและทำกินตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามผังที่ดินที่คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ (คทช. จังหวัดเชียงใหม่) ได้พิจารณาเห็นชอบแล้ว

โซน ๑ ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลสันต้นหมื้อ อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ (ไม่ใช่อำเภอฝางตามที่มีการเสนอข่าว) โดยมีเนื้อที่ที่รื้อถอนเพียง 120 ไร่ จากพื้นที่โซน ๑ ทั้งหมด จำนวน 986 ไร่ จัดที่ดินให้เกษตรกร จำนวน 60 รายๆ ละ ๒ ไร่ คงเหลือพื้นที่เกษตรกรรมแปลงรวมในโซน 1 (แปลงต้นส้ม) จำนวน 711 ไร่ ซึ่งจะอนุญาตให้สหกรณ์การเกษตร ที่จะจัดตั้งขึ้นจากการรวมตัวของเกษตรกรดังกล่าวเข้าทำประโยชน์สวนส้มโดยการทำสัญญาเช่ากับ ส.ป.ก. ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) ได้มอบนโยบายในการจัดที่ดินให้ยังคง การทำประโยชน์เป็นสวนส้มเหมือนเดิม การดำเนินการดังกล่าวข้างต้นนี้ ส.ป.ก. ได้ประชุมหารือและทำความเข้าใจ กับเจ้าของ สวนส้มเดิมรวมถึง บริษัท สวนส้มธนาธร จำกัด เป็นระยะจนเป็นที่เข้าใจแล้ว โดยการดำเนินการปรับพื้นที่ เพื่อจัดทำเป็นแปลงที่อยู่อาศัยและทำกินตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามผังที่ดินดังกล่าวจะดำเนินการ ในแต่ละโซน ได้แก่ โซน 1 – 5 ดังนั้น การนำเสนอข้อมูลว่า ส.ป.ก. จะรื้อถอนต้นส้มทิ้งทั้งหมด จำนวน ๕,๐๐๐ ไร่เศษ และจะจัดที่ดินแปลงโล่งเตียนให้แก่เกษตรกรจึงไม่เป็นความจริง และเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงเป็นอย่างมาก อนึ่ง จุดที่สื่อมวลดังกล่าวแสดงภาพถ่ายอยู่ห่างจากถนนใหญ่ประมาณ ๑ กม. บุคคลภายนอกโดยทั่วไปเข้าถึงได้ยาก และสื่อมวลชนดังกล่าวไม่ได้แจ้งให้ ส.ป.ก. เชียงใหม่ ทราบการเข้าดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าว”

รองเลขาธิการ ส.ป.ก. เผยต่อว่า กรณีที่มีการอ้างว่าเจ้าของสวนร้องว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะได้ทำสวนส้มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 ส.ป.ก. กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินทับที่ดินที่สวนส้มธนาธรที่ทำประโยชน์อยู่ก่อนนั้น “ส.ป.ก. ขอเรียนชี้แจงว่า บริษัท สวนส้มธนาธร จำกัด ทำสวนส้มอยู่ในท้องที่อำเภอแม่อาย และอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยให้ชื่อว่า สวนธนาธร 1 – 9 สำหรับสวนส้มที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ สวนธนาธร 3 – 7 และ 9 (บางส่วน) โดยสวนธนาธร ๑ สวนธนาธร 2 สวนธนาธร 8 (บางส่วน) และสวนธนาธร 9 (บางส่วน) อยู่นอกเขตปฏิรูปที่ดิน และที่ดินส่วนที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินมีความเป็นมา ดังนี้

“ที่ตั้งและความเป็นมาของพื้นที่ที่ยึดคืนส้มมา เดิมอยู่ในเขตป่าไม้ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินในบริเวณดังกล่าว ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ได้มาเพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมาย ดังนั้นบุคคลผู้อ้างการครอบครองที่ดินก่อนมีการประกาศเขตปฏิรูปที่ดินจึงเป็นผู้กระทำความผิดตามกฎหมายป่าไม้ในขณะนั้น และต่อมาเมื่อที่ดินดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ส.ป.ก. และผู้ครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินไม่ยินยอมเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การครอบครองที่ดินของบุคคลดังกล่าวจึงเป็นการครอบครองที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายตลอดมา

ทั้งนี้ เมื่อได้มีการประกาศพื้นที่เป้าหมายเพื่อดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 36/2559 ในบริเวณดังกล่าว บริษัท สวนส้มธนาธร จำกัด ได้ยื่นสำเนาหลักฐานสัญญาการสละสิทธิครอบครองฯ (ซื้อขาย) กับชาวบ้านผู้ครอบครองที่ดินเดิม จำนวน ๑๔๘ ราย และผลการพิจารณา คำร้องปรากฏโดยแจ้งชัดว่าบริษัทดังกล่าวไม่มีหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดินตามกฎหมายกำหนด อีกทั้งไม่มีคุณสมบัติเป็นเกษตรกรที่อาจได้รับการจัดที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจึงได้ดำเนินการตามกระบวนการยึดคืนที่ดินเพื่อนำมาจัดให้แก่เกษตรกรผู้ยากไร้ดังกล่าว ดังนั้น การนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการครอบครองที่ดินของบริษัท สวนส้มธนาธร จำกัด ในรายการดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นการนำเสนอที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงและไม่มีรายละเอียดความเป็นมาที่ถูกต้องตลอดจนเป็นการแสดงความคิดเห็นที่อาจเข้าลักษณะเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ และหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา”

​ในส่วนกรณีของสนามกอล์ฟตามที่เป็นข่าวในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา นั้นดำเนินการ โดยโรงแรมคีรีมายา กอล์ฟ แอนด์ สปา อยู่ในพื้นที่นิคมสร้างตนเองลำตะคอง ซึ่งขยายพื้นที่ทับซ้อนเขตดำเนินการ ปฏิรูปที่ดินโครงการที่จำแนกป่าเขาใหญ่ และออกเป็นเอกสารสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน (โฉนดที่ดิน) ไปแล้ว กรณีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของ ส.ป.ก. ที่จะดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 36/2559 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย