ไฟเขียวกฎกระทรวงฉบับใหม่ ยืดหยุ่นการประมง “เปลี่ยนอาชีพ-โอนโควตา”

via gettyimages

“นายกฯ ลุงตู่”จัดหนักไฟเขียวออกกฎกกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงฉบับใหม่ ปรับ 4 เกณฑ์หลักเอื้อโอกาสสร้างรายได้ในการประกอบอาชีพ โดยไม่กระทบทรัพยากรทางทะเล หวังมอบเป็นของขวัญชาวประมงไทย

วันนี้ (6 พ.ย.62) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมได้มีมติเห็นชอบกฎกกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงฉบับใหม่ โดยมีการปรับปรุงแก้ไขกฎกติกาเกี่ยวกับใบอนุญาตประมงให้สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ เนื่องจากวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับใบอนุญาตประมงที่ผ่านมาพบว่า ใบอนุญาตประมงเมื่อออกไปแล้ว แก้ไขเปลี่ยนแปลงใด ๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น ทำให้ขาดความยืดหยุ่นสำหรับชาวประมงในการประกอบอาชีพ เช่น การเปลี่ยนเรือทดแทนลำเดิม การเปลี่ยนพื้นที่จับปลาตามฤดูกาล การเปลี่ยนจำนวนวันที่ได้รับอนุญาตให้จับปลา ทำให้กระทบต่อโอกาสและรายได้ในการประกอบอาชีพ

ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลจำนวนเรือประมงที่มีใบอนุญาตประมงทั้งสิ้น 10,468 ลำ พบว่า เจ้าของเรือประมงที่มีใบอนุญาตจำนวน 2,641 ลำ แสดงความต้องการเปลี่ยนอาชีพจากประมง ไปทำอย่างอื่น ต้องการให้รัฐบาลซื้อเรือคืนคิดเป็นงบประมาณ 7,100 ล้านบาท เพื่อนำเงินที่ได้ไปประกอบอาชีพใหม่ แต่รัฐมีงบประมาณจำกัด และมีขั้นตอน ระเบียบต่างๆ ใช้เวลาดำเนินการ ซึ่งอาจไม่ทันความต้องการของชาวประมง ได้อย่างรวดเร็วนัก

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว คาดว่ากฏกระทรวงฯ ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่าไม่เกิน 30 พฤศจิกายน 2562 ถือเป็นของขวัญจากรัฐบาลเพื่อชาวประมง ทำให้ชาวประมงประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง ทรัพยากรเกิดความยั่งยืนโดยมีประเด็นสำคัญ 4 ประเด็นหลัก คือ

1. ชาวประมงสามารถนำเรือลำอื่นมาเปลี่ยนแทนเรือที่ได้รับใบอนุญาตได้ ในกรณีปรับปรุงเรือเพื่อให้มีความปลอดภัยหรือสุขอนามัย สำหรับแรงงานตามมาตรฐานสากล หรือเรือประมงชำรุดทรุดโทรมจนไม่สามารถออกจับปลาได้ โดยชาวประมงนำใบอนุญาตประมงพาณิชย์มาแก้ไขข้อมูลให้ตรงกับเรือลำใหม่ที่มาทดแทนลำเดิม สามารถออกจับปลาได้ต่อเนื่อง

2.ชาวประมงที่มีใบอนุญาตและออกจับปลาไปแล้วช่วงเวลาหนึ่ง แต่ต่อมาออกจับปลาไม่ได้ สามารถโอนโควตาจับปลาที่เหลือของตนเอง ให้ชาวประมงรายอื่นได้ โดยนำใบอนุญาตมาเปลี่ยนแปลงแก้ไข

3.ชาวประมงที่มีใบอนุญาตแต่ต้องการเลิกทำอาชีพประมง สามารถโอนใบอนุญาต/โควตาจับปลาของตนเองไปให้ชาวประมงคนอื่นได้ โดยนำโควตาจับปลาไปรวมกับใบอนุญาตประมงของชาวประมงที่รับโอน และต้องทำลายเรือประมง 1 ลำ

4.ชาวประมงที่มีใบอนุญาตสามารถขอเปลี่ยนพื้นที่ทำการประมงชั่วคราวได้ตามฤดูมรสุม โดยที่การเปลี่ยนพื้นที่ทำการประมงต้องไม่มีผลกระทบต่อความยั่งยืนของทรัพยากร

รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ รับรู้ รับฟัง และทำให้พี่น้องชาวประมงประกอบอาชีพได้บนพื้นฐานความยั่งยืนของทรัพยากรประมง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการประมงในรัฐบาลที่ผ่านมา และยังทำอย่างต่อเนื่องถึงวันนี้จึงได้ปรับปรุงแก้ไขกฎกติกาเกี่ยวกับใบอนุญาตประมงให้สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ ทำให้ชาวประมงประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง แต่ขณะเดียวกันทรัพยากรทางทะเลของประเทศยังเกิดความยั่งยืนด้วย.