“หม่อมเต่า” ทำหนังสือถึง “เฉลิมชัย” ยืนยันท่าทีกระทรวงแรงงานสนับสนุนให้มีการใช้มาตรา 83 พ.ร.ก.การประมง แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมง รอเคาะในคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานต่างด้าวอีกครั้ง ด้านสมาคมการประมงฯจี้กระทรวงแรงงานหารือเกษตรฯกำหนดแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจนในการขึ้นทะเบียนแรงงานประมง
การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงมีความคืบหน้าขึ้นมาอีกขั้น เมื่อกระทรวงแรงงาน “ไฟเขียว” ให้ใช้มาตรา 83 พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 อนุญาตให้อธิบดีกรมประมงมีอำนาจเช่นเดียวกับ “เจ้าท่า” และ “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” ในการอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้าเมืองและทำงานในภาคการประมงได้
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงสนับสนุนข้อเสนอของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ให้ใช้อำนาจตามมาตรา 83 พ.ร.ก.การประมงเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมง และได้ทำหนังสือถึงนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปแล้วเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา “ผมให้ความเห็นชอบไปแล้วว่า สนับสนุนการใช้มาตรา 83 เป็นไปตามคำขอของสมาคมการประมงฯที่เข้าพบ ตอนนี้ขั้นตอนของกระทรวงแรงงานจบแล้ว ต่อไปก็เป็นเรื่องของกระทรวงเกษตรฯจะดำเนินการต่อไป” ม.ร.ว.จัตุมงคลกล่าว
ทั้งนี้ มาตรา 83 มีสาระสำคัญว่า แรงงานประจำเรือที่ไม่มีสัญชาติไทยต้องได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรตาม กม.ว่าด้วยคนเข้าเมืองและต้องได้รับอนุญาตให้ทำงานตาม กม.ว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว แต่เพื่ออำนวยความสะดวกให้อธิบดี (ประมง) มีอำนาจเช่นเดียวกับเจ้าท่าตาม กม.ว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยในการออกหนังสือคนประจำเรือ ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติในการอนุญาตให้คนต่างด้าวที่จะทํางานในเรือประมงได้ชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและมีอํานาจเช่นเดียวกับนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทํางานของคนต่างด้าวในการอนุญาตให้คนต่างด้าวนั้นทํางานในเรือประมงที่จะออกไปทําการประมงในทะเล โดยมีเงื่อนไขว่า แรงงานประมงต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานจะต้องมีหนังสือคนประจำเรือ หรือ Sea Book เป็นใบอนุญาตทำงานบนเรือประมง
อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานมีข้อเสนอแนะว่า กรมประมงจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบด้วยการกำหนดให้แรงงานประมงต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานตามมาตรา 83 ต้องเป็นแรงงานต่างด้าวที่ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางและเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายด้วย โดยขั้นตอนต่อไปจะต้องนำข้อเสนอให้ใช้มาตรา 83 เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวต่อไป
ทางด้านนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้กระทรวงแรงงานจะไฟเขียวให้กระทรวงเกษตรฯดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวตามมาตรา 83 พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ได้ แต่ทั้ง 2 กระทรวงต้องมาประชุมหารือกันต่อเรื่องแนวทางหรือวิธีปฏิบัติ ในการขึ้นทะเบียนอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความชัดเจน เช่น กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ต้องเข้าร่วมงานและอนุญาต ที่ผ่านมา ข้อตกลงในการนำเข้าแรงงานแบบ MOU รัฐต่อรัฐ ติดล็อกเรื่องแรงงานต่างด้าว
นอกจากจะต้องมีพาสปอร์ตแล้ว จะต้องมีการประทับวีซ่าจากประเทศต้นทางด้วย ตามที่หน่วยงานความมั่นคงของประเทศไทยกำหนด เมื่อประเทศต้นทางไม่ยอมประทับวีซ่าให้ หรือให้น้อย จึงล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาแรงงานประมงขาดแคลน หรือลูกจ้างต่างด้าวที่เข้ามาทำงานแล้วไม่ยอมทำงานกับนายจ้างเดิม หากนายจ้างเดิมไม่มาแจ้งยกเลิก แรงงานต่างด้าวรายนั้นก็เป็นแรงงานเถื่อน ขึ้นทะเบียนตามมาตรา 83 พ.ร.ก.การประมงลำบาก เหมือนครั้งก่อนที่ขึ้นทะเบียนได้ไม่ถึง 1 หมื่นคน ดังนั้น จะแก้ปัญหาแนวทางปฏิบัติร่วมกันอย่างไร เพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้นทะเบียนได้มากขึ้นและง่ายขึ้น