ปตท.สผ.ลุย “โมซัมบิกโรวูมา” ทุ่ม1.8 พันล้านเหรียญพัฒนาแหล่งก๊าซ

ปตท.สผ.เลื่อนเคาะลงทุนขั้นสุดท้ายโปรเจ็กต์โมซัมบิก โรวูมาฯ เฟสแรก มูลค่า 1,800 ล้านเหรียญ เป็นปี”62 รอรัฐบาลโมซัมบิกไฟเขียวให้บริหารจัดการท่าเรือและอื่น ๆ และเจรจาซื้อขายก๊าซให้จบ ด้านแหล่งแคสเมเปิลในออสตราเลเซีย แหล่งอุบลอ่าวไทย อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบพัฒนาด้วยต้นทุนเหมาะสม และโปรเจ็กต์ในแอลจีเรียจ่อยื่นแผนผลิตเพิ่มหลังสำรวจพบมีศักยภาพ

นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความคืบหน้าการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในต่างประเทศว่า สำหรับโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน จากเดิมที่คาดว่าจะสามารถสรุปโครงการและตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ภายในปีนี้ ล่าสุดยังมีอีกหลายขั้นตอนต้องดำเนินการ จึงคาดว่าจะเลื่อนไปเป็นภายในปี 2562 แทน ด้วยเหตุผล 1) รอการอนุมัติจากรัฐบาลโมซัมบิก ในการให้สัมปทานการบริหารจัดการทางทะเลและท่าเรือ หรือ Marine Concession 2) เจรจากับผู้รับสัมปทานในแปลงปิโตรเลียมที่อยู่ใกล้กัน เพื่อใช้ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ร่วมกัน 3) พื้นที่ตั้งโครงการมีประชาชนบางส่วนอาศัยอยู่ จำเป็นต้องเคลื่อนย้าย และสร้างเมืองใหม่ให้อยู่อาศัยอย่างถูกต้องและเป็นธรรม และ 4) เจรจาซื้อขายก๊าซกับลูกค้าให้แล้วเสร็จ โดยเฉพาะที่มีข้อตกลงเบื้องต้น หรือ (Head Of Agreement-HOA) เอาไว้แล้ว เมื่อดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวแล้ว ต้องนำรายละเอียดทั้งหมดหารือกับสถาบันการเงินเพื่อพิจารณาเงินกู้

สำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาแหล่งโมซัมบิก โรวูมาฯ ตามแผนที่กำหนดไว้ แหล่งปิโตรเลียมดังกล่าวค่อนข้างมีศักยภาพสูงมาก ภายหลังจากที่ได้สำรวจเบื้องต้นพบว่ามีปริมาณสำรองก๊าซสูงถึง 70 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต (เทียบกับปริมาณสำรองก๊าซในอ่าวไทยอยู่ที่ 7-10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตเท่านั้น) ซึ่งถือเป็นแหล่งที่มีขนาดใหญ่ และจากปริมาณก๊าซดังกล่าวจะสามารถพัฒนาก๊าซขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ถึง 4 เฟส โดยเฟสแรกคาดว่าจะใช้เงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ ปตท.สผ.ถือหุ้นในโครงการดังกล่าวที่ร้อยละ 8.5 เท่ากับว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น

“เท่ากับว่าเราช้าจากแผนประมาณ 2 ปี แต่โมซัมบิก โรวูมาฯ เป็นโครงการใหญ่ แต่ถ้าเทียบจากสัดส่วนการถือหุ้น (Equity) แล้วโครงการซอติก้า ในประเทศเมียนมา ของเราใหญ่กว่า เพราะ ปตท.สผ.มีสัดส่วนการลงทุนสูงถึง 80% โดยบริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ถามว่าจุดขายของแหล่งโมซัมบิก โรวูมาฯ คืออะไร ถ้าในเฟสแรกประสบความสำเร็จ เท่ากับว่าโครงการนี้จะกลายเป็น Security of Supply และที่ได้ความรู้ใหม่ คือ ปัจจุบันในหลายประเทศที่นำเข้าพลังงานได้พยายามกระจายแหล่งก๊าซ หรือ diversify source เพื่อลดความเสี่ยงจากการซื้อก๊าซจากเพียงแหล่งใดแหล่งหนึ่งเท่านั้น เช่น ประเทศญี่ปุ่น นั่นหมายถึงว่า ลูกค้าจะให้ความสนใจในแหล่งนี้ด้วย”

นายสมพรกล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าการลงทุนในแหล่งอื่น ๆ คือ แหล่งแคสเมเปิล (Cash Maple) ในประเทศออสตราเลเซีย อยู่ในระหว่างพิจารณารูปแบบการพัฒนาเพื่อให้ได้ต้นทุนที่เหมาะสมที่สุด เช่น อาจจะพัฒนารูปแบบเรือผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว (FLNG) ที่ได้เริ่มต้นศึกษาไว้ก่อนหน้านี้อาจจะยังไม่คุ้มค่าการลงทุน ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาถึงทิศทางของตลาดและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงได้หรือไม่ รวมถึงอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทที่ต้องการก๊าซ และอยู่ระหว่างเปรียบเทียบราคาก๊าซแหล่งอื่น ๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม การพิจารณาของ ปตท.ขึ้นอยู่กับว่าราคาเหมาะสมและสามารถแข่งขันในตลาดได้

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาโครงการในประเทศแอลจีเรีย ที่มีอยู่ 2 โครงการ คือ แอลจีเรีย 433 A และ 416 B โดยโครงการแรกถือหุ้นโดยบริษัท พีทีทีอีพี แอลจีเรีย จำกัด (PTTEPAG) อยู่ที่ร้อยละ 35 เริ่มผลิตแล้ว มีกำลังผลิตน้ำมันดิบอยู่ที่ 15,000 บาร์เรล/วัน และกำลังอยู่ระหว่างเพิ่มกำลังผลิตเป็น 20,000 บาร์เรล/วัน รวมถึงกำลังพยายามเร่งรัดให้มีการพัฒนาโครงการที่ 2 เพราะภายหลังจากสำรวจเบื้องต้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ถือว่าศักยภาพปิโตรเลียมค่อนข้างดี เพราะฉะนั้น ในเร็ว ๆ นี้จะยื่นแผนพัฒนาแหล่งดังกล่าวกับทางรัฐบาลแอลจีเรียต่อไป

นายสมพรกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมีแหล่งปิโตรเลียมในประเทศแหล่งใหม่ คือ แหล่งอุบล ในพื้นที่อ่าวไทย ซึ่ง ปตท.สผ.เข้าไปถือหุ้นแหล่งดังกล่าว ประมาณร้อยละ 60 โดยมีบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาในรายละเอียดต้นทุนการพัฒนาเป็นอย่างไร และจะคุ้มค่าลงทุนหรือไม่ เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกขณะนี้ ยังมีราคาเฉลี่ยค่อนข้างต่ำที่ 45-50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลเท่านั้น ทั้งนี้ คาดว่าขนาดของแหล่งอุบลในเบื้องต้นจะมีศักยภาพอยู่ที่ 20,000-35,000 บาร์เรล/วัน เท่ากับว่าไม่ใช่แหล่งใหญ่มากพอที่จะเร่งพัฒนา แต่ในกรณีที่ราคาน้ำมันอยู่ที่ประมาณ 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อาจจะอยู่ในวิสัยที่จะพัฒนาได้