คน.อัพโหลดค่าหมอ-บริการ ผู้ป่วยเฮปีหน้ารู้กันรพ.แห่งไหนเอาเปรียบ

ผู้ป่วยรอลุ้นต้นปี”63 “พาณิชย์” เตรียมอัพโหลดลิสต์ค่าบริการทางการแพทย์นำร่อง 200 รายการ ให้สามารถตรวจสอบราคาออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ได้ จากนั้นจะขยายครอบคลุม 5,286 รายการต่อไป

นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.)เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความคืบหน้าในการดำเนินมาตรการควบคุมค่าบริการทางแพทย์ว่า กรมการค้าภายในอยู่ระหว่างให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดทำรหัสค่าบริการทางการแพทย์มาตรฐานเดียวกัน นำร่อง จำนวน 200 รายการ ในประเภทที่ประชาชนใช้มากที่สุด เช่น ค่าหมอ ค่าบริการ ค่าผู้ป่วยนอก และจะนำไปเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลที่แต่ละโรงพยาบาลแจ้งเข้ามาเพื่อลดความซ้ำซ้อน เนื่องจากปัจจุบันบริการทางการแพทย์ไม่มีรหัสสากลเช่นเดียวกับค่ายา ซึ่งจะมีรหัสสากล (UCEP) จึงยากที่จะทำรายการเปรียบเทียบราคาระหว่างโรงพยาบาลได้

ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถจัดทำรายงานสรุปและเผยแพร่บนเว็บไซต์กรมการค้าภายในได้ภายในต้นปี 2563 หลังจากนั้นจะทยอยจัดทำให้ครอบคลุมจากทั้งหมด 5,286 รายการต่อไป

“รายการยาที่อยู่ในบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) ที่ดำเนินการแจ้งมาแล้ว 12,680 รายการ ผู้ป่วยสามารถดำเนินการค้นหาได้ รหัสโค้ดมาตรฐานระบบเดียวกันที่ใช้โดยทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนราคาเวชภัณฑ์ 868 รายการ ค่าบริการทางการแพทย์ 5,286 รายการนั้น ไม่มีรหัสที่ตายตัว หรือใช้รหัสเดียวกันในแต่ละรายการ หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาลก็มีรหัสเรียกที่ต่างกันในแต่ละประเภท ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะเทียบราคาได้ กรมจึงได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำโค้ดกลางเพื่อให้เปรียบเทียบราคาได้ ซึ่งเป็นบริการที่ไม่ซ้ำซ้อนเพื่อง่ายแก่การจัดทำ คาดว่า 2-3 เดือนน่าจะเห็นราคาเทียบได้ ส่วนที่จะดำเนินการจัดทำให้เป็นรหัสเดียวกันทั้งหมดจากข้อมูลทั้งหมดที่กรมมี อาจต้องใช้เวลานานถึง 6 ปี เพื่อจัดทำฐานข้อมูลให้เป็นระบบเดียวกัน ซึ่งทางกรมพร้อมจะเดินหน้าต่อไป เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยสามารถเข้ามาใช้บริการและเปรียบเทียบราคาได้”

ก่อนหน้านี้ กรมการค้าภายในได้จัดทำฐานข้อมูลออนไลน์ตรวจสอบรายการค่ายาและเวชภัณฑ์ขึ้นบนเว็บไซต์ www.dit.go.th เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถนำไปใช้เปรียบเทียบค่ายาว่าแต่ละโรงพยาบาลเอกชนจำหน่ายค่ายาเท่าไร เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาพยาบาลให้ผู้ป่วย รวมถึงกำหนดรายละเอียดค่ายาให้ชัดเจน และอนุญาตให้ผู้ป่วยสามารถขอใบสั่งยาออกไปซื้อยานอกโรงพยาบาลได้ ซึ่งนับตั้งแต่เปิดให้บริการบนเว็บไซต์เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยเข้าใช้บริการตรวจสอบค่ายาแล้ว 180,000 ราย

ส่วนจำนวนผู้ร้องเรียนปัญหาราคายาและเวชภัณฑ์มาที่ศูนย์บริการรับเรื่องร้องเรียนทั้งก่อนและหลังการประกาศขึ้นบัญชีควบคุมสินค้ายาและเวชภัณฑ์ มีประมาณ 20 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องร้องเรียนราคาแพง ซึ่งทุกเรื่องอยู่ระหว่างการสอบสวนและรวบรวมข้อมูล โดยในจำนวนนี้มี 2-3 คดีที่อยู่ในชั้นสอบสวนของตำรวจ หากมีมูลก็สามารถดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

นายประโยชน์กล่าวอีกว่า หลังจากที่กรมจัดกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนออกเป็น 3 กลุ่ม โดยในกลุ่มโรงพยาบาลที่จำหน่ายยาราคาไม่สูง มีจำนวน 164 โรงพยาบาลนั้น

ขณะนี้มีโรงพยาบาลต้องการให้พิจารณาให้เข้ามาอยู่ในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 3-4 โรงพยาบาล ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด สะท้อนว่าการดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายของกรมฯที่ต้องการให้โรงพยาบาลแข่งขันให้บริการ และกำหนดราคาที่เหมาะสม ส่วนการดำเนินการกับกลุ่มโรงพยาบาลที่จำหน่ายยาราคาสูงนั้น ทางกรมจะติดตามมอนิเตอร เพื่อทราบถึงปัญหาและวางแนวทางแก้ไขต่อไป


“กรมว่าจ้างให้คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาโครงสร้างต้นทุน กำไรขั้นต้น ปัจจัยพื้นฐานซึ่งมีผลทำให้แต่ละโรงพยาบาลกำหนดราคาจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งพบว่ามีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง โดยบางปัจจัยก็ไม่ใช่เหตุผลที่เหมาะสมจะนำมาใช้ในการคำนวณเพื่อกำหนดราคายา ทางกรมได้จัดทำรายการราคายา และจัดกลุ่มโรงพยาบาลเผยแพร่ออกไป เพื่อให้ประชาชนสามารถเลือกใช้บริการที่เหมาะสม”