ผุดปิโตรคอมเพล็กซ์ครบวงจร ปักธง “โอไฮโอ” บ้านใหม่พีทีทีจีซี

PTTGC เตรียมลงทุนสร้างบ้านแห่งที่สองปักหมุดสหรัฐ ผนึกกลุ่ม Daelim ยักษ์ก่อสร้างเกาหลี สร้างปิโตรคอมเพล็กซ์รัฐโอไฮโอ ตั้งโรงงานปิโตรเคมีผลิตเอทิลีนปีละ 1.5 ล้านตัน ใช้วัตถุดิบ “อีเทน” จากแหล่งเชลแก๊ส พร้อมดำเนินกลยุทธ์ 3 ขั้นตอน ตั้งเป้าปี 2023 สัดส่วนรายได้ต่างประเทศเพิ่ม 30%

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความคืบหน้าในโครงการปิโตรเคมีที่สหรัฐ หรือ U.S. Petrochemical Complex (Ethane Cracker) ที่มลรัฐโอไฮโอ ว่าได้จัดหาพื้นที่ตั้งโรงงานและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนงบประมาณการลงทุนทั้งหมด คาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงต้นปี 2563 หรือไม่เกินไตรมาสที่ 2 โดยเงินลงทุนจะมาจากเงินกู้และพันธมิตรเกาหลีส่วนหนึ่ง “บริษัทยังไม่มีแผนออกหุ้นกู้ระดมทุน”

ทั้งนี้ โรงงานปิโตรเคมีของ PTTGC America หรือ PTT Global Chemical จะตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 500 เอเคอร์ ที่เมืองนิวบอสทอม รัฐโอไฮโอ โครงการนี้จะเป็นการร่วมทุนระหว่าง PTTGC กับ Daelim Industrial Co.Ltd. กลุ่มบริษัทผู้นำด้านการก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีชั้นนำของเกาหลี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนา complex ปิโตรเคมี ในสัดส่วน 50:50 ตัวโรงงานจะตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำโอไฮโอ ใน Belmont County มีกำลังผลิตเอทิลีนปีละ 1.5 ล้านตัน แบ่งเป็น โพลีเอทิลีน ชนิด HDPE กับโมโนเอทิลีนไกลคอล MEG โดยใช้อีเทน (Ethane) จากแหล่ง Marcellus กับ Utica Shale Gas โดย PTTGC America ได้ใช้เงินลงทุนในการศึกษา-พัฒนาโครงการนี้ไปแล้วกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ

PTTGC ร่วมกับ Daelim ได้พัฒนาโครงการนี้ผ่านทางหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของรัฐโอไฮโอ ไม่ว่าจะเป็น Ohio”s Governor”s Office และ Jobs Ohio ทั้งในเรื่องของการหาสถานที่ตั้งโรงงาน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม จัดเป็นโครงการลงทุนโครงการใหญ่สุดของ PTTGC ในสหรัฐอเมริกา

“เป็นการลงทุนครั้งใหญ่ของเราที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่เราเลือกสหรัฐก็เพราะต้นทุนวัตถุดิบและตลาดที่อยู่รอบ ๆ โรงงาน เราใช้วัตถุดิบ (อีเทน) จากแหล่งเชลแก๊สมาแยกเป็นอีเทนคล้าย ๆ กับที่ทำในไทย จากปัจจุบันรอบ ๆ แหล่งมีโรงแยกก๊าซอยู่แล้วกว่า 30 โรง แยกได้อีเทนแล้วเผาทิ้งเป็นเชื้อเพลิง เราเห็นโอกาสตรงนี้เข้าไปลงทุนตั้งโรงปิโตรเคมีแล้วซื้ออีเทนจากโรงแยกมาใช้เป็นวัตถุดิบ ประกอบกับจุดนี้ถือเป็นตลาดสำคัญ มีบริษัทรถยนต์จากญี่ปุ่นและต่างชาติเข้าไปลงทุนจำนวนมาก จากเดิมที่โรงงานปิโตรเคมีของอเมริกาส่วนใหญ่จะอยู่ทางใต้ ใช้เวลาขนส่งมาขายที่นี่ 7 วัน แต่เมื่อ PTTGC ไปลงทุน เราได้เปรียบเพราะขนส่งเพียง 1 วัน การแข่งขันไม่สูงมาก โรงปิโตรเคมีของเราถือเป็นโรงงานแห่งที่ 2 หลังจากที่เชลล์สร้างไปก่อนหน้าเรา 1 ปี ผมมองว่าเราจะขายในตลาดสหรัฐเป็นหลัก แต่ช่วงแรกอาจจะมีการส่งออกบ้าง” ดร.คงกระพันกล่าว

อย่างไรก็ตาม การลงทุนก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีในสหรัฐถือเป็นการลงทุนในกลยุทธ์ step out เป็นจังหวะที่ดีในการเข้าไปลงทุน การควบรวม หรือการซื้อกิจการ (M&A) ในต่างประเทศ “PTTGC ต้องไปสร้างบ้านหลังใหม่เป็นแห่งที่ 2 (second home base) ซึ่งเราเลือกที่สหรัฐ เป็น 1 ในกลยุทธ์ 3 step ของเราคือ step change การเปลี่ยนเพื่อทำให้บ้านแข็งแรง step up การลงทุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และ step out การหาบ้านแห่งที่สอง ที่ผ่านมา PTTGC มีการลงทุนในสหรัฐไปแล้วกว่า 600 ล้านเหรียญ ทั้งในเนเจอร์เวิร์กผลิตไบโอพลาสติก PLA ใหญ่ที่สุดในโลก และมีเอเมอรี่ ซึ่งเป็นโอเลโอเคมิคอลอันดับต้น ๆ ของโลกจากกากไขมันพืช-สัตว์” นายคงกระพันกล่าว

ส่วนความคืบหน้าในการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งในขณะนี้ PTTGC น่าจะเป็นกลุ่มบริษัทที่เข้าไปลงทุนมากที่สุดด้วยมูลค่าโครงการกว่า 100,000 ล้านบาท ประกอบไปด้วย โครงการ Olefins Reconfiguration หรือ ORP มูลค่า 36,000 ล้านบาท ผลิตเอทิลีน 500,000 ตัน กับโพรพิลีน 250,000 ตัน คาดว่าจะดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ ไตรมาส 4/2562 โครงการ Propylene Oxide หรือ PO ผลิตโพรพิลีนออกไซด์ 200,000 ตัน/ปี กับโครงการ Polyols มูลค่าการลงทุน 34,000 ล้านบาท ผลิตโพลีเอเทอร์โพลีออลส์ 130,000 ตัน/ปี โพลิเมอร์โพลีออลส์ 30,000 ตัน/ปี และ premix 20,000 ตัน/ปี

คาดว่าทั้ง 2 โครงการจะดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 3/2562 ส่วนโครงการผลิตภัณฑ์วิศวกรรมชั้นสูง PA9T และ HSBC ร่วมทุนกับบริษัท คุราเร่ จีซี แอดวานซ์ แมททีเรียลส์ จำกัด มูลค่า 15,000 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2565 และ PTTGC ยังมีโครงการที่อยู่ในไลน์ก่อสร้างอีก 50,000-60,000 ล้านบาท

“ตามแผน 5 ปี จะมีงบลงทุนประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งการดำเนินการตามกลยุทธ์ทั้ง 3 กลยุทธ์ ที่เราวางเอาไว้ในปี 2030 จะมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนประเภทธุรกิจ (business portfolio) เป็นปิโตรเคมี chemical base 70% จากปัจจุบันที่ 90% และธุรกิจกลุ่ม performance and green chemical 30% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 10% ขณะเดียวกันจะทำให้สัดส่วนรายได้เปลี่ยนไปด้วย เป็นในไทย 70% และ 30% จากต่างประเทศ จากปัจจุบันที่เรามีรายได้จากต่างประเทศค่อนข้างน้อย”