“เวียดนาม”ดูดนักลงทุนไทยย้ายฐานผลิตใช้แต้มต่อลดภาษี17FTA

ขีดความสามารถแข่งขันเวียดนามขยับ 10 อันดับ “ทูตเวียดนาม”บุกดึงนักลงทุนไทย ชี้ช่องแต้มต่อเปิดตลาดลดภาษี 17 ความตกลงการค้า ทั้ง EVFTA-CPTPP แถม GSP อียู พร้อมอัดสิทธิประโยชน์ลงทุน หวังอัพเกรดอุตสาหกรรมไฮเทค startup แปรรูปเกษตร ธุรกิจบริการท่องเที่ยว รับยอดนักท่องเที่ยว ปี”63 ทะลุ 6 แสนคน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ขณะนี้เวียดนามถือเป็นแหล่งลงทุนในอาเซียนที่มีนักลงทุนให้ความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเร็วนี้ ๆ World Economic Forum (WEF) รายงานผลดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (global competi-tiveness index : GCI) ประจำปี 2562 จาก 141 ประเทศ ปรากฎว่าประเทศในกลุ่มอาเซียน นอกจากสิงคโปร์ที่ขยับขึ้นแท่นอันดับ 1 แซงสหรัฐแล้ว ยังมีประเทศเวียดนามที่ขยับขึ้นมา 10 อันดับจาก 77 เป็นอันดับที่ 67 ด้วยคะแนนอยู่ที่ 61.5 คะแนน สูงกว่าคะแนนโดยเฉลี่ยทั่วโลกที่ 61 ทั้งจากด้านสุขภาพ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ มหภาค และขนาดตลาด ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 40 ลดลงจากปีก่อนที่เคยอยู่อันดับที่ 38

ล่าสุด H.E. Mr.Nguyen Hai Bang เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย กล่าวภายในงาน Thailand-Vietnam onMutual Growth and Development ซึ่งจัดโดยสภาธุรกิจไทย-เวียดนามเมื่อเร็วๆนี้ว่า ขณะนี้มี 10 บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยได้เข้าลงทุนในเวียดนามทุกด้านโดยเฉพาะกลุ่มการลงทุนค้าปลีกโดยมี บ.เอสซีจี จำกัด บ.ไทยเบฟ จำกัด ได้ลงทุนต่อเนื่อง มีความสัมพันธ์ที่ดี ที่ผ่านมาได้สร้างเครือข่ายนักธุรกิจระหว่างกันมากขึ้น และอนาคตจะเพิ่มขึ้นต่อไป

ขณะที่นายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย กล่าวว่า ปัจจุบันเวียดนามมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงต่อเนื่องถึง 7% ต่อปี โดยมีข้อได้เปรียบที่เป็นจุดเด่นการค้าการลงทุนเรื่องกฎระเบียบ ซึ่งเวียดนามให้สิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตระดับสูง นวัตกรรม industry 4.0 มุ่งเน้นการลงทุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วน รถยนต์ในประเทศ จักรยานยนต์ และรถยนต์ไฟฟ้ารวมถึงซัพพลายเออร์ของไทยไปลงทุนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ทั้งยังมีความตกลงการค้าเสรีกับตลาดใหญ่ รวมกว่า 17 ฉบับอาทิ สหภาพยุโรป สหรัฐ และจีน

โดยเฉพาะกรอบการเจรจาค้าเสรีฉบับใหม่ ทั้งความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและเวียดนาม หรือEU-Vietnam Free Trade Area หรือ EVFTA ซึ่งคาดว่าจะมีผลเร็ว ๆ นี้ ถือเป็นการเจรจาเปิดเสรีการค้าอย่างเต็มรูปแบบ ครอบคลุมการเปิดเสรีด้านการลงทุนอย่างเสรี ระหว่างยุโรปและเวียดนาม โดยไม่มีกำแพงภาษี ขณะเดียวกันเวียดนามยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) จากสหภาพยุโรป ซึ่งมีส่วนผลักดันให้มูลค่าการส่งออกของเวียดนามไปยุโรปจะสามารถขยายตัวมากถึง 22.7%

“เเน่นอนว่าประเด็นเหล่านี้ส่งผลต่อขีดความสามารถเเข่งขันของไทยอาจเสียเปรียบ เพราะเวียดนามได้สิทธิประโยชน์ดีกว่า แต่ในทางตรงกันข้ามอาจจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่กำลังมองหาลู่ทางขยายการลงทุนในเวียดนาม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแปรรูปการผลิต แปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อใช้ประโยชน์จากการลดภาษีส่งออกไปตามความตกลง EVFTA”

นอกจากนี้เวียดนามยังได้เป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ CPTPP ซึ่งเป็นความตกลงที่ไทยอยู่ระหว่างพิจารณาเข้าร่วม แต่เวียดนามได้ร่วมกรอบการค้าดังกล่าวไปแล้ว ดังนั้นไทยสามารถเข้าไปขยายฐานผลิต โดยพิจารณาถึงความพร้อมด้านปัจจัยพื้นฐาน สาธารณูปโภค ซึ่งดึงดูดนักลงทุน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องจับตามองคือ ระยะหลังมีการขยายเข้าไปลงทุนมากขึ้น จึงเริ่มมีปัญหาขาดแคลนแรงงานทักษะสูง แต่คนหนุ่มสาวเวียดนามกระตือรือร้นพร้อมเรียนรู้ จึงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง

สำหรับการค้าระหว่างไทย-เวียดนาม ในปี 2563 ตั้งเป้าหมายที่ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปีนี้ 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และในการประชุมอาเซียน ASEAN Summit ครั้งที่ 35 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจะส่งผลให้เกิดเวทีภาคธุรกิจ สร้างเครือข่ายนักธุรกิจระหว่างประเทศ รวมถึงทวิภาคี เพราะปัจจุบันนักลงทุนไทยเริ่มสนใจไปลงทุนเวียดนามเพิ่มมากขึ้น

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเวียดนามเติบโตเร็วมากในระยะหลัง คาดว่าปีหน้า 2563 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเวียดนามถึง 6 แสนคน เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีก่อนหน้า 3 แสนคนเป็นโอกาสที่ดี และยังมีช่องว่างสำหรับผู้ประกอบการไทย startup ธุรกิจอาหาร ธุรกิจนวดแผนโบราณ สปา ที่ได้รับความนิยมจากไทยอย่างมากในขณะนี้

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม กล่าวว่า เวียดนามเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 5 ของไทย มีมูลค่าการค้า 18,700 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2561 โดยมีสินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป และเม็ดพลาสติก สินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน น้ำมันดิบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ในด้านการลงทุน มีนักธุรกิจของไทยที่ไปลงทุนในเวียดนามหลายประเภทอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเกษตร อาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจค้าปลีกอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจบริการ ผลิตภัณฑ์พลาสติกและเมลามีน