สหรัฐบีบตั้งสหภาพต่างด้าว ตัดจีเอสพีลามนำเข้าเนื้อหมู

REUTERS/Leah Millis
เจรจาต่อรองขอคืน GSP ลามนำเข้าหมู ชี้ข้ออ้างสหรัฐ “ทบทวน” สิทธิ GSP ไทย 2 ประเด็น บังคับตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าว 100% แลกเปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมู ฟันธงใช้ปมสิทธิแรงงานบังหน้า เหตุไม่ใช่เรื่องใหม่สหพันธ์แรงงานสากลกล่าวหาตั้งแต่ 6 ปีก่อน สภาอุตฯ-สภาหอฯ แนะรัฐคิดให้ดีแลกประโยชน์ไทยกับ GSP อาจได้ไม่คุ้มเสีย ดีเดย์ใช้เวที TIFA JC เจรจาต้นปีหน้า

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ออกแถลงการณ์สั่งระงับสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences หรือ GSP) ที่ “ยกเว้น” การเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยเป็นการชั่วคราว จำนวน 573 รายการ และจะมีผลบังคับใช้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า (25 เมษายน 2563) สำหรับรายการที่สหรัฐตัดสิทธิพิเศษ GSP ในปี 2561 สหรัฐนำเข้าจากประเทศไทยคิดเป็นมูลค่า 1,919 ล้านเหรียญ ในจำนวนนี้ปรากฏประเทศไทยส่งออกโดยใช้สิทธิพิเศษ GSP คิดเป็นมูลค่า 1,300 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 39,000 ล้านบาท การถูกระงับสิทธิพิเศษ GSP ครั้งนี้จะมีผลทำให้สินค้านำเข้าจากประเทศไทยต้องเสียภาษีในอัตราเฉลี่ยประมาณ 4.5% จากเดิมที่เสียภาษีเป็น 0%

หวั่นลามนำเข้าหมูสหรัฐ

กรมการค้าต่างประเทศได้ออกแถลงข่าวในวันที่ 28 ตุลาคม ได้ให้ข้อมูลว่า การถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP ในครั้งนี้เป็นผลมาจากการยื่นคำร้องของสมาพันธ์แรงงานและสภาอุตสาหกรรมแรงงานสหรัฐ (American Federation Labor & Congress of Industrial Organization หรือ AFL-CIO) กล่าวหาประเทศไทยไม่มีการคุ้มครองสิทธิแรงงาน (worker rights) ตามมาตรฐานระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของ AFL-CIO และเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ด้วย แต่สหรัฐก็ประกาศตัดสิทธิพิเศษ GSP ที่ให้กับประเทศไทยในที่สุด

ทั้งนี้ การให้สิทธิพิเศษ GSP ของสหรัฐเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2519 เพื่อเปิดโอกาสให้สินค้าจากประเทศที่ได้รับสิทธิสามารถเข้าไปแข่งขันในตลาดสหรัฐได้ (เสียภาษีนำเข้า O%) โดยการให้สิทธิพิเศษนี้ สหรัฐเป็นประเทศผู้ให้ฝ่ายเดียวด้วยการกำหนดเงื่อนไขประเทศที่จะได้รับสิทธิจะต้อง 1) ระดับการพัฒนาประเทศพิจารณาจาก GNP per capita ของ World Bank (ปี 2557 สหรัฐกำหนดไม่เกิน 12,735 เหรียญสหรัฐ) 2) มีการเปิดตลาดสินค้าและบริการอย่างสมเหตุสมผล 3) มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ 4) การคุ้มครองสิทธิแรงงานในระดับที่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ 5) มีการกำหนดนโยบายลงทุนที่ชัดเจนและลดข้อจำกัดทางการค้าของประเทศที่ได้รับสิทธิ และ 6) ต้องให้การสนับสนุนสหรัฐในการต่อต้านการก่อการร้าย

ในกรณีของประเทศไทยมีรายงานข่าวล่าสุดเข้ามาว่า สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ให้เหตุผลของการถูกทบทวนGSP ในครั้งนี้จากเหตุผล (Ongoing Country Reviews : October 2019) 2 ประการ คือ การเปิดตลาด (market access) กรณีไทยไม่เปิดให้นำเข้าหมูจากสหรัฐ กับประเด็นสิทธิแรงงาน (worker rights) เฉพาะประเด็นแรก การไม่เปิดให้มีการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐคาดว่า จะเป็นเรื่องที่ USTR จะหยิบยกขึ้นมาต่อรองกับประเทศไทยต่อจากเรื่องของสิทธิแรงงานแน่นอน

