เริ่มแล้ว! ประชุมเศรษฐกิจอาเซียน ‘จุรินทร์’ นั่งปธ.AEC Council ถกความคืบหน้า 13 ประเด็นก่อนสรุปเสนอผู้นำ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวระหว่างการเป็นประธานการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 18 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ว่า การประชุม AEC Council ครั้งนี้ จะมีการรายงานให้ทราบถึงผลความคืบหน้าในการหารือกรอบประชุมต่างๆ ครั้งสุดท้าย เพื่อสรุปผลและข้อหารือต่างๆให้ตรงกันก่อนที่จะนำผลสรุปเข้าสู่ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนซึ่งจะมีนายกรัฐมนตรีประเทศไทยเป็นประธานที่ประชุม และพร้อมส่งไม้ต่อให้กับประเทศวียดนามที่จะเป็นเจ้าภาพในการประชุมครั้งต่อไป

สำหรับผลการหารือในการประชุมเศรษฐกิจอาเซียน ประเทศไทยให้ความสำคัญและได้ตั้งเป้าหมายในการที่จะผลักดันใน 3 ประเด็นสำคัญ 1.การเตรียมการรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 2. การเชื่อมโยงเศรษฐกิจอาเซียน และ 3. การเดินหน้าประชาคมอาเซียนไปสู่ความยั่งยืน โดยที่ผ่านมาได้มีการหารือและร่วมกันผลักดัน โดยมีความคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะใน 13 ประเด็นหลักภายใต้เป้าหมายที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ เช่น

1 .แผนงานด้านดิจิตอลของอาเซียน

2 .แผนงานในการส่งเสริมนวัตกรรมอาเซียน

3 .การเตรียมการสำหรับการพัฒนาแรงงานเพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 คือเรื่องของการใช้แรงงานพัฒนาแรงงานคนเพื่อรองรับการใช้เครื่องจักรการใช้นวัตกรรมใหม่ในการผลิต

4.การเดินหน้าไปสู่อุตสาหกรรม 4.0

5 .การเตรียมการที่จะนำ SME ไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอล เช่น การค้าออนไลน์ เป็นต้น

6 .การดำเนินการในเรื่อง ASEAN Single Window การนำเข้าส่งออกระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกันที่ต้องมี อำนวยความสะดวกโดยใช้ระบบอิเล็คทรอนิกส์ และไม่ซ้ำซ้อนทำให้การส่งออกระหว่างการคล่องตัวยิ่งขึ้น

7.เรื่องการผลักดันให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นค้าขายระหว่างกันในกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้วอย่างน้อยสามคู่ คือ ระหว่างไทยฟิลิปปินส์ ระหว่างไทยอินโดนีเซีย และระหว่างไทยกับมาเลเซีย ภายใต้ความร่วมมือของแบงค์ชาติของเรากับธนาคารพาณิชย์ของสามประเทศ

8.ก็คือการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในระบบที่เรียกว่า PPP

9 .การร่วมมือกันระหว่างอาเซียนในการส่งเสริม การท่องเที่ยวเชิงอาหาร คือ การใช้อาหารส่งเสริมการท่องเที่ยว

10 .คือการแสดงเจตจำนงค์ร่วมกันผลักดันให้ RCEP ซึ่งอาเซียนเป็นศูนย์กลางของ RCEPจบภายในสิ้นปีนี้

11 .ในเรื่องของการผลักดันเครือข่าย IUU ของอาเซียน คือ การทำประมงอาเซียนที่มุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างความยั่งยืน

12 .เรื่องการส่งเสริมตลาดทุนของอาเซียนในประเทศต่างๆเพื่อเมื่อจะรับบริษัทเข้าไปจดทะเบียนโดยคำนึงถึงเป้าหมายของบริษัทนั้นนั้นที่มุ่งเน้นความยังยืนเช่น สิ่งแวดล้อมเป็นต้น

13 .ประเด็นสุดท้าย คือ การผลักดันให้มีการลงนาม ศูนย์พลังงานอาเซียนระหว่าง มหาวิทยาลัยต่างๆในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยกรอบแผนและแนวทางการผลักดันทั้งหมดนี้ที่ประเทศไทยให้ความสำคัญในการผลักดัน เชื่อว่าในสิ้นปี 2562 นี้จะผลักดันประสบผลสำเร็จได้

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า วันนี้ (31 ต.ค. 62) มีการลงนามในพิธีสารกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ซึ่งเป็นการปรับปรุงกลไกระงับข้อผิดพลาดที่ใช้มา 10 กว่าปี ตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งการปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาทครั้งนี้ จะทำให้เกิดความชัดเจนในขั้นตอนกระบวนการต่างๆเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างสมาชิกอาเซียน จะสามารถระบุชัดเจนได้ว่าในเรื่องขั้นตอนระยะเวลาฟ้องร้อง ใช้ระยะเวลากี่วันการพิจารณาคดีจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นในช่วงระยะเวลาเท่าไร อย่างไร และมีการเพิ่มกลไกทางเลือกให้คู่พิพาทเลือกได้

อีกทั้ง การพิจารณาอาจไม่ต้องไปสู่คณะลูกขุนได้ แต่ใช้อนุญาโตตุลาการได้ เป็นต้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้สำนักเลขาธิการอาเซียนสามารถให้คำปรึกษาด้านกฎหมายกับผู้พิพาทรวมทั้งประเทศที่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความสนับสนุนช่วยเหลือ เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมา ก็จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษในเรื่องข้อกฎหมายแนวทางการปฏิบัติต่างๆนี่คือพิธีสารที่จะมีการลงนามในเรื่องของกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียนหลักใหญ่จะล้อกับหลักการของ WTO ที่ใช้กัน