“กัลฟ์” อัดงบ2หมื่นล้านปี”63 โฟกัสเพิ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีอีซี

สารัชถ์ ‘กัลฟ์’ (GULF)

กัลฟ์เผย 5 ปีกำลังการผลิตเพิ่ม 12,000 MW ปี”63 อัดงบฯ 2 หมื่นล้านลุยลงทุนโครงการในอีอีซีหนุนรัฐ หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ฟื้นการจ้างงาน หลังปักหมุดบิ๊กโปรเจ็กต์ IPP
ส่ง “กัลฟ์ พีดี” กู้ 16 แบงก์ 4.1 หมื่นล้าน2,650 MW เตรียมเปิด COD ปี”66-67

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ร่วมลงนามสัญญากู้เงินระหว่างบริษัท กัลฟ์ พีดี จำกัด (GPD) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยบริษัทกัลฟ์ฯ และเป