‘ลำปาง’ เจ้าภาพประชุมหอการค้าทั่วไทยครั้งที่ 37 วันที่ 29 พ.ย. – 1 ธ.ค. 62

‘หอการค้าไทย’ เตรียมจัดสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 37 จ.ลำปาง ผลักดันแนวคิด “ไทยเท่” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ระดมสมองกู้วิกฤตความสามารถแข่งขันไทยหด-เทรดวอร์ทุบศก.โลกชะลอตัว

ผู้สื่อข่าว”ประชาชาติธุรกิจ”รายงานว่า หอการค้าไทย ร่วมกับ หอการค้าทั่วประเทศและเครือข่าย เตรียมจัดสัมมนาหอการค้า ทั่วประเทศ ครั้งที่ 37 ในวันที่ 29 พ.ย. – 1 ธ.ค. 62 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางจังหวัดลำปาง โดย Theme ในปีนี้คือ “THAITAY in ACTION : ไทยเท่ ทำได้ ทำจริง” และจะนำผลสัมมนาเสนอรัฐบาลพิจารณา เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัว ผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ซึ่งส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย โดยการส่งออกชะลอตัวลง ซึ่งผลอีกส่วนหนึ่งมาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า การบริโภคและการลงทุนของเอกชนก็ขยายตัวต่ำ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร เนื่องจากราคาผลผลิตทางการเกษตรทรงตัวในระดับต่ำ

“ผลจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยืดเยื้อ ประเด็น Brexit และทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้การส่งออกของไทยยังชะลอตัวต่อเนื่อง ทั้งในรายการสินค้าและตลาดส่งออกหลัก ในขณะที่ แรงขับเคลื่อนภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนก็แผ่วตัวลง ช่วงนี้จึงมีเพียงภาคการท่องเที่ยวที่ยังเป็นแรงพยุงเศรษฐกิจไทยไม่ให้ทรุดตัวอย่างรุนแรง นอกจากนั้น ในส่วนของ Disruptive Technology และ Platform ธุรกิจใหม่ ๆ เริ่มส่งผลกระทบและ Disrupt ธุรกิจเดิม ๆ ที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน” นายกลินท์ กล่าว

ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หอการค้าไทยได้ผลักดันแนวคิด “ไทยเท่” เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในท้องถิ่น ด้วยการนำอัตลักษณ์ของท้องถิ่นมาผสานกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี ผนวกกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาให้เกิดเป็นสินค้าและบริการที่แตกต่าง ซึ่งในปัจจุบันได้ขับเคลื่อนจนประสบความสำเร็จแล้วในหลาย ๆ กรณี ซึ่งหอการค้าไทยมุ่งหวังจะใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและยกระดับความสามารถทางการแข่งขันให้แก่สมาชิกและผู้ประกอบการทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นใน 3 Value Chain ได้แก่ 1 การค้าและการลงทุน 2 เกษตรและอาหาร และ 3 การท่องเที่ยวและบริการ

อีกทั้งหอการค้าไทยได้ร่วมมือกับหอการค้าทั่วประเทศและเครือข่าย ระดมสมองและจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ และในระดับท้องถิ่น เพิ่มเติมจากมาตรการที่ภาครัฐดำเนินการ โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนฐานราก

นายกลินท์ กล่าวว่า การจัดสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 37 ในปีนี้ รองนายกรัฐมนตรี (ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ได้ให้เกียรติมารับฟังสรุปผลการสัมมนาฯ พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ร่วมมือ ร่วมใจ ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคต”

ทั้งนี้ ผลสรุปและข้อเสนอแนะทั้งหมดที่ได้จากการสัมมนาฯในครั้งนี้ หอการค้าไทยจะนำเสนอให้กับรัฐบาลและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้พิจารณา เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

​ดร.กฤษณะ วจีไกรลาศ กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปีนี้หัวข้อต่าง ๆ ที่จะนำมาหารือกันนั้น มีความสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยจะมีทั้งการบรรยายพิเศษ การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ และการนำเสนอกรณีศึกษาจากประสบการณ์จริงของผู้ประกอบการ ในส่วนของการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ

โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ตามแนวทางการพัฒนาของหอการค้าไทยใน 3 Value Chain ได้แก่ 1 การค้าและการลงทุน 2 เกษตรและอาหาร 3 การท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งในแต่ละกลุ่มจะมุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 เรื่อง คือ การประยุกต์ใช้ดิจิทัล (Digital Economy) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital) และเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์การสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างความแตกต่าง การสร้างและกระจายรายได้ การลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งการป้องกันความเสี่ยง และสร้างรูปแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทั้ง 3 กลุ่มจะมีกรอบการสัมมนา ดังนี้ กลุ่ม 1 เรื่อง “การค้าและการลงทุน : ไทยเท่ ทำได้ ทำจริง” จะมีการระดมความคิดเห็นเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจการค้าและการลงทุน ซึ่งปัจจุบันเราจะเห็นว่าเครื่องมือทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ ได้เข้ามามีบทบาทต่อการดำรงชีวิตและการประกอบธุรกิจมากขึ้น ทั้งนี้ นอกจากจะช่วยให้การติดต่อสื่อสารสะดวกรวดเร็วแล้ว ยังสามารถนำมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจได้ โดยช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ในขณะที่การพัฒนาบุคลากรเพื่อให้มีทักษะ ความเชี่ยวชาญ และองค์ความรู้ที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อรับมือกับ Digital Disruption ดังนั้น การ Re-skill และ Up-skill จึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยจะต้องมีหลักสูตรต่าง ๆ เข้ามารองรับเรื่องดังกล่าว

​นอกจากนี้ อีกหนึ่งหัวข้อที่หอการค้าไทยเห็นว่ามีความสำคัญต่อภาคการค้าการลงทุน คือ เรื่อง Circular Economy ซึ่งต่อจากนี้ ภาคธุรกิจจะต้องมีการบริหารทรัพยากรในลักษณะหมุนเวียน โดยการนำของเสียจากการผลิตและบริโภค กลับเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ ในลักษณะ 3R (Reduce Reuse Recycle) เพื่อลดการสูญเสีย และเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

​กลุ่ม 2 เรื่อง “เกษตรและอาหาร : ไทยเท่ ทำได้ ทำจริง” ในกลุ่มนี้จะมีการระดมความคิดเห็น เพื่อขยายผลโมเดลโครงการ 1 ไร่ 1 ล้าน ที่หอการค้าไทยผลักดัน โดยเน้นที่เกษตรมูลค่าสูง การขยายผลโครงการ 1 หอการค้าดูแล 1 สหกรณ์การเกษตร ซึ่งจะเป็นแนวทางในการเพิ่มศักยภาพให้กับเกษตรกร ทั้งในด้านรายได้และด้านการตลาด นอกจากนี้ จะเป็นการหาแนวทางการพัฒนาเกษตรและอาหารของไทย โดยนำ 3 ประเด็นที่ได้กล่าวในข้างต้นเป็นแกนในการพัฒนา ได้แก่ 1) การประยุกต์ใช้ดิจิทัลในภาคการเกษตร เช่น การนำ Digital Platform ทางการเกษตรมาปรับใช้ การส่งเสริม Smart Farmer ให้กับสมาชิกทั่วประเทศ โดยการสร้าง Application ต่าง ๆ มารองรับ 2) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการจัดฝึกอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรในตลอด Value Chain และ 3) เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะพูดถึงการจัดการ Food Loss และ Food Waste การหารือทั้งหมดในกลุ่มนี้ จะมุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

กลุ่ม 3 “ท่องเที่ยวและบริการ : ไทยเท่ ทำได้ ทำจริง” ในกลุ่มนี้จะมีการระดมความคิดเห็นเพื่อขยายผลโครงการ 1 หอการค้า 1 ท่องเที่ยวชุมชน ให้ครบ 76 จังหวัด และสร้างต้นแบบการพัฒนาท่องเที่ยวชุมชนแบบบูรณาการใน 5 ภูมิภาค โดยขับเคลื่อนผ่าน โครงการต่าง ๆ อาทิ ทัวร์ริมโขง และไทยแลนด์ ริเวียร่า ซึ่งหอการค้าไทยเคยนำเสนอต่อรัฐบาลมาแล้ว สร้างให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจกับชุมชน

ทั้งนี้ จะมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ รวมทั้งการวางแผนพัฒนากำลังคนภาคการท่องเที่ยว โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและสถาบันการศึกษาในพื้นที่ จัดหลักสูตรด้านการท่องเที่ยวและบริการที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจและชุมชน รวมทั้งประเด็นเรื่องการบริหารจัดการขยะในแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นการคงสภาพความสวยงามของธรรมชาติแล้ว ยังเป็นคำตอบของความยั่งยืนต่อการท่องเที่ยวชุมชนอีกด้วย นอกจากนั้น ยังรวมถึงการบูรณาการความร่วมมือกับภาครัฐ ในการสร้าง / ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นร่วมกัน

​ดร.กฤษณะ กล่าวว่า การสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศในครั้งนี้ หอการค้าไทยคาดหวังว่า ผลที่ได้จากการสัมมนาจะเป็นแรงที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นตัวจุดประกายให้กับทุกภาคส่วนได้มามีส่วนร่วมในการสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มทั้งในด้านสินค้าและการบริการ เกิดการกระจายรายได้ และยังเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุค 4.0 สร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่นในทุกจังหวัด ได้เติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป

​นายวิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย กล่าวว่า การสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปในแต่ละภูมิภาค โดยในปี 2562 เป็นวาระของภาคเหนือ ซึ่งจังหวัดลำปาง โดยหอการค้าจังหวัดลำปาง ได้รับการคัดเลือกจากหอการค้าไทยและหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ ให้เป็นจังหวัดเจ้าภาพทางด้านสถานที่ในการจัดงาน ครั้งที่ 37 นี้ ในฐานะตัวแทนของภาคเหนือ ทั้ง 17 จังหวัด โดยมีหอการค้าจังหวัดทุกจังหวัดของภาคเหนือ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาสังคมภายในจังหวัดลำปาง ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศในครั้งนี้

​อย่างไรก็ตาม การเป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ถือเป็นวาระแห่งปี ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่ชาวลำปางจะได้แสดงศักยภาพและความพร้อมเพรียง เพื่อเปิดเมืองลำปางให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นงานระดับประเทศ ซึ่งจะมีผู้เข้าร่วมสัมมนาที่มาจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของจังหวัดลำปาง และเป็นครั้งแรกของการจัดสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศตลอด 36 ครั้งที่ผ่านมา ที่เปิดโอกาสให้เมืองรองได้เป็นเจ้าภาพทางด้านสถานที่ในการจัดสัมมนา

​นายสกล สุพรรณบรรจง ประธานหอการค้าจังหวัดลำปาง กล่าวว่า การทำหน้าที่สำคัญในการเป็นเจ้าภาพด้านสถานที่ของงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศในครั้งนี้ หอการค้าจังหวัดลำปาง ได้ใช้แนวคิด “เปิดลำปาง เชื่อมเส้นทางเศรษฐกิจไทย” เพื่อเปิดประตูสู่โอกาสในการนำศักยภาพของลำปาง ทั้งด้านสินค้า การบริการ และโอกาสในการลงทุนสู่ประเทศ ตอบคำถามที่ว่า “ลำปางมีดีอะไร” ให้ผู้นำของภาคเอกชนทางด้านเศรษฐกิจจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้ง ผู้ติดตามที่มากับคณะกว่า 2,000 คน ได้มาพบ มารู้จักและรักลำปาง

​“ผมคิดว่าในสายตาของคนไทยนั้น ลำปางยังเป็นเมืองที่ unseen และ unknown ซึ่งทำให้หลายคนอยากมาสัมผัสและรู้จักลำปางมากขึ้น โดยขณะนี้ พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดลำปาง พร้อมแล้วที่จะใช้ศักยภาพที่เรามี ร่วมกันเป็นเจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่าน และได้เตรียมจัดงานเลี้ยงต้อนรับไว้ที่บริเวณลานหน้าพิพิธภัณฑ์ลำปาง (ศาลากลางหลังเก่า) การจัดรถรับส่งผู้เข้าร่วมสัมมนา รวมทั้งโรงแรมที่พักหลัก จำนวน 9 โรงแรม และโรงแรมอื่น ๆ อีกหลายแห่ง ซึ่งเท่าที่ทราบโรงแรมหลายแห่งมีการสำรองที่พักในช่วงของการจัดงานเกือบ 100% แล้ว” นายสกล กล่าว

​นอกจากนั้น เรายังได้จัดให้มีโปรแกรมการท่องเที่ยวเป็นพิเศษเฉพาะงานนี้ ให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนาและผู้ติดตาม ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดการใช้จ่ายภายในจังหวัด ทั้งที่พัก ร้านอาหาร ของฝาก ภาคบริการ และสินค้าของลำปางเป็นจำนวนมาก โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและชุมชนลำปางไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท ในช่วงการจัดงาน และเราหวังว่าจะกลับมาลำปางอีกในอนาคต