นายจ้าง-ลูกจ้างต่างด้าว ผ่านการคัดกรองความสัมพันธ์แล้ว 7 แสนราย

รองโฆษกกระทรวงแรงงาน เผยผลการคัดกรองความสัมพันธ์ มีนายจ้างผ่านการคัดกรอง 180,751 คน ไม่มาคัดกรอง 17,581 คน ลูกจ้างต่างด้าวที่ผ่านการคัดกรอง 703,661 คน ไม่ผ่านการคัดกรอง 19,967 คน และยังไม่มาคัดกรอง 74,057 คน ดำเนินการแล้วเสร็จ 102 ศูนย์ อยู่ระหว่างดำเนินการ 8 ศูนย์ กำหนดปิดทั้งหมด 16 ก.ย. 60

นางเพชรรัตน์ สินอวย ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะรองโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมกระทรวงแรงงาน ครั้งที่ 8/2560 ณ ห้องแถลงข่าวกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน วันนี้ (14 ก.ย. 60) โดยกล่าวว่า “จากผลการรับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวทั้ง 100 ศูนย์ ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. – 7 ส.ค. 60 มีนายจ้างมาแจ้งการใช้แรงงานต่างด้าว 198,332 ราย ลูกจ้างต่างด้าว 797,685 คน แยกเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมามากที่สุด 461,458 คน รองลงมากัมพูชา 235,757 คน และลาว 100,470 คน ตามลำดับ โดยการคัดกรองความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค. – 13 ก.ย.60 มีนายจ้างผ่านการ คัดกรอง 180,751 ราย ที่ไม่มาคัดกรอง 17,581 ราย ลูกจ้างต่างด้าวที่ผ่านการคัดกรอง 703,661 คน ไม่ผ่านการ คัดกรอง 19,967 คน และยังไม่มาคัดกรอง 74,057 คน ซึ่งเป็นข้อมูลที่กระทรวงแรงงาน ได้รับการรายการจากศูนย์คัดกรองทั่วประเทศ 110 ศูนย์ ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จ 102 ศูนย์ อยู่ระหว่างดำเนินการ 8 ศูนย์ ประกอบด้วยจังหวัดตาก ลำพูน นนทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุพรรณบุรี ชลบุรี นครศรีธรรมราช และระนอง โดยจะดำเนินการคัดกรอง แล้วเสร็จและปิดศูนย์คัดกรองความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้างทั่วประเทศ ในวันที่ 16 ก.ย. 60 นี้

การดำเนินงานในระยะต่อไป แรงงานต่างด้าวต้องไปดำเนินการพิสูจน์สัญชาติตามขั้นตอนของประเทศต้นทาง โดยแรงงานเมียนมา ต้องไปพิสูจน์สัญชาติใน 8 จังหวัด 9 ศูนย์ ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร 2 ศูนย์ จังหวัดสมุทรปราการ 1 ศูนย์ จังหวัดเชียงราย 1 ศูนย์ จังหวัดตาก 1 ศูนย์ จังหวัดระนอง 1 ศูนย์ เชียงใหม่ 1 ศูนย์ นครสวรรค์ 1 ศูนย์ และสงขลา 1 ศูนย์ โดยจ่ายค่าธรรมเนียมที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส แล้วนำหลักฐานเอกสารไปพิสูจน์สัญชาติตามสถานที่ดังกล่าวข้างต้น สำหรับแรงงานสัญชาติลาว ต้องกลับไปดำเนินการตามขั้นตอน MOU ส่วนแรงงานกัมพูชา จะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการตรวจสัญชาติในไทยที่จังหวัดกรุงเทพฯ ระยอง และสงขลา โดยกระทรวงแรงงานจะคอยติดตามการดำเนินงานของศูนย์ตรวจสัญชาติ (One Stop Service) ของแต่ละประเทศ ว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จะมีการปรับแผนการดำเนินงานต่อไปเพื่อให้ทัน 31 ธ.ค. 60”

“หลังจากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ได้มีนายจ้างมาขอโควตานำเข้าแรงงานตามบันทึกข้อตกลง (MOU) เพิ่มขึ้นอีก 102,036 คน จากเดิมที่มาขอโควตาไว้ 697,340 คน และนับจากนี้การนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน ต้องทำตามขั้นตอน MOU ทั้งหมด” รองโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวในท้ายที่สุด