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตจากผู้เกี่ยวข้องในการเจรจาการค้าว่า AFL-CIO ได้ยื่นคำร้องกล่าวหาประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2556 และ 2558 ซึ่งอยู่ในช่วงการดำรงตำแหน่งของอดีตประธานาธิบดีโอบามา แต่สหรัฐไม่เคยหยิบยกข้อกล่าวหาของ AFL-CIO มาตัดสิทธิพิเศษ GSP ไทยเลย จนกระทั่งเวลาผ่านไปถึง 6 ปี ประธานาธิบดีทรัมป์กลับหยิบยกข้อหานี้มาเล่นงานประเทศไทย

เส้นตาย 6 เดือน

ด้าน จิลเลียน บอนนาร์โดซ์ โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันไทยเป็น 1 ในประเทศที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากสิทธิพิเศษ GSP ของสหรัฐ การประกาศระงับสิทธิชั่วคราวในครั้งนี้เป็นผลมาจากการพิจารณาทบทวนประเด็นสิทธิแรงงาน เป็นระยะเวลา 6 ปีจนเสร็จสิ้น และสหรัฐพบว่า ใน 6 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขเพื่อให้เกิดสิทธิแรงงานตามหลักสากลในหลายด้าน อาทิ การคุ้มครองเสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาต่อรองร่วม ซึ่งในเงื่อนไขของการได้รับสิทธิพิเศษ GSP สหรัฐถือเป็นคุณสมบัติสำคัญตามเกณฑ์ที่ประเทศขอรับสิทธิจำเป็นต้องมี

“รัฐบาลไทยยังคงมีเวลาแก้ไขข้อกังวลเหล่านี้ เนื่องจากการเพิกถอนสิทธิยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะถึงวันที่ 25 เมษายน 2563 เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะดำเนินการด้านกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิแรงงาน อันเป็นสาเหตุของการทบทวนดังกล่าว ซึ่งอาจนำไปสู่การพิจารณาปรับเปลี่ยนการเพิกถอนสิทธิ GSP ที่สหรัฐได้ดำเนินการไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา” โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐกล่าว

ขอตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าว

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานประเด็นข้อกล่าวหาของ AFL-CIO ที่ว่า ประเทศไทยยังไม่มีการคุ้มครองสิทธิแรงงาน (worker rights) ตามมาตรฐานระหว่างประเทศจะเกี่ยวข้องกับเรื่องสำคัญ 2 เรื่องที่สหรัฐได้เรียกร้องมาโดยตลอด คือ อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว (Freedom of Association and Protection of the Right to Organise) กับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง ซึ่งเป็น 2 ใน 8 ของอนุสัญญาหลักของ ILO ที่ถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกประเทศจะต้องมี โดย ILO ได้จับตาอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้เป็นพิเศษ เนื่องจาก 2 อนุสัญญาดังกล่าวจะเป็นเหมือนด่านแรกที่ทำให้คนทำงานเข้าถึงสิทธิอื่น ๆ ได้ “ประเด็นข้อกังวลของฝ่ายไทยก็คือ การตั้งสหภาพแรงงานของคนต่างด้าวและการเจรจาต่อรองของแรงงานต่างด้าวที่จะมีสิทธิเหนือกว่าแรงงานไทยต้องบังคับใช้ได้จริง ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ฝ่ายไทยไม่สามารถยอมรับได้มาโดยตลอด และพยายามที่จะแก้ไขกฎหมายให้มีผลกระทบต่อสิทธิแรงงานไทยและนายจ้างไทยให้น้อยที่สุด แต่จะทำตามข้อเรียกร้องของสหรัฐทั้ง 100% คงเป็นไปได้ยาก”

ขณะที่ นายสมบูรณ์ ตรัยศิลานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงแรงงานได้มีการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 ที่ประเทศไทยกำลังเตรียมที่จะรับรองนั้น ได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 โดยในส่วนของ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้ผ่านที่ประชุม ครม.แล้ว และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ภายหลังจากรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างทั้ง 4 ภาค ปรากฏนายจ้างและลูกจ้างกว่า 92% ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็นที่ให้แรงงานต่างด้าวสามารถตั้งสหภาพแรงงานได้ แต่ได้มีการรับรองให้แรงงานต่างด้าวสามารถเข้าเป็นคณะกรรมการสหภาพแรงงานได้ 1 ใน 5 ทั้งให้ผู้รับเหมา ซับคอนแทร็กต์ต่าง ๆ เข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้

ส่วนนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการแรงงาน/พัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า การแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ปี 2518 ของกระทรวงแรงงานในขณะนี้ “อาจจะไม่ตอบโจทย์สหรัฐทั้ง 100%” เพราะเป็นการปรับแก้ตามมาตรฐานแรงงานสากล ซึ่งเดิมกฎหมายไทยอนุญาตให้ตั้งสหภาพแรงงานได้ แต่ต้องเป็นคนไทยทั้งหมด แต่ฉบับใหม่ได้อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวสามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพได้ส่วนหนึ่ง “เราไม่ยอมให้ต่างด้าวตั้งสหภาพแรงงานได้เอง 100% เพราะจะกระทบความมั่นคง ถ้าถามความเห็นผม การเจรจาแลกเปลี่ยนเรื่องอื่นกับการขอคืน GSP นั้นไม่คุ้ม”

สอดคล้องกับ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า การตัด GSP กระทบต่ออุตสาหกรรมบางประเภท ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการแข่งขัน แล้วคิดเป็นความเสียหายแค่ 4-5% แต่การแข็งค่าของเงินบาทกว่า 10% กระทบทุกอุตสาหกรรมมากกว่า “ไทยไม่ควรต้องเจรจาแลกเปลี่ยนอะไร เพราะปัจจุบันไทยมีการใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมาก และมีกฎหมายแรงงานมีการให้สวัสดิการต่อแรงงานต่างด้าวในระดับที่ดีเทียบเคียงกันเกือบทั้งหมด เราไม่จำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎหมายแรงงานและการตั้งสหภาพแรงงานไทยสามารถตั้งได้อยู่แล้ว ผมขอถามว่า ที่สหรัฐมีกฎหมายให้แรงงานต่างด้าวตั้งสหภาพได้หรือไม่”

ใช้เวที TIFA JC เจรจา

สำหรับการเปิดการเจรจากับ USTR ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ก่อนที่สหรัฐจะระงับการให้สิทธิพิเศษ GSP เป็นการชั่วคราวที่ให้กับประเทศไทยนั้น ล่าสุด ครม.ได้มอบหมายให้ 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ-กระทรวงแรงงาน-กระทรวงพาณิชย์ กลับไปหาช่องทางในการยื่นหนังสือให้สหรัฐทบทวนการต่ออายุสิทธิพิเศษ GSP ในขณะที่สำนักงานทูตพาณิชย์ไทย ณ วอชิงตัน แจ้งเข้ามาว่า สหรัฐเสนอให้ใช้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐ หรือ TIFA JC ในการหยิบยกเรื่อง GSP ขึ้นมาหารือ โดยสหรัฐจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุม TIFA JC ในปี 2563

“ทางสหรัฐเองได้แสดงท่าทีอย่างเปิดเผยว่า พร้อมที่จะเจรจากับเรา แน่นอนว่าการเจรจามันไม่ใช่มีแต่เรื่องสิทธิแรงงานเพียงอย่างเดียว แต่จะมีประเด็นแฝงอื่น ๆ อาทิ เรื่องการเปิดตลาดเนื้อหมูให้สหรัฐ เรื่องสินค้าเกษตรของสหรัฐที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ไกลโฟเซต ไม่สามารถส่งมาไทยได้ โดยสหรัฐจะใช้เรื่องสิทธิแรงงานมาเป็นข้ออ้างในการเจรจากับไทย ซึ่งไทยจะต้องพิจารณาให้รอบคอบในเรื่องที่สหรัฐขอมา บางเรื่องเสียน้อยเสียมาก บางเรื่องเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก” แหล่งข่าวผู้เกี่ยวข้องในการเจรจากล่าว

ค้านไม่เอาหมูแลก GSP


ด้านนายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐนำเรื่องการเปิดตลาดเนื้อหมูมาใช้เป็นเหตุผลในการพิจารณา “ทบทวน” สิทธิพิเศษ GSP ที่ให้กับไทยนั้น ไม่ควรนำมาใช้เป็นข้อแลกเปลี่ยนในการเจรจา เนื่องจากหมูสหรัฐใช้ “สารเร่งเนื้อแดง” ซึ่งตามกฎหมายของกระทรวงเกษตรฯไทยไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าหมูสหรัฐที่ใช้สารเร่งเนื้อแดง หากจะเปิดตลาดก็ต้องแก้ไขกฎหมาย และสหรัฐไม่ควรเข้ามาก้าวก่ายกฎหมายภายในของไทย อีกทั้งหากไทยเปิดตลาดเนื้อหมูให้สหรัฐ จะทำให้หมูสหรัฐที่มีต้นทุนต่ำกว่าไทยครึ่งหนึ่ง หรือ กก.ละ 30 บาท เข้ามาแข่งกับหมูไทยที่มีต้นทุน กก.ละ 60 บาท ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร 200,00 ราย “จึงเป็นเรื่องที่สมาคมยอมไม่ได้เด็ดขาด”