Thailand 2020 ฝ่าพายุ ศก. ขี่ Geo-politics ธุรกิจไทยเชื่อมโลก

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาแห่งปี “THAILAND 2020 ก้าวข้ามพายุเศรษฐกิจ” เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงโอกาสที่มักจะเกิดมาในช่วงวิกฤต ธุรกิจเช่นเดียวกันต้องมองหาโอกาส-คว้าโอกาสและจังหวะทอง

อาเซียนศูนย์กลาง RCEP

ท่ามกลางปัจจัยลบด้านเศรษฐกิจทั่วโลก การประชุม ASEAN SUMMIT ครั้งที่ 35 ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ถือได้ว่าอาเซียนกำลังเป็นจุดที่ทุกคนจับจ้อง อาเซียนกำลังทวีความสำคัญอย่างยิ่งยวด อาเซียนกำลังเป็นหัวใจของเอเชีย ประชากร 600 ล้านคน เป็น key supply chain ของอุตสาหกรรมทุกประเภท มีการเจริญเติบโตทางตัวเลขของเศรษฐกิจ (GDP) สูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอาเซียนจึงเป็นที่น่าสนใจ

อาเซียนเป็นจุดเกาะเกี่ยวที่ทุกกลุ่มประเทศ ทุกกลุ่ม geopolitics พยายามเชื่อมต่อ เพราะอาเซียนเป็นศูนย์กลาง เช่น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP)

RCEP คือ เขตเศรษฐกิจการค้าที่ใหญ่ที่สุดของโลกมีประชากรกว่า 3,000 ล้านคน มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 21 billion USD มีองค์กรการค้ากว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของโลก เกิดเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน

แม้ไม่มีการลงนามแต่ได้เห็นชอบร่วมกัน 15 ประเทศ ขาดเพียงอินเดีย โดยจะลงนามอย่างเป็นทางการในปีཻ เวียดนามจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEAN SUMMIT ครั้งที่ 36 RCEP จะเป็นเขตการค้าที่ใหญ่ที่สุด เป็นหลักยึดของโลกใหม่

FTA ไทย-ฮ่องกง

โอกาสที่สอง คือ belt and road initiative (BRI)เริ่มจากการเชื่อมต่อด้วยเส้นทางรถไฟ ผลักดันความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวระหว่างจีนกับทั่วโลก จนเป็น digital silk road ขณะที่โลกกำลังเกิด BRI จีนผลักดันเขตยุทธศาสตร์เศรษฐกิจกวางตุ้ง ฮ่องกง มาเก๊า (Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area : GBA) เพื่อเป็นหัวหอกให้ BRI เชื่อมโยงลงมาที่อาเซียน

การพบกับ “แครี่ หล่ำ” ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างกวางตุ้ง-เสิ่นเจิ้น-ฮ่องกง-มาเก๊า สิ้นปีนี้แครี่ หล่ำ พยายามจะเดินทางมาด้วยตัวเอง จะเกิดความร่วมมือการค้าการลงทุน 4 ประการ ประการที่ 1 การประกาศเอฟทีเอไทย-ฮ่องกงเป็นแห่งแรก ประการที่ 2 การย้ายฐาน (relocation) ของโรงงานครั้งใหญ่มาไทยเพราะสงครามการค้าที่ยังไม่แน่นอนสูง คู่แข่งสำคัญ คือ เวียดนาม

ดังนั้น “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ต้องดีไซน์แพ็กเกจพิเศษ รวมถึงคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน ใช้จังหวะทองนี้ดึงอุตสาหกรรมไฮเทคเข้ามาเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น พร็อพเพอร์ตี้”

ประการที่ 3 การเชื่อมโยงระหว่างตลาดทุนไทยกับฮ่องกง ประการที่ 4 ความร่วมมือระดับสูง (JC) เพื่อหารือด้านยุทธศาสตร์

Indo-Pacific มาแรง

ขณะเดียวกัน ยุทธศาสตร์ Indo-Pacific มาแรงมาก โดยการผลักดันของอินเดียและญี่ปุ่น อินเดียเป็นหัวเรือใหญ่เพื่อ balance geopolitics ในภูมิภาค การเชื่อมโยงอาณาเขต 2 มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก มีประเทศในข่าย 30 ประเทศ มีประชากรและจีดีพีกว่าครึ่งโลก เป็นความร่วมมือทางทะเลให้เกิดการค้า การลงทุน การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม

ที่สำคัญคือ submarine coordination เรื่องของความมั่นคง โดยมีคอนเซ็ปต์ว่า open เปิด freedom เสรี ไม่มีใครจับจอง inclusive ครอบคลุมทั่วประเทศ มีอาเซียนอยู่ตรงกลาง เมื่อการ rebalance ทั้ง RCEP ของจีน Indo-Pacific ของอินเดีย และหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership : CPTPP) ของญี่ปุ่น

สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ 1.ต้องทำให้ไทย highly active ในภูมิภาคนี้เป็นตัวกลางเชื่อมโยง เป็น connecting and connectivity เพื่อให้มีบทบาทสูงในเวทีแห่งนี้ 2.ต้องมี economic grow ที่ดี

