ร่วงอีก! ทั้งดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯ-ยอดขายรถ เอกชนขอรัฐเร่งเจรจาFTAไทย-อียู GSP สหรัฐ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค. 2562 อยู่ที่ระดับ 91.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 92.1 ในเดือน ก.ย. นับว่าต่ำสุดในรอบ 17 เดือน เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลกำลังซื้อในส่วนภูมิภาคที่ยังชะลอตัว และผู้ประกอบการ SMEs ประสบปัญหาด้านการเงิน ด้วยความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินมากขึ้น รวมทั้งสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังคงยืดเยื้อ และการแข็งค่าของเงินบาทที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาลดลง

และได้คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีฯจะอยู่ที่ระดับ 102.9 โดยลดลงจากระดับ 103.4 ในเดือนกันยายน เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจในประเทศ และเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน ปัญหาเบร็กซิต รวมทั้งการที่ไทยถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ซึ่งกำลังจะมีผลบังคับใช้ในปี 2563 ทำให้สินค้าส่งออกของไทยราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง

แต่ก็ยังมีปัจจัยบวก คือ ผู้ประกอบการส่งออกมียอดขายและคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับผลดีจากการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเพื่อใช้ในเทศกาลช่วงปลายปี โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นและอาหาร ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านโครงการชิมช้อปใช้ส่งผลดี ต่อยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค
จึงเสนอแนะต่อภาครัฐ ว่าต้องให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศเรื่องปรับปรุงกฎเกณฑ์ เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท

ให้เร่งการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-อียู (Thailand – EU Free Trade Agreement) และเร่งการเจรจาขอคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับสหรัฐฯ

เร่งการลงทุนภาครัฐเพื่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องของภาคเอกชน ที่จะส่งผลต่อห่วงโซ่มูลค่าของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อชดเชยภาคการส่งออกที่ชะลอตัวจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลก

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า สำหรับเดือน ต.ค. 2562 มียอดผลิตรถยนต์ 152,787 คัน ลดลง 22.52% ขายในประเทศ 77,121 คัน ลดลง 11.3% ส่งออก 85,552 คัน ลดลง 8.34%

และมียอดขาย 77,121 คัน ลดลง 11.3% ยอดขายภายในประเทศลดลงจากการเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ และผลกระทบจากน้ำท่วมในหลายพื้นที่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปได้ 85,552 คัน ลดลงจาก 8.34% หดตัวเกือบทุกตลาด ยกเว้นเอเชีย ตะวันออกกลาง และอเมริกากลางและอเมริกาใต้

ส่งผลทำให้ 10 เดือน (มกราคม – ตุลาคม 2562) ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 906,653 คัน โดยส่งออกลดลงจากปี 2561 ในระยะเวลาเดียวกัน 4.78% มีมูลค่าการส่งออก 469,002.46 ล้านบาท ลดลง 6.08%