สภาเศรษฐกิจโลกชี้ 10 ความเสี่ยงทุบเศรษฐกิจเดี้ยง หนี้สาธารณะโลกพุ่ง 225%

สภาเศรษฐกิจโลกประเมิน 10 ความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจระดับภูมิภาคปี’19 ห่วงหนี้สาธารณะโลกพุ่ง 225% ขณะที่ไทยเผชิญ 5 เรื่องเสี่ยง แนะเร่งนโยบายการค้าโปรแอคทีฟ

ผู้สื่อข่าว ”ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ศึกษารายงานเรื่อง “ความเสี่ยงระดับภูมิภาคในการประกอบธุรกิจ (Regional Risk of Doing Business 2019) ที่จัดทำโดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เกี่ยวกับข้อมูลการจัดอันดับความเสี่ยงในการทำธุรกิจของภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก

จากรายงานการศึกษาดังกล่าวพบว่า เศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบางอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 2
ปี 2562 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด 7 อันดับแรกของโลก ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เยอรมัน สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และอินเดีย ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตรวมคิดเป็นร้อยละ 60 ของการผลิตโลกมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 รวมทั้งหนี้สาธารณะโดยรวมเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดที่ร้อยละ 225 ของ GDP โลก ปัจจัยดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของภาคการเงินสาธารณะในทุกภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลเกี่ยวเนื่องต่อความเสี่ยงในด้านอื่น อาทิ การจ้างงาน การจัดสวัสดิการของภาครัฐแก่ประชาชน และราคาพลังงาน เป็นต้น

ในปี 2562 คาดการณ์ว่าโลกจะมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับการพัฒนาในระดับภูมิภาคและระดับโลกในวงกว้าง ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ภัยคุกคามที่มีความหลากหลาย และความเสี่ยงต่างๆ จะทำให้แต่ละภูมิภาคมีความจำเป็นต้องร่วมมือกันเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ซึ่งการแก้ปัญหาด้วยความร่วมมือกันในระดับภูมิภาคจะสามารถดำเนินการในมุมมองที่แตกต่างและเติมเต็มการแก้ปัญหาที่เดิมไม่สามารถแก้ไขได้

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ได้จัดอันดับความเสี่ยงในการทำธุรกิจทั่วโลกปี 2562 นี้ 10 อันดับแรก ได้แก่ 1) วิกฤติทางการเงิน 2) การโจมตีทางไซเบอร์ 3) ภาวะการว่างงาน 4) วิกฤตราคาพลังงาน 5) ความล้มเหลวของรัฐบาล 6) ความวุ่นวายทางสังคม 7) การโจรกรรมข้อมูล 8) ความขัดแย้งระหว่างรัฐ 9) การขาดโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 10) เศรษฐกิจฟองสบู่

สำหรับความเสี่ยงในการทำธุรกิจสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกนั้น แบ่งได้เป็น 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเทคโนโลยี ด้านภูมิรัฐศาสตร์ และด้านเศรษฐกิจ โดยสรุป 10 อันดับความเสี่ยงในการทำธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ได้แก่ 1) ภัยธรรมชาติ 2) การโจมตีทางไซเบอร์ 3) ความขัดแย้งระหว่างรัฐ 4) วิกฤตการณ์ทางการเงิน 5) เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่รุนแรง 6) เศรษฐกิจฟองสบู่ 7) การโจรกรรมข้อมูล 8) วิกฤตราคาพลังงาน 9) ภาวการณ์ว่างงาน 10) ความล้มเหลวของรัฐบาล

นางสาวพิมพ์ชนกได้กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการศึกษายังพบว่า ความเสี่ยงในการทำธุรกิจในประเทศไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) เศรษฐกิจฟองสบู่ 2) ความล้มเหลวของรัฐบาล 3) การโจมตีทางไซเบอร์ 4) ภัยพิบัติทางธรรมชาติและโดยมนุษย์ และ 5) ความไม่มั่นคงทางสังคม ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรมีการศึกษาเชิงลึกเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการด้านการค้าและการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการต่างประเทศ รวมทั้งหาทางแนวทางและมาตรการป้องกันและรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมด้วย


“สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าจะดำเนินการการติดตามรายงานผลสำรวจ การจัดอันดับและการศึกษาต่างๆ ขององค์กรที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก อาทิ ธนาคารโลก และสภาเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประเด็นทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทย ซึ่งนับเป็นหน้าที่สำคัญของสำนักงานฯ ที่จะสนับสนุนข้อมูลและให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการ ให้ตระหนักถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีความเชื่อมโยงและเกี่ยวเนื่องกัน เพื่อส่งเสริมการค้าเชิงรุก (proactive strategy) ให้สามารถขยายตลาดไปยังภูมิภาคต่างๆ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจให้เพิ่มมากขึ้น” นางสาวพิมพ์ชนกกล่าว