ไฟเขียวตั้งรง.น้ำตาลโรงที่57 “นิวกว้างสุ้นหลี”สระแก้วพื้นที่ฮาลาลปาร์ก

น้ำตาลขอนแก่นเดินหน้าตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่สระแก้ว หลังต่อสู้ยืดเยื้อยาวนานกับกระทรวงอุตสาหกรรม จนศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ตั้งโรงงานได้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว แต่ต้องทบทวนโครงการลงทุนใน “ฮาลาลปาร์ก” ใหม่ เฟสแรกทำเฉพาะโรงงานน้ำตาลกับโรงไฟฟ้าชีวมวล เงินลงทุน 30,000 ล้านก่อน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรม “ปลดล็อก” โรงงานน้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี บริษัทลูกของบริษัทน้ำตาลขอนแก่น สามารถตั้งโรงงานน้ำตาลที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วได้แล้ว หลังจากที่การตั้งโรงงานแห่งนี้ได้ทำการศึกษาโครงการ การยื่นเรื่องขออนุญาตตั้งโรงงานมาตั้งแต่ปี 2552 โดยบริษัทเตรียมยื่นรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การขอใบอนุญาต รง.3 ด้วยเงินลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท และพร้อมที่จะลงเสาเข็มทันทีในราวปี 2564

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาอนุมัติคำขอให้กับบริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด ซึ่งอยู่ในกลุ่มบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL สามารถตั้งโรงงานน้ำตาลที่ จ.สระแก้วได้

โดยศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาเห็นว่า KSL ได้ยื่นคำขอตั้งโรงงานมาตั้งแต่ปี 2552 ก่อนที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2558 ลงวันที่ 17 ส.ค. 2558 ต้องมีเขตโรงงานน้ำตาลที่มีระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่อนุญาตไว้แล้วไม่น้อยกว่า 50 กิโลเมตร โดยการวัดระยะเป็นเชิงเส้นตรง ไม่ว่าจะเป็นท้องที่ในจังหวัดเดียวกันหรือไม่ก็ตาม ส่งผลให้มีโรงงานน้ำตาลในประเทศทั้งหมดรวม 57 แห่ง และจะมีการเปิดหีบฤดูการผลิตอ้อยปี 2562/2563 ก่อนในจำนวน 55 โรงงาน ทาง สอน.คาดการณ์ปริมาณอ้อยอยู่ที่ 110 ล้านตัน

ด้านนายชลัช ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การดำเนินงานต่อหลังจากนี้บริษัทจะต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อยื่นขอใบอนุญาต รง.3 จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) คาดว่าจะใช้เวลาทำ EIA ประมาณ 1 ปี และจะเริ่มลงทุนก่อสร้างโรงงานน้ำตาลได้ภายในปี 2564 ด้วยเงินลงทุนระหว่าง 15,000-30,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นต้องปรับแผนการลงทุนเล็กน้อยเพื่อให้ครอบคลุมทุกด้าน เนื่องจากการทำ EIA จะมีความยากมากขึ้น จำเป็นต้องอัพเดตสถานะของโครงการใหม่ โดยโครงการใดที่เหมาะสมก็ขึ้นก่อน ยกตัวอย่าง เฟสแรก การตั้งโรงงานน้ำตาลขนาดกำลังการผลิต 35,000 ตัน/วัน จำเป็นต้องดำเนินการก่อน ตามมาด้วยโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 90 เมกะวัตต์ (MW) รวมถึงแผนในการดำเนินการโครงการอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล

“ส่วนโครงการก่อสร้างโรงงานเอทานอล อุตสาหกรรมไบโอพลาสติก ยังต้องใช้เวลา เพราะขณะนี้แม้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้อุตสาหกรรม bioeconomy แต่ผมคิดว่ามันยังไม่ตรงจุดเพราะความสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ก็คือ การมีตลาดความต้องการ ใช่หรือไม่” นายชลัชกล่าว

ทั้งนี้ บริษัทน้ำตาลขอนแก่นได้วางแผนการดำเนินการในโครงการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและฮาลาลปาร์ก บนเนื้อที่ 2,000 ไร่ จากการศึกษาใช้เวลานานถึง 8 ปี โดยได้วางแผนการดำเนินงานไว้ 3 เฟส ประกอบไปด้วย เฟสที่ 1 ลงทุนก่อสร้างโรงงานน้ำตาลกำลังการผลิต 35,000 ตัน/วัน กับโรงงานผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ขนาด 90 MW ภายใน 3-5 ปี เฟสที่ 2 การลงทุนทำโรงงานเอทานอลขนาดกำลังผลิต 200,000 ลิตร/วัน กับโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ ภายใน 5-7 ปี และเฟสที่ 3 ลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องประเภทไบโอพลาสติก-ไบโอเคมี เชื่อมโยงนิคมอาหารฮาลาล อุตสาหกรรมขนมหวาน แปรรูปผักและผลไม้ เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์จากนม น้ำสมุนไพร ภายใน 10 ปี โดยคาดว่าจะมีพันธมิตรมาร่วมในเขตประกอบการดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 10 โรง

ที่ผ่านมาบริษัทได้เตรียมความพร้อมให้กับชาวไร่อ้อยด้วยการให้ความรู้เรื่องวิธีการปลูกอ้อยอินทรีย์ การใช้ปุ๋ย การดูแลดิน โดยเลือกพื้นที่ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว แต่ผลการศึกษาพบว่า แหล่งน้ำไม่เพียงพอจึงย้ายโครงการมาตั้งที่ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ในพื้นที่ 1,500 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ)