เปิดแผนน้ำรองรับ EEC 10 ปีแรกฉลุย 10 ปีหลังรอลุ้นสตึงมนัม

ความไม่ชอบมาพากลในโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนพลังน้ำสตึงมนัม ในประเด็นการ “ปกปิด” ค่าไฟฟ้า บวกค่าน้ำ ซึ่งแพงมหาศาลถึงหน่วยละ 10.75 บาท ตามที่กระทรวงพลังงานอ้างไว้ในวาระการเสนอขอความเห็นชอบโครงการต่อที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ว่า จะได้รับน้ำเข้ามาใช้ในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) แบบฟรี ๆ โดย “ไม่มีการคิดค่าน้ำ” จน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องสั่งให้ “ทบทวน” บันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการสตึงมนัม (Tariff MOU) ระหว่างบริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้พัฒนาโครงการฝ่ายไทย กับบริษัท Steung Meteuk Hydropower ผู้ได้รับสิทธิฝ่ายกัมพูชาออกไปก่อนหน้า

พร้อมกับสั่งให้กรมชลประทานกลับไปศึกษาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC อย่างละเอียด เพื่อตอบคำถามที่ว่า การผันน้ำจากโครงการสตึงมนัมจำนวน 300 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี โดยพ่วงจ่ายค่าไฟฟ้าสูงสุดถึงหน่วยละ 10.75 บาท เพื่อนำน้ำมาใช้ให้พอเพียงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่ EEC ยังมีความจำเป็นอีกหรือไม่ โดยแลกกับการลงทุนในโครงการนี้ในมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท (โรงไฟฟ้าพร้อมเขื่อน 9,554 ล้านบาท-ระบบท่อผันน้ำเข้ามาฝั่งไทยประมาณ 40,000 ล้านบาท)

สภาพน้ำในภาคตะวันออก

กรมชลประทานได้รายงานศักยภาพน้ำต้นทุน (supply side) ในพื้นที่ 5 จังหวัดในภาคตะวันออก ปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำรวม 34 แห่ง ปริมาณเก็บกัก 1,798.84 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 1,990 ล้าน ลบ.ม.

มีระบบผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิต-อ่างเก็บน้ำบางพระอีก 70 ล้าน ลบ.ม. รวมเป็น 2,060 ล้านบาท แต่ ณ วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกันแค่ 556.5 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 64.8%

ในขณะที่ประมาณความต้องการใช้น้ำ (demand side) ใน 5 จังหวัดภาคตะวันออก พบว่าปัจจุบันมีความต้องการใช้น้ำ 1,466.80 ล้าน ลบ.ม.

เฉพาะ 3 จังหวัด EEC พบว่าปัจจุบันจังหวัดระยองมีความต้องการใช้น้ำสูงสุดรวม 671.30 ล้าน ลบ.ม. จังหวัดฉะเชิงเทรามีความต้องการใช้น้ำสูงสุดรวม 318.9 ล้าน ลบ.ม. และจังหวัดชลบุรี มีความต้องการใช้น้ำสูงสุดรวม 305 ล้าน ลบ.ม.

พร้อมกับคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำในภาคตะวันออกในอีก 10 ปีข้างหน้า (2570) จะมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 2,643.89 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 180.25% รวมเป็น 4,110.69 ล้าน ลบ.ม.

20 ปี EEC ต้องการน้ำ 1,000 ล้าน ลบ.ม.

ล่าสุด กรมชลประทานได้ประเมินสถานการณ์ความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค กับภาคอุตสาหกรรม ในกรณีการเกิดขึ้นมาของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในอีก 20 ปีข้างหน้า (2580) พบว่า จะมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 1,000 ล้าน ลบ.ม. แต่ถ้าพิจารณาระยะสั้นกว่านั้น คือในอีก 10 ปีข้างหน้า (2570) จะมีความต้องการใช้น้ำประมาณ 500 ล้าน ลบ.ม.

จากปัจจุบันที่มีการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำดอกกราย-อ่างหนองปลาไหล-อ่างหนองค้อ, ระบบท่อส่งน้ำบางปะกง-บางพระ 30 ล้าน ลบ.ม., ระบบท่อส่งน้ำคลองใหญ่-หนองปลาไหล 20 ล้าน ลบ.ม., ระบบท่อส่งน้ำประแสร์-คลองใหญ่ 50 ล้าน ลบ.ม., ระบบท่อส่งน้ำพระองค์-บางพระ 70 ล้าน ลบ.ม. พร้อมกับทำการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำประแสร์ 47 ล้าน ลบ.ม., อ่างเก็บน้ำดอกกราย 10 ล้าน ลบ.ม. และระบบสูบน้ำพานทองอีก 30 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ส่งผลให้มีการจัดสรรน้ำเกินกว่าความต้องการใช้น้ำในปี 2560 ประมาณ 102 ล้าน ลบ.ม. (ความต้องการใช้น้ำในปี 2560 325 ล้าน ลบ.ม. ความสามารถในการจัดหาน้ำได้ 427 ล้าน ลบ.ม.)

อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างปี 2561-2570 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC ความต้องการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมกับการอุปโภคบริโภคที่จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 500 ล้าน ลบ.ม.นั้น กรมชลประทานได้เตรียมแผนด้วยการ 1) ปี 2561 เพิ่มความจุอ่างคลองใหญ่ 10 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มความจุอ่างหนองปลาไหล 24 ล้าน ลบ.ม. และระบบสูบกลับอ่างหนองปลาไหล 5 ล้าน ลบ.ม. 2) ปี 2563 เพิ่มความจุอ่างสียัด/หนองค้อ/บ้านบึง-มาบประชัน 50 ล้าน ลบ.ม. ระบบสูบกลับคลองสะพาน-ประแสร์ 10 ล้าน ลบ.ม. และปรับปรุงคลองพานทอง 20 ล้าน ลบ.ม. 3) ปี 2565 ผันน้ำจากวังโตนด-ประแสร์ 100 ล้าน ลบ.ม. ระบบท่อประแสร์-บางพระ 40 ล้าน ลบ.ม. และ 4) ปี 2566 บ่อดิน 30 ล้าน ลบ.ม. กับสระทับมา 47 ล้าน ลบ.ม.

แต่หลังจากปี 2570 ไปจนถึงปี 2579 หรืออีก 10 ปีถัดมา ปริมาณความต้องการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และภาคอุตสาหกรรม ใน EEC ที่คาดว่า จะเพิ่มขึ้นมาอีกประมาณ 300 ล้าน ลบ.ม.นั้น ในขณะนี้กรมชลประทานยังประเมินเป็นแผนระยะยาวอยู่ โดยวางแนวทางเอาไว้คร่าว ๆ คือ ใช้วิธีบริหารจัดการความต้องการใช้น้ำ (3 R) หรือการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลเข้ามาเสริม ซึ่งเทคโนโลยีในอีก 20 ปีข้างหน้าอาจจะทำให้ต้นทุนผลิตน้ำจืดถูกลงกว่าปัจจุบัน (ตกหน่วยละ 20 กว่าบาท) และทางเลือกสุดท้ายก็คือ ปัดฝุ่นการผันน้ำจาก แม่น้ำสตึงมนัมฝั่งกัมพูชาเข้ามายังฝั่งไทยอีกครั้ง

TDRI ติงแผน EEC ไม่ชัดเจน

ด้าน รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้กล่าวในงานสัมมนาภาพอนาคตปี 2035 ที่ดิน พลังงาน และน้ำในประเทศไทย ในหัวข้อ “อุปสงค์การใช้น้ำในประเทศไทย” ว่า สิ่งที่ควรตั้งคำถามกับนโยบายพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ก็คือ ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับแผนการลงทุนในอีก 20 ปีข้างหน้าว่า อุตสาหกรรมจะเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง และมีจำนวนเท่าไร ส่งผลให้การประเมินด้านสาธารณูปโภคไม่ชัดเจนตามไปด้วย นับเป็นความเสี่ยงต่อการลงทุน

“อุปสงค์การใช้น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกมีฝนตกมาก แต่มีศักยภาพเก็บน้ำได้เพียง 12% ขณะที่ความต้องการใช้น้ำโตขึ้น 6-7% ต่อปี ในอนาคตอาจเกิดภาวะขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงและแย่งชิงระหว่างภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะพื้นที่ EEC ที่คาดการณ์ไว้ว่าจะต้องเพิ่มปริมาณน้ำให้ได้ 600 ล้าน ลบ.ม. รัฐต้องกลับมาทบทวนว่า โครงการก่อสร้างมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดและจะเพียงพอทั้งภาคอุตสาหกรรมและการเกษตรหรือไม่ แม้กรมชลประทานเองจะออกมาระบุว่าสามารถจัดหาแหล่งน้ำในประเทศโดยไม่รุกล้ำป่าอนุรักษ์ได้ 300 ล้าน ลบ.ม. แต่อีก 300 ล้าน ลบ.ม.ที่เหลือต้องศึกษาด้วยว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องซื้อน้ำจากต่างประเทศ โดยหากพบการพัฒนาใน EEC ไม่เกินขีดความสามารถที่ตั้งไว้ก็ไม่จำเป็นต้องผันน้ำจากเขื่อนสตึงมนัม” รศ.ดร.นิพนธ์กล่าว