ไทย-เวียดนาม ชิงโปรเจ็กต์ปิโตรฯ ‘เอ็กซอน’ 3.3 แสนล. เร่งศึกษาถมทะเล 3 พันไร่

เอ็กซอนฯเปิดตัวโครงการปิโตรเคมี 3.3 แสนล้าน เป็นโรง cracker ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เล็ง พท.รัศมี 5 กม.รอบโรงกลั่นศรีราชา แข่ง 3 ประเทศ

ดร.อดิศักดิ์ แจ้งกมลกุลชัย ผู้อำนวยการบริหารโครงการ Thailand Major Growth Venture กล่าวว่า โครงการปิโตรเคมีกำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษาความเป็นไปได้ (feasibility study) จากความต้องการที่จะ “ต่อยอด” จากโรงกลั่นน้ำมันเอ็กซอนฯที่แหลมฉบัง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้พื้นที่ตั้งโรงงานปิโตรเคมีในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร จากตัวโรงกลั่นเดิม แต่พื้นที่รอบ ๆ โรงกลั่นปัจจุบันหนาแน่นมาก จึงได้มีข้อเสนอให้ทำการถมทะเล ซึ่งทำให้ต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ก่อน และการถมทะเลก็ไม่ได้ทำเพื่อตั้งโรงงานปิโตรเคมีของเอ็กซอนฯเพียงรายเดียว แต่เป็นการศึกษาการถมทะเลให้กับโครงการใน EEC ทั้งหมด โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้มอบหมายให้สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นผู้ทำการศึกษา

“พื้นที่ในการถมทะเลคาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 3,000 ไร่ หรือถมลึกออกไปจากชายฝั่งราว 8-13 เมตร ซึ่งในส่วนของค่าใช้จ่ายในการถมทะเลยังไม่เป็นที่ชัดเจนต้องรอผลการศึกษา แต่เราคาดว่าภาครัฐจะเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพื่อแบ่งพื้นที่ให้เอกชนรายอื่นที่มีอุตสาหกรรมที่ตอบสนอง Thailand 4.0 และโครงการ EEC ของรัฐสามารถเข้ามาเช่าพื้นที่ได้ด้วย โดยอาจมีการกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับผู้ที่จะมาเช่าต่อไป ในแง่ของเรามองพื้นที่ถมทะเลไว้บริเวณเขาบ่อยาด้านใต้ ถ้ามีการถมทะเลโครงการนี้ก็น่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2027 เพราะการถมทะเลจะใช้เวลาประมาณ 2 ปีครึ่ง-3 ปี และต้องก่อสร้างโรงงานอีก 2 ปีครึ่ง-3 ปีเช่นกัน” ดร.อดิศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ โครงการปิโตรเคมีแห่งใหม่จะมีการผลิตโพลิเอทิลีน (polyethlene หรือ PE) กับโพลิโพรพิลีน (polypropylene หรือ PP) ซึ่งเป็นโพลิเมอร์เกรดพิเศษ (specialty grade) โดยโรงงานนี้จะใช้เทคโนโลยีขั้นสูง advenced steam cracker สามารถนำ “น้ำมันดิบ” เป็นสารเข้ากระบวนการผลิต (feedstock) ได้โดยตรง (direct crude cracker) โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการกลั่นก่อน

“ตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงการตัดสินใจด้วยการพิจารณาจากความพร้อมและระยะเวลา เรายังไม่ได้ตัดสินใจ 100% ว่าจะมาตั้งโรงงานนี้ที่ประเทศไทย เพราะไทยยังติดปัญหาเรื่องสถานที่ก่อสร้างซึ่งยืดเยื้อมาถึง 2 ปีแล้ว เรามองไปที่จีนและเวียดนามด้วย โดยจีนก็มีความพร้อมระดับหนึ่ง ดังนั้นเราอาจมีการตัดสินใจไปลงทุนที่ประเทศอื่นก็ได้ ขึ้นอยู่กับผลการศึกษาความเป็นไปได้” ดร.อดิศักดิ์กล่าว

ด้านนางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้เริ่มทำการศึกษาพื้นที่การถมทะเล ตลอดบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และครอบคลุมไปถึงพื้นที่ใกล้เคียงทั้งหมด 3,000 ไร่แล้ว เพื่อรองรับโครงการลงทุนต่าง ๆ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) โดยพื้นที่ส่วนหนึ่งประมาณ 1,000 ไร่ เตรียมจะแบ่งให้โครงการปิโตรเคมีของบริษัทเอ็กซอนโมบิล คอร์ปอเรชั่น ผลการศึกษาคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้

ด้านแหล่งข่าวจากวงการปิโตรเคมีตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับโครงการปิโตรเคมีของเอ็กซอนฯว่า ดูเหมือนสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดน่าจะอยู่ที่สิงคโปร์ เนื่องจากเป็นฐานการผลิต-การกลั่นน้ำมันดิบที่สำคัญของเอ็กซอนฯอยู่แล้ว แต่การหาพื้นที่หรือการถมทะเลที่สิงคโปร์เป็นเรื่องยาก ต้นทุนสูง ดังนั้นจำเป็นต้องมองมาที่ประเทศไทย รวมถึงเวียดนาม หรือจีน โครงการนี้จะต้องนำเข้าวัตถุดิบเป็นน้ำมันดิบ เข้าโรง cracker แล้วผลิตเป็น PE หรือ PP ส่งออกไป ชุมชนรอบโรงงานอาจจะมีความกังวลเรื่องของสิ่งแวดล้อมด้วย “ตอนนี้น่าจะอยู่ที่ต้นทุนการผลิตที่ไหนต่ำกว่ากัน และรัฐบาลประเทศนั้น ๆ support เอ็กซอนฯมากน้อยแค่ไหนก็แข่งกันอยู่หลายประเทศ” แหล่งข่าวกล่าว