“อลงกรณ์” ชูก.เกษตรยุค 5G ปั้น 50 แอปแก้ขาดแรงงาน

“อลงกรณ์” ชู ก.เกษตรฯ 5G ดึงเทคโนโลยีเพิ่มผลผลิต-สร้างมูลค่าเพิ่ม วางเป้าหมายปี’63 ผุด 50 แอปพลิเคชั่น เตรียมปั้นโมเดลส่งข้าวเหนียวมะม่วงโกอินเตอร์ ขยายตลาด 30,000 ล้าน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 กล่าวในงานเสวนาเกษตรแห่งปี

“ไม้ผลพารวยยุค 5G” ซึ่งจัดขึ้นโดยวารสารเทคโนโลยีชาวบ้าน บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า กระทรวงเกษตรฯ จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 ขึ้น ตามนโยบายส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกร เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ผลิตและส่งออกเกษตรอาหารที่สำคัญ อันดับ 1 ใน 5 ของโลก และเตรียมแผนรองรับภาวะขาดแรงงานภาคเกษตร เพราะกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้มีจำนวนผู้สูงวัยคิดเป็นสัดส่วนถึง 20% ของจำนวนประชากร

ล่าสุด คณะกรรมการ ได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการตามเป้าหมายด้านต่าง ๆ เช่น คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ คณะอนุกรรมการดูด้านการตลาดออนไลน์ คณะอนุกรรมการปฏิรูปเกษตรสมัยใหม่ เป็นต้น และร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตร

“กระทรวงเกษตรฯมีเป้าหมายว่าในต้นปี 2563 ต้องพัฒนาแอปพลิเคชั่นของตัวเอง ซึ่งขณะนี้เดินหน้ามา 70-80% แล้ว คาดการณ์ว่าสามารถพัฒนาได้ถึง 50 แอปพลิเคชั่น เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลและข่าวสาร เพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูลในการเพิ่มผลผลิต การทำการตลาดและการส่งออกให้สินค้าเกษตรไทย”

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำโมเดลธุรกิจส่งออกข้าวเหนียวมะม่วงไปยังประเทศจีน โดยเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย ตั้งเป้าส่งออกมูลค่าเพิ่มขึ้น 30,000 ล้านบาท โมเดลนี้ถือเป็นโมเดลสำคัญที่จะสร้างรายได้ให้เกษตรกร ผู้ผลิตสินค้า ซึ่งอาจจะขยับขยายสู่ผลผลิตอื่น ๆ เพื่อการส่งออกต่อไป

นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 กูรูทุเรียนระดับประเทศ กล่าวว่า ทุเรียนถือเป็นไม้ผลที่สร้างมูลค่าให้กับประเทศไทย แต่กำลังมีคู่แข่งโดยเฉพาะเวียดนามและมาเลเซียที่มีเป้าหมายขยายส่วนแบ่งตลาดส่งออกทุเรียนของไทย ดังนั้น เกษตรกรจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพทุเรียน ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทย โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพาะปลูกและรักษาคุณภาพของผลไม้ ปัจจุบันพบว่ามีเกษตรกรกว่า 80% ที่ได้รับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การควบคุมการเพาะปลูกไปสู่คุณภาพการส่งออกแล้ว แต่สิ่งที่กังวล คือ เกษตรกรใหม่ที่เพิ่งเริ่มเพาะปลูกอาจไม่มีความพร้อมและความเข้าใจ ซึ่งจำเป็นต้องให้ความรู้และความเข้าใจมากขึ้น