บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ ส่งไม้ต่อ “ยุทธศาสตร์ธุรกิจบริการ”

สัมภาษณ์

ในปี 2558 ไทยมีรายได้จากภาคบริการอยู่ในอันดับที่ 21 ขององค์การการค้าโลก (WTO) ปี 2559 ขยับขึ้นมาอันดับ 11 เพราะรวมบริการด้านการท่องเที่ยวเข้าไป จึงทำให้รายได้จากการส่งออกบริการของไทยก้าวกระโดด หากเทียบในอาเซียนอย่างมาเลเซียที่อยู่อันดับ 18 และสิงคโปร์อยู่อันดับ 6 ดังนั้น ภารกิจส่งเสริมธุรกิจบริการ จึงเป็นเป้าหมายหลักที่กระทรวงพาณิชย์พยายามผลักดันให้สำเร็จ โดย “บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์” อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดโอกาสให้ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ถึงแนวทางการจัดทำ “ยุทธศาสตร์บริการ” ก่อนที่จะก้าวขึ้นไปรับตำแหน่ง “รองปลัดกระทรวงพาณิชย์” ในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ว่า

Q : ที่มายุทธศาสตร์บริการ

ที่ผ่านมาจะมองว่าไทยเก่งสาขาอะไร เช่น เก่งท่องเที่ยวก็เน้นไปที่ด้านนั้น แต่ไม่ได้มองด้าน “ซัพพลายไซด์” ทั้งหมดว่า จำนวนธุรกิจบริการที่มีในไทยเป็นอย่างไร การจัดทำยุทธศาสตร์บริการครั้งนี้กรมมองว่าจีดีพีของไทยเกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการใด เท่าไร โดยอาศัยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานสถิติแห่งชาติ และฐานข้อมูลนิติบุคคลของกรม และดึงธุรกิจบริการที่จดทะเบียนนิติบุคคลสูงสุด 15 รายการออกมา ได้แก่ 1) การขายส่ง-ปลีกและการซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ 2) การก่อสร้าง 3) กิจกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ 4) กิจกรรมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ 5) กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุนการท่องเที่ยว เป็นต้น

Q : แยกกลุ่มบริการ Traditional และ New S-Curve

เราพบข้อสังเกตว่าธุรกิจบริการค้าส่งค้าปลีก มีจำนวนการจัดตั้งนิติบุคคลสูงสุดอันดับ 1 จำนวน 220,886 ราย กลับมีรายได้ในการจดทะเบียน 1.89 ล้านบาท จัดเป็นอันดับ 3 ขณะที่ธุรกิจบริการด้านการเงินและการประกันภัย มีจำนวนการจดทะเบียนนิติบุคคลเป็นอันดับ 11 มีจำนวน 5,739 ราย มียอดทุนจดทะเบียนเป็นอันดับ 1 มูลค่า 2.34 ล้านบาท ดังนั้น หากจะพัฒนาธุรกิจบริการต้องเน้นธุรกิจที่กระตุ้นให้เกิดรายได้และมูลค่าจริง ๆ ในประเทศมากที่สุด

กรมได้จัดกลุ่มธุรกิจบริการออกเป็นธุรกิจบริการดั่งเดิม (Traditional Service) ที่คนในประเทศทำสร้างรายได้ในประเทศ เช่น ธุรกิจค้าปลีก ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุน กรมมีนโยบายต่อยอดโชห่วยเชื่อมโยงกับไปรษณีย์ทำอูเล่โมเดล รายใดมีศักยภาพก็สนับสนุนให้ไปลงทุนในต่างประเทศ

อีกกลุ่มเป็นธุรกิจบริการสมัยใหม่ (New S-Curve) เช่น ธุรกิจซ่อมยานยนต์ หากมีการลงทุนยานยนต์แห่งอนาคต กลุ่มนี้ต้องขยายไปสู่การซ่อมหุ่นยนต์ ซ่อมอากาศยานไร้คนขับ ซึ่งขณะนี้ขาดแรงงานที่มีทักษะวิชาชีพ

นอกจากนี้มีธุรกิจดิจิทัล ธุรกิจสิ่งแวดล้อม ซึ่งการสนับสนุนกลุ่มนี้ต้องไปอีกขั้น และต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากล่าช้าจะทำให้แรงงานไม่ทันรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่กำลังเกิดขึ้น

Q : สเต็ปพัฒนาธุรกิจบริการ

เริ่มจาก “ตัวผู้ให้บริการ” หรือ Service Provider หรือเรียกว่า “นักรบบริการ 4.0” หรือ Service 4.0 Warrior ซึ่งต้องมีมาตรฐานเท่ากันทั่วประเทศ และต้องลงไปดูในแต่ละจังหวัดมีจุดแข็งอะไร กรมพยายามจะจัดคู่ธุรกิจและกำหนดแผนทีใ่นการสนับสนุนธุรกิจ บริการลงไปในแต่ละพื้นที่มากขึ้น เพื่อสร้างจำนวนนักรบให้เหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่น

หลังจากนั้นจะนำนวัตกรรมไปต่อ ยอดบริการ ก่อนส่งเสริมให้เป็นประเทศ Trading Nation ขยายธุรกิจออกไปสู่โลก แล้วจึงมาแก้ไขกฎระเบียบ/กฎหมายที่เกี่ยวข้อง อะไรจำเป็นต้องมีหรือต้องยกเครื่องหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้เชื่อมโยงกับการสร้าง Strategic Partnership ถ้าหากไทยไปเจรจาต้องการเปิดเสรีธุรกิจบริการอะไรอย่างไร หากทำสำเร็จจะทำให้การเจรจาการค้าสมดุลทั้งด้านการค้าและด้านบริการ การจะทำเช่นนั้นได้เราต้องมีนักรบที่พร้อมแล้ว

Q : จัดทำ “สำมะโนธุรกิจบริการ”

ข้อมูลที่สรุปออกมามีเฉพาะของกระทรวงพาณิชย์ อาจมีธุรกิจบริการอื่นไม่ได้มาจดทะเบียน หรือจดทะเบียนกว้าง ๆ ครอบคลุมวัตถุประสงค์ทั้งหมด ทำให้ไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริงว่าประกอบธุรกิจอะไร ดังนั้น ควรมีการจัดทำสำมะโนธุรกิจบริการ หากต้องการกำหนดยุทธศาสตร์บริการ ต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน รู้เป้าหมายการส่งออกบริการเป็นอย่างไร ขณะนี้ไม่รู้ใครดูแลเป็นเจ้าภาพ เพราะเกี่ยวข้องกับทุกกระทรวง แต่ข้อมูลที่รวบรวมเดิมจะเกี่ยวกับแผนการทำงานของหน่วยงานนั้น ๆ ไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมด ไม่เหมือนการทำสำมะโนอุตสาหกรรมที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมจ้างสำนักงานสถิติแห่งชาติจัดทำอย่างจริงจัง

Q : ความจำเป็นที่ต้องทำยุทธศาสตร์บริการ

เมื่อไม่มีข้อมูลชัดเจน รัฐบาลไม่สามารถส่งเสริมธุรกิจบริการได้ตรงจุด ปัจจุบันมีมาตรการส่งเสริมให้นำแรงงานวิชาชีพเข้ามาในอุตสาหกรรม แม้มีหลักสูตรในสถาบันการศึกษาแต่มักมีปัญหา เช่น หลักสูตรไม่ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การส่งเสริมธุรกิจบริการเกี่ยวข้องกับคน เช่น การเจรจาการค้าการเปิดเสรีภาคบริการ โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายแรงงานเป็น 1 ใน 4 โหมดที่ต้องมีการเจรจากัน ไทยไม่มีเจ้าภาพ เวลาไปเจรจาต้องแยกถามทีละหน่วยงานขาดการกำหนดท่าทีภาพรวมในอุตสาหกรรมบริการ เรื่องนี้จึงถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0

Q : ขั้นตอนการยกร่างยุทธศาสตร์บริการ


หลังจากทำร่างยุทธศาสตร์แล้ว ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จากนั้นคงมีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ้าจะของบฯ ต้องดูในเชิงบูรณาการ เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน คิดว่าควรจะมีคณะกรรมการชุดใหญ่ เพื่อดูภาพรวมทั้งหมด ที่สำคัญกระทรวงพาณิชย์เริ่มเสนอเรื่องนี้ เพราะเห็นโอกาสในการขยายตลาด แต่จะเกิดขึ้นได้ต้องมีการพัฒนาซัพพลายไซด์ทั้งหมด ซึ่งไม่ได้อยู่ในความดูแลของกระทรวงพาณิชย์เพียงหน่วยงานเดียวต้องบูรณาการทุกส่วน แต่หากทำสำเร็จยุทธศาสตร์นี้จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจบริการของอาเซียน เพิ่มรายได้ภาคบริการกระจายสู่ท้องถิ่น