ชาวประมงเดือดร้อนหนัก! รัฐแก้ปัญหาล่าช้า พร้อมยกพลทวงถามรัฐมนตรีเกษตรฯปลายเดือนนี้

(Photo by Fairfax Media via Getty Images/Fairfax Media via Getty Images via Getty Images)

ชาวประมง 22 จังหวัดทนไม่ไหว ปัญหารุมเร้าจนอยู่ไม่เป็น จี้รัฐเร่งรับซื้อเรือขาว-แดง 200 กว่าลำ คลอดสินเชื่อ 1 หมื่นล้าน ขอเพิ่มวันทำการประมงเป็น 300 วัน แรงงานขาดหนัก รวมทั้งปัญหาราคาสินค้าประมงตกต่ำ ดีเดย์ล้อมกระทรวงเกษตรฯให้แก้ปัญหา 26 พ.ย.นี้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากการที่ผู้บริหารสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยนำโดยนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมได้เข้าหารือกับนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกรมประมงเกือบ 10 ครั้ง ในการแก้ปัญหาต่างๆให้กับชาวประมงทั่วประเทศ ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา

แต่ปรากฏว่า การแก้ปัญหายังล่าช้ามาก ล่าสุด คณะกรรมการบริหารสมาคมได้ประชุมและลงมติให้สมาคมการประมงทั้ง 22 จังหวัดนำสมาชิกสมาคมไปทวงถามการแก้ปัญหาชาวประมงที่กระทรวงเกษตรฯในวันที่ 26 พ.ย.ศกนี้ คาดว่าจะมีชาวประมงทั่วประเทศมาชุมนุมหลายระลอกและอาจยืดเยื้อไม่ต่ำกว่าครึ่งเดือน

รายงานข่าวกล่าวว่า ปัญหาสำคัญที่ชาวประมงต้องการให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯเร่งแก้ไขคือ

1. เร่งรับซื้อเรือประมงขาว-แดงที่เหลืออยู่ประมาณ 200 กว่าลำที่มีใบอนุญาตถูกต้อง ซึ่งเรือกลุ่มนี้ เจ้าของเรือมีเรือหลายลำ บางลำอาจมีคดีอยู่ แต่ควรพิจารณารับซื้อในส่วนของเรือที่ไม่ได้ทำผิดไปก่อน ทั้งนี้ ปลายปีที่ผ่านมารัฐรับซื้อไปแล้ว 300 กว่าลำวงเงินประมาณ 600 ล้านบาทเศษ

2. เร่งปล่อยสินเชื่อ 10,000 ล้านบาทเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับชาวประมง โดยมีการใช้เรือประมงค้ำประกัน และรัฐสนับสนุนชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 7 ปี ผ่านธนาคารออมสิน 5,000 ล้านบาท ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)อีก 5,000 ล้านบาท ซึ่งข้อเรียกร้องนี้ เป็นการขอกู้เงิน แต่ที่ผ่านมา ล่าช้ามากเมื่้อเทียบกับการที่รัฐประกันรายได้ให้เกษตรกรที่ปลูกปาล์ม ข้าว ยางพารา มันสำปะหลังและข้าวโพด

3.เร่งรัฐซื้อเรือที่มีใบอนุญาตถูกต้องออกจากระบบ(รวมเรือขาว-แดงด้วย)รวมประมาณ 2,700 กว่าลำ วงเงินประมาณ 7,000 กว่าล้านบาท

4.ขอเพิ่มวันทำการประมงจากเฉลี่ยต่อรายที่ 240 วัน/ปีหรือทำการประมงได้เพียง 7-8 เดือนต่อปี เพิ่มเป็น 300 วันต่อปี เพราะที่ผ่านมา ชาวประมงขาดสภาพคล่องหนัก จากวันทำการประมงน้อยเกินไป ในขณะที่ต้องหาเงินมาจ่ายเงินเดือนให้แรงงานชาวประมงบนเรือเต็มปี และต้องจ่ายผ่านบัญชีธนาคาร

5.ขาดแคลนแรงงานประมงบนเรือกว่า 5 0,000 คน การที่ภาครัฐให้นำเข้าแรงงานแบบ MOU รัฐต่อรัฐ ค่อนข้างล้มเหลว เพราะรัฐเพื่อนบ้านเจ้าของแรงงานไม่ป้อนให้มาเป็นแรงงานประมงบนเรือ ที่ป้อนมาให้ต้องใช้ระยะเวลานานกว่า 4 เดือน จึงจะได้แรงงานมาทำงานบนเรือ จึงต้องการให้รัฐโดยอธิบดีกรมประมงใช้มาตรา 83 ตาม พรก.การประมง 2558 รับแรงงานต่างด้าวมาทำงานบนเรือประมงได้โดยตรง


6. ขอให้รัฐแก้ปัญหาสินค้าประมงราคาตกต่ำหนัก ทั้งปลาหมึก ปลาป่น ฯลฯ และขอให้รัฐสั่งด่านชายแดนกวดขันการนำเข้าสัตว์น้ำให้ถูกต้อง