EEC ต้องไม่ล่ม

การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้ BRI เชื่อมต่อกับ EEC

“สิ่งสำคัญคือ EEC เกิดขึ้นทันเวลา หน้าที่ของเราคือทำให้เกิดขึ้นจริงจัง ไม่ให้ล่ม โครงการใหญ่ที่ประกาศไว้ใน EEC ต้องเดินหน้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราทำนั้นไม่ใช่เพียงแค่คำพูด”

ไทยจะเป็นฐานการผลิตและส่งออก ไม่ใช่เฉพาะ CLMV แต่เป็นทุกประเทศในอาเซียน EEC จะเป็น port ที่ใหญ่และทันสมัย เป็น hub ในการลงทุนและส่งออกไปทั่วโลก โดยการร่วมลงทุนของจีนและญี่ปุ่นเป็นโอกาสมหาศาล

จีดีพี Q4 Take off

“จีดีพี 4 ปีที่ผ่านมา ขึ้นมา 4.8 เปอร์เซ็นต์ จบลงที่4.1 เปอร์เซ็นต์ในปี 2561 แต่ปีนี้โมเมนตัมถดถอยเหลือ2.8 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาส 1 และ 2.3 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาส 2 และ 3 จะเริ่มตีกลับ แม้ไม่ take off รุนแรง แต่เริ่มฟื้นกลับมา”

สาเหตุมาจากความล้าช้าของการจัดตั้งรัฐบาลและการใช้จ่ายงบประมาณปี 2563 ไม่ทันปีงบประมาณ รวมถึงผลกระทบจากสงครามการค้าทำให้การส่งออกลดลง

“สิ่งเหล่านี้คือ พายุ แต่ภายใต้พายุมีโอกาสเกิดขึ้น หากมีโมเมนตัมที่ดีพอ มีโครงการกระตุ้นเพื่อประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นไปให้ได้ จากประมาณการ 2.9 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ แต่ในไตรมาส 4 จะฟื้นตัวขึ้น”

รัฐบาลทำเต็มที่ มีการตั้งคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ หลายโครงการกำลังเดินหน้า โครงการร่วมลงทุนใน EEC ขนาดใหญ่กำลังเกิดขึ้น รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินได้ข้อสรุป ท่าเรือมาบตาพุดจบไปแล้ว ท่าเรือแหลมฉบังอีกไม่นานต้องเริ่มลงทุน งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 เริ่มใช้เดือนมกราคมปี’63 ท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัว ถ้ารถไฟฟ้า 10 สายทางออกมาจะเป็นโอกาสของพร็อพเพอร์ตี้ตามแนวเส้นทางรถไฟ

ถ้าปีหน้าเป็นปีที่จะมีการลงทุนเกิดขึ้น ต้องใช้จังหวะนี้ลงทุน เพราะค่าเงินบาทแข็งมาก ข้อสำคัญธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลใกล้ชิด เป็นอิสระ รัฐบาลจะขอให้ดูแลและให้ทำเต็มที่

“EEC ต้องเดินหน้าสร้างความมั่นใจให้ต่างประเทศ ว่า EEC เกิดแล้ว ผังเมือง EEC สำคัญมาก ผ่าน ครม.ไปแล้ว ทุกคนต้องประคองไม่ให้ล่ม เพราะเป็นความอยู่รอดของประเทศไทย”

ปรับตัวสู่ยุค 5G

ปี 2020 คลื่นความถี่ 5จี ประมูลแน่นอน อย่างช้ามีนาคม ปี’63 อย่างเร็วกุมภาพันธ์ ปีཻ key factor คือการให้บริการประชาชน สามารถใช้ได้ทุกโครงการ เช่น ภาคการศึกษา ภาคเอกชน-ธุรกิจและอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์เต็มที่ data center เพื่อให้เกิด big data ให้ BOI มีมาตรการพิเศษดึงดูดนักลงทุนมาตั้งที่ไทยให้ได้ เพราะฉะนั้น 5จี และ IOT เอกชนต้องตื่นตัว ถ้าไม่ปรับตัวจะปรับไม่ทัน

การพัฒนาคน หลักสูตร nondegree ด้าน digital และ STEM เพื่อ reskill และ upskill โดยความร่วมมือของเอกชนและสถาบันศึกษา เอกชนที่พัฒนาคนจะรับได้สิทธิประโยชน์จาก BOI ถ้าผลิตคนได้ไม่ทันจะทำให้ไม่เกิดการลงทุน สิ่งที่ตั้งใจทำ คือทำโครงการประชารัฐให้แข็งแรง ให้รากหญ้าเข้มแข็ง แพลตฟอร์มแก้ความยากจนเริ่มจาก smart farmer ไปยังชุมชน เหมือนพรรคคอมมิวนิสต์จีนลงไปยังหมู่บ้านและครัวเรือน

“ถ้ามองไปข้างหน้า ความท้าทายคือทำอย่างไรให้ประเทศไทยแข็งแรงเพื่อให้ทุกประเทศที่มาไทยแทนที่จะไปเวียดนาม การเมืองต้องดี ถ้าการเมืองไม่ดีทุกอย่างไม่เดิน”

“ปี 2020 ไม่ใช่เผาหลอกและเผาจริง แต่จะมีทั้งความเสี่ยงและโอกาส ผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียว อย่าให้สถานการณ์กลับไปสู่อดีต ช่วงเวลานี้สำคัญมาก ทำอย่างไรให้ไทยมีบทบาทเด่นในภูมิภาคแห่งนี้ ทุกคนต้องร่วมมือกันทำ”