ค้าภายในผนึกคณะบัญชี จุฬาฯ วิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนราคายา พบโขกราคาสูงเกินจริง เตรียมขยายผลต่อไป

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ร่วมกับคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนยา ที่โรงพยาบาลเอกชนได้ยื่นราคาซื้อ-ขายมาให้กับกรมฯ ก่อนหน้านี้ พบว่า มีการคิดราคายาที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีบริษัทในเครือ ทั้งๆ ที่มีอำนาจในการต่อรองสูงกว่า ต้นทุนในการซื้อยาถูกกว่า แต่ขายในราคาที่แพงกว่าโรงพยาบาลแบบเดี่ยวและแบบมูลนิธิ ที่มีอำนาจต่อรองต่ำ และซื้อยาได้ในต้นทุนที่สูงกว่า แต่ก็สามารถขายในราคาที่ต่ำกว่าได้

ดังนั้น จึงมีผลต่อการกำหนดราคาขายยาของโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ และจำหน่ายในราคาที่สูงในตัวยาหลายตัว ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อไปหลังรับรู้ถึงต้นทุนก็จำทำการนำมาเป็นมีฐานข้อมูลแยกกลุ่มและประเภทของโรงพยาบาลเอกชนทั้งระบบให้ชัดเจน ทางคณะที่ศึกษาจะไปจัดทำฐานข้อมูลการบวกกำไรหรือ(มาร์จิ่น) ค่ายา เวชภัณฑ์ ค่าบริการในด้านต่างๆกันต่อไป พร้อมควรจะดำเนินการพิจารณาค่ายาตามชนิดยาให้มีความเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการจัดทำมาร์จิ่นจะพิจารณาเสร็จได้ในเร็วๆนี้ และหลังจากนั้น กรมการค้าภายในจะประกาศใช้เพื่อให้ทุกโรงพยาบาลเอกชนนำไปใช้ในการคิดราคายา เวชภัณฑ์ ค่าบริการให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ขณะเดียวกันกรมฯจะใช้แนวทางเชิญชวนโรงพยาบาลเอกชนที่ดีไม่เอาเปรียบผู้บริโภคมาเข้าร่วมโครงการโรงพยาบาลคุณธรรม ที่ภาครัฐจะมอบตราสัญญาลักษณ์ให้กับโรงพยาบาลที่ดีและมีคุณธรรมเพื่อประชาสัมพันธ์ให้กับโรงพยาบาลอีกด้วย และในอนาคตเชื่อมั่นว่าการวิเคราะห์ต้นทุนด้านต่างๆออกมาชัดเจนจะทำให้ระบบค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าบริการด้านต่างๆมีความถูกต้องและเป็นจริงมากขึ้น

จากรายงาน ผลการศึกษาพบว่ามียาเป็นจำนวนมากที่มีต้นทุนการซื้อถูกมาก แต่มีการตั้งราคาสูง และกำไรสูงมาก ทั้งกำไรจากต้นทุน และกำไรส่วนเกิน ยกตัวอย่าง เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ (Tylenal) ต้นทุนเม็ดละ 48 สตางค์ มีราคาขาย 1-22 บาท กำไร 26.58-4,483.34% , ยาลดความดัน (Anapril) ขาย 2-56 บาท กำไร 150-9,100% , ยาลดไขมัน (Bestatin) ขาย 2-61 บาท กำไร 185.71-11,965.21% , ยารักษาลมชัก (Depakine) ขาย 300-1,354 บาท กำไร 26.12-470.01% , ยาฆ่าเชื้อ (Ciprobay) ขาย 1,723-3,655.88 บาท กำไร 64.42-255.81% และยามะเร็ง ขาย 86,500-234,767 บาท กำไร 9.98-188.80%