“บิ๊กฉัตร” มั่นใจระบบตรวจสอบย้อนกลับสมบูรณ์เกิน 50% เตรียมรับอียูบินตรวจเข้มทั้งระบบ ต.ค.นี้

“บิ๊กฉัตร” มั่นใจระบบตรวจสอบย้อนกลับสมบูรณ์เกิน 50% เตรียมรับอียูบินตรวจเข้มทั้งระบบ ต.ค.นี้ พร้อมเร่งขจัดเรือกลุ่มสีเทาออกจากประเทศไทย

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในช่วงปลายเดือน ต.ค.60 กรรมมาธิการยุโรปด้านประมงและทะเล (DG MARE) ของสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งจะเดินทางมาประเทศไทยประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อตรวจสอบการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) โดยเฉพาะระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยดำเนินการแล้วมากกว่า 50% โดยมีกรมประมงเป็นหน่วยงานหลัก และมีหน่วยงานอื่นๆ ช่วยกันสนับสนุน อาทิ ท่าขึ้นปลา ก็จะมีทั้งขององค์การสะพานปลา (อสป.) กรมเจ้าท่า ช่วยกันดูแล

“ปัจจุบันเรื่องระบบตรวจสอบย้อนกลับ ประเทศไทยได้ดำเนินการตามมาตรฐานที่ไทยได้วางแผนไว้ โดยมีการเข้มงวดตั้งแต่ท่าเรือ การนำเข้า ควบคุมปริมาณนำเข้า และการแปรรูปส่งออกทั้งกระบวนการ นอกจากนี้ไทยยังจะพัฒนากระบวนการแก้ไขปัญหาประมงของไทยให้เทียบเคียงกับหลายประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ เป็นต้น เพื่อให้กระบวนการที่ทำไว้เป็นมาตรฐานเดียวกัน”

รายงานข่าวจากกรมประมง เปิดเผยว่า นอกจากระบบตรวจสอบย้อนกลับ อียูจะเข้ามาตรวจเรื่องเรือกลุ่มสีเทา (Gray Area) ที่ทางอียูต้องการให้หมดไปจากประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่จำนวน 433 ลำ แบ่งออกเป็น 1.เรือประมงขนาดใหญ่ตั้งแต่ 150 ตันกรอสขึ้นไป จำนวน 196 ลำ ซึ่งถูกถอนทะเบียนเมื่อเดือน พ.ค. 2558 และเรือที่ถูกขายไปยังประเทศกัมพูชา จำนวน 237 ลำ ซึ่งเกิดปัญหาเรือไม่เปลี่ยนธงชาติ และไม่เปลี่ยนสีเรือ โดยทางประเทศไทยต้องให้คำตอบกับอียูว่า เรือออกไปจากประเทศไทยจริงแล้วหรือไม่ อาทิ เปลี่ยนธงเรือไปเป็นกัมพูชาแล้วกี่ลำ เจ้าของเดิมที่ขายเรือมีสัญญาซื้อขายหรือไม่ เป็นต้น เพื่อให้มั่นใจว่าเรือกลุ่มนี้ได้ออกไปจากการเป็นเรือสัญชาติไทยแล้ว โดยขณะนี้กรมเจ้าท่ากำลังดำเนินการติดตามตามอยู่

สำหรับเรื่องที่อียูให้ข้อเสนอแนะต่างๆ ไว้ (Observation Note) และต้องการให้ไทยแก้ไขปัญหาหรือปรับปรุง ได้แก่ เรื่องสินค้าประมงที่เข้ามาในประเทศไทยโดยเฉพาะปลานำเข้า การันตีไม่ได้ว่ามาจากการจับปลาที่ถูกกฎหมายหรือไม่ และสินค้าบางส่วนที่ไม่ได้ส่งไปยังอียู ทางประเทศไทยไม่ได้มีเกณฑ์ตรวจสอบที่ชัดเจน ดังนั้นสิ่งที่ไทยต้องชี้แจง คือ ขณะที่นำปลาขึ้นที่ท่าเรือต่างๆ เจ้าหน้าที่ของไทยตรวจเอกสารอะไรบ้าง อาทิ มีเอกสารที่ไม่ใช่ใบรับรองการจับสัตว์น้ำของอียู (EU Catch Certificate) หรือไม่ที่สามารถยืนยันได้ มีการขอดูสมุดบันทึกการทำประมง (fishing logbook) ของเรือที่จับหรือไม่ เพื่อตรวจสอบว่าปลานั้นมาจากการทำการประมงที่ถูกกฎหมาย เป็นต้น โดยทางอียูอยากให้ประเทศไทยมีเกณฑ์กำกับของตนเองเพื่อตรวจสอบ และไม่อยากให้ใช้กฎระเบียบอียูเพียงอย่างเดียว

ขณะที่เรื่องการตรวจน้ำหนักสัตว์น้ำขึ้นท่า อาทิ ท่าเรือกรุงเทพ สงขลา ภูเก็ต ระนอง ลาดกระบัง เป็นต้น ทางอียูพบว่าน้ำหนักสัตว์น้ำไม่ตรงกับสมุดบันทึกการทำประมง (Logbook) หลายครั้ง ดังนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสินค้าร่วมกับเอกสาร สินค้านั้นต้องเป็นสิ่งเดียวกันตามในเอกสาร รวมถึงสินค้านำเข้าผ่านทางตู้คอนเทรนเนอร์จะต้องถูกตรวจสอบเช่นดียวกับสินค้าจากเรือ bulk หรือเรือบรรทุกสินค้า เนื่องจากที่ผ่านมาทางกรมประมงไม่ได้เข้มงวด เพราะเห็นว่าตู้คอนเทรนเนอร์ไม่ได้ขนถ่ายสินค้าทางทะเล แต่สินค้ามาจากเมืองท่าซึ่งอยู่บนฝั่ง

สำหรับเรื่องการออกฎหมาย ขณะนี้ไทยได้ร่างกฎหมายลำดับรองตามพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)การประมง พ.ศ.2558 แล้วทั้งสิ้น 22 เรื่อง แบ่งเป็น ร่างกฎหมายที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน 8 เรื่อง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนก.ย. อาทิ การกำหนดขนาดเรือขนถ่ายสัตว์น้ำโดยเจ้าของเรือต้องติดระบบติดตามเรือ (VMS) การกำหนดให้มีผู้สังเกตการณ์ประจำเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ เป็นต้น และกฎหมายที่ต้องดำเนินการ 14 ฉบับ อาทิ ปรับปรุงการโอนใบอนุญาตทำการประมงของประมงพาณิชย์ กำหนดรายชื่อสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้าส่งออก เป็นต้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนดำเนินการเพื่อออกกฎกระทรวงและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่มเติม

นอกจากนี้อียูยังขอให้กรมประมงสรุปความก้าวหน้าของระบบตรวจสอบย้อนกลับ และกฎหมายลำดับรองต่างๆ ที่ประเทศไทยทำตามพ.ร.ก. การประมง พ.ศ.2558 ส่งให้อียูก่อน 2 สัปดาห์ที่อียูจะเดินทางมาตรวจสอบยังประเทศไทย เพื่อให้การพิจาณาในเรื่องต่างๆ ง่ายขึ้น