เจรจาโค้งสุดท้ายปี”62 เร่ง FTA อียู-RCEP รับ ศก.โลกแผ่ว

ผลพวงเศรษฐกิจโลกอ่อนแอ เป็นแรงผลักให้หลายประเทศหันมาเร่งเครื่องนโยบายการเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อสร้างแต้มต่อและสร้างโอกาสทางการค้ามากขึ้น

ไทยก็จำเป็นต้องเร่งเครื่องการเจรจาความตกลงการค้าระหว่างประเทศ 2 ฉบับสำคัญ ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2562 คือ การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เพื่อให้ได้ข้อสรุปและประกาศความสำเร็จในการประชุมระดับสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit 2019) ในเดือนพ.ย.นี้ พร้อมทั้งเร่งสานต่อความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป (อียู) หลังจากชะงักงันมา 6 ปี นับจากปี 2556

เดินหน้าประชาพิจารณ์

โดยการเตรียมพร้อม เรื่อง FTA ไทย-อียูนั้นถือว่ามีความคืบหน้าอย่างมาก นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เดินหน้าจัดสัมมนาสัญจรไปส่วนภูมิภาค 5 ภาค เพื่อรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เริ่มจากเมื่อเดือนตุลาคม ทยอยจัดที่ จ.ชลบุรี เชียงใหม่ และล่าสุดจัดขึ้นที่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยยังเหลือการจัดสัมมนาอีก 2 ครั้ง ที่ จ.ขอนแก่น วันที่ 7 พ.ย.นี้ 2562 และปิดท้ายที่กรุงเทพฯ ในเดือนเดียวกัน จากนั้นจะสรุปผลการศึกษาเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

เหตุผลสำคัญที่ไทยต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับความตกลงฉบับนี้ ทั้งที่เศรษฐกิจอียูก็อ่อนแรงจากสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ และยังมีประเด็นความไม่ชัดเจนของการแยกตัวของอังกฤษจากอียู (Brexit) มีผลให้การส่งออกไทยไปอียูในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีมูลค่า 16,196 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 6.6% คิดเป็นสัดส่วน 8.7% ของการส่งออก

แต่อีกมุมหนึ่งสะท้อนว่าไทยเริ่มสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน หลังจากสูญเสียสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) อียูไปเมื่อหลายปีก่อน ขณะที่คู่แข่งโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวียดนาม ได้บรรลุความตกลงเอฟทีเออียู-เวียดนาม หรือ EVFTA แล้ว ดังนั้น การคิกออฟเอฟทีเอไทย-อียูฉบับนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญต่ออนาคตส่งออกไทย

มุ่งเจรจาเปิดตลาดสินค้าภาษีสูง

นายทวีชัย เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า ไทยต้องเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะกรอบเจรจาการค้าสินค้ากับอียู มุ่งเน้นการลดภาษีสินค้านำเข้า หรือโควตาการนำเข้าในสินค้าประเภทที่ไทยต้องเสียภาษีนำเข้าสูง เช่น ผลไม้ อาหาร ปลาทูน่า ยานยนต์สำหรับขนส่งของ เป็นต้น รวมถึงมาตรการการนำเข้า-ส่งออกสินค้าที่เป็นมาตรการที่อียูให้ความสำคัญในเรื่องของสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย ความปลอดภัย เป็นต้น การเปิดเสรีด้านการให้บริการ โดยเฉพาะในกลุ่มบริการด้านสิ่งแวดล้อม บริการไปรษณีย์และจัดส่งสินค้า บริการการเงินและประกันภัย และขนส่งทางทะเล บริการโทรคมนาคม เป็นต้น เนื่องจากอียูมีความเชี่ยวชาญมาก

“อียูเจรจาเอฟทีเอไปแล้วกับเวียดนาม สิงคโปร์ เมอร์โกซูร์ บางประเทศเริ่มมีผลบังคับใช้ไปแล้ว ซึ่งผลการเจรจาดังกล่าวจะเป็นตัวอย่างสำคัญที่ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือว่าเมื่อเปิดการเจรจาแล้วจะมีหัวข้อใดบ้าง ไทยจะสามารถเปิดตลาดหรือต้องแก้ไขเงื่อนไขใดบ้างให้เป็นการแลกเปลี่ยน ส่วนเรื่องสิทธิบัตรยอมรับว่าเป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสำคัญ ทางสถาบันอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลด้านมูลค่าที่ประเทศไทยอาจจะได้รับผลกระทบในเรื่องนี้”

สอดคล้องกับมุมมองภาคเอกชน ซึ่ง นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนและภาคประชาชนต้องเตรียมความพร้อมรับมือการค้าจะมีเสรีมากขึ้น ทางหอการค้าไทยอยู่ระหว่างจัดทำโครงการ 1 หอการค้า 1 สหกรณ์ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า เอกชนให้ความสำคัญกับการเดินหน้าเอฟทีเอนี้อย่างเต็มที่ เพราะสินค้ากลุ่มอาหาร ผลไม้ ส่งออกไปอียูและสร้างมูลค่าการค้าให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก

“เป็นเรื่องที่ดีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเดินหน้าผลักดันเรื่องนี้ แต่ควรเตรียมมาตรการเกี่ยวกับประเด็นที่ไทยอาจเสียประโยชน์อย่างเรื่องการเข้าถึงยา”