ศุภชัย เจียรวนนท์ 8 ยุทธศาสตร์ทรานส์ฟอร์มไทย ก้าวข้ามพายุเศรษฐกิจ

ภาวะเศรษฐกิจสโลว์ดาวน์จากสงครามการค้า และปัญหาต่าง ๆ ที่ถาโถม สร้างแรงกดดันให้ทุกภาคส่วนต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองเป็นประเด็นหลักในงานสัมมนา “THAILAND 2020 ก้าวข้ามพายุเศรษฐกิจ” ที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ จัดขึ้นในปีนี้ “นายศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวในหัวข้อ THAILAND 2020 โอกาสการค้า การลงทุน ว่า ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2020 ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว0.3% หรือขยายตัวเพียง 2.7% จาก 3.0%

โดยเฉพาะเศรษฐกิจภายในของสหรัฐอเมริกาปรับตัวลดลงมาก ขณะที่อินเดียและจีนยังขยายตัว 6-7% ถือว่าเติบโตมากที่สุดเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ส่วนไทยขยายตัว 2.8% ทำให้เศรษฐกิจฝั่งเอเชียเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้การประชุมอาเซียนซัมมิตที่ผ่านมามีความคึกคักอย่างมาก

ประเด็นสำคัญ ทุกประเทศต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในเมกะเทรนด์ใหญ่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือปี 2025 ใน 7 ด้าน ประกอบด้วย

1) digital connectivity & convergence การเชื่อมต่อด้านดิจิทัลซึ่งจะมีบทบาทต่อการลงทุนเมื่อมีการสื่อสารอย่างไร้พรมแดนและก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

2) infrastructure development การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างอิมแพ็กต์ต่อประเทศ

3) urbanization การพัฒนาเมืองใหม่ อย่างสมาร์ทซิตี้

4) health wellness well-being หรือการมีสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

5) bricks and click การขยับเข้าสู่ระบบคลาวด์ เทคโนโลยีมากขึ้น ๆ

6) social trend ซึ่งกำลังจะก้าวสู่สังคมสูงวัย

และ 7) new business model โมเดลธุรกิจใหม่ เช่น ดิจิทัลมีเดีย ออนไลน์แทรเวล และ ride hailing เป็นต้น กำลังเติบโตอย่างมาก

“เมกะเทรนด์สร้างทั้งโอกาสพร้อม ๆ กับสร้างวิกฤตหรือดิสรัปต์ให้เกิดขึ้นในขณะเดียวกัน แต่เราต้องปรับยุทธศาสตร์เพื่อให้ได้ประโยชน์จากเมกะเทรนด์ เช่น เรื่องดิจิทัลคอนเน็กทิวิตี้ ขณะนี้มีประชากร 5 พันล้านคน จาก 7 พันล้านคนใช้มือถือ ประชากร 4.4 พันล้านคนใช้อินเทอร์เน็ต แต่อีก 2-3 พันล้านคนยังไม่มี สะท้อนว่าระบบดิจิทัลอีโคโนมีถูกขับเคลื่อนจากฝั่งผู้บริโภคหากอุตสาหกรรมไม่ปรับก็จะไม่สามารถแข่งขันได้ มีคาดการณ์ความต้องการข้อมูล หรือ data consumption ของโลกถึงปี 2022 ว่า โดยเฉลี่ยเติบโต 26% ในเวลา 5-6 ปี โดยเฉพาะในประเทศเอเชีย-แปซิฟิก เติบโต 32% และไทยเป็นประเทศที่เติบโตเป็นอันดับ 2 โอกาสมาพร้อมกัน หากยิ่งมี 5G จะยิ่งทำให้ตัวเลขนี้เติบโตเร็วขึ้นอีก โดยคาดว่าถึงปี 2025 จะมีผู้ใช้ถึง 2,700 ล้านคน เป็นคนจีนถึง 1,000 ล้านคน และอนาคตเศรษฐกิจไร้พรมแดน หรือ internet economy เติบโตอย่างมากโดยเฉพาะในอาเซียน มูลค่า 240,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็นมูลค่ามหาศาลเทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของจีดีพีไทย เป็นโอกาสที่ดีเช่นกัน”

สำหรับการสร้างสาธารณูปโภค (infrastructure development) ไม่ใช่แค่รถไฟความเร็วสูง แต่ไทยต้องเน้นสิ่งที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีนัยสำคัญ เช่นที่ จีน สร้างเส้นทาง belt and road คาดว่าโอกาสในอีก 10 ปีจะเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก สร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค หรือ connectivity ส่วนการพัฒนาเมืองใหม่ (urbanization) เริ่มมองถึงการรวมกลุ่มเมือง “cluster” ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ และพัฒนาอินโนเวชั่นทำให้เกิดศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ การพัฒนาสมาร์ทซิตี้เกิดขึ้นทั่วโลก จะสร้างมูลค่าถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2020 แต่จะทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยและมีสมาร์ททุกด้านมากยิ่งขึ้น

ประเด็นเรื่องสุขภาพ kitchen of the world ทุกคนพูดถึงอาหารปลอดภัย ต้องมีการพัฒนาไปสู่อาหารที่ช่วยลดปัญหาสุขภาพเชื่อมโยงไปถึง “สังคมสูงวัย” ที่จะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจประเภทต่าง ๆ เช่น เนิร์สซิ่งโฮม รีไทร์เมนต์โฮมและธุรกิจด้านเฮลท์แคร์

ขณะที่การทรานส์ฟอร์มด้านการเกษตร ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทย แต่ไทยยังทำเกษตรเชิงเดี่ยว ประสบปัญหาเกษตรกรเริ่มสูงวัยมากขึ้น ต้องวางระบบพัฒนาภาคการผลิตสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมเลิกขายสินค้าคอมโมดิตี้ สร้างมูลค่า การทำสหกรณ์ หรือโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ (วิสาหกิจชุมชน) มุ่งเปลี่ยนผ่านด้านการเกษตรช่วยให้ไทยหลุดพ้นประเทศที่มีกับดักรายได้ปานกลางได้

นายศุภชัยให้ความเห็นถึงแนวทางในการทรานส์ฟอร์มไทยแลนด์ด้วย 8 ยุทธศาสตร์ที่สอดรับไปกับเมกะเทรนด์ ต้องตอบโจทย์เศรษฐกิจและกระตุ้นการลงทุน ประกอบด้วย 1.economic zoning

ต้องวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจตามพื้นที่โซนนิ่งเพื่อตอบโจทย์ด้านต่าง ๆ 2.infrastructure ส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการวางระบบชลประทานเพื่อเสริมภาคการเกษตรในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหาร และการลงทุน 5G ซึ่งจะช่วยให้การทรานส์ฟอร์มด้านอื่นทำได้เร็วยิ่งขึ้น

3.education innovation hub มุ่งพัฒนาการศึกษาและนวัตกรรม ส่งเสริมการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญา มุ่งให้ไทยเป็น tech hub ของอาเซียน เพราะปัจจุบันไทยยังมีจำนวนการจดคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเพียง 105 รายการ เทียบกับเกาหลีใต้ซึ่งมี 17,000 รายการ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลและระบบการศึกษาตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ

4.agriculture transformationเปลี่ยนผ่านเกษตรและอาหารแทนการเกษตรแบบเดิม

5.SMEs transformation ส่งเสริมการพัฒนาเอสเอ็มอีโดยการตั้งธนาคารพัฒนาเอเชีย เพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงในการลงทุนด้านเทคโนโลยีและเครื่องจักร เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน

6.tech startup ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยปรับระเบียบกฎหมายภาษี ซึ่ง 9 ใน 10 คนไทยจดทะเบียนที่สิงคโปร์ เพราะระบบภาษีทำให้ VC ไม่สามารถแข่งขันได้ ดังนั้น ต้องแก้ไขเพื่อดึงการลงทุนให้มากขึ้น

7.EEC ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงกาควิกวินของรัฐบาล สิ่งสำคัญคือความสามารถในการดึงผู้เล่นระดับโลกมาลงทุนได้หรือไม่ โดยจะเห็นว่าไทยเป็นอันดับสองเรื่องความต้องการบริโภคดาต้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แต่ดาต้าเซ็นเตอร์อยู่ที่สิงคโปร์ ไทยต้องดึงบริษัทใหญ่ (big boy) ด้านต่าง ๆ ย้ายฐานผลิตมาที่ EEC ให้ได้ด้วยการดำเนินมาตรการเชิงรุก หากสำเร็จจะช่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องและยังช่วยสร้างอาชีพได้หลักแสนคน

8.partnerships การพัฒนาพันธมิตรภาครัฐและเอกชนทุกด้านให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

ในช่วงท้าย นายศุภชัยให้แนวคิดว่า “ผู้ทำธุรกิจต้องตระหนักไม่ใช่ตระหนกแต่ต้องตื่นรู้ หมายถึง รู้ว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไร อย่างไร แม้ว่าเราจะไม่สามารถกำหนดรูปแบบการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ แต่หากเราปรับกรอบความคิดเราจะสามารถกำหนดอนาคตของเราได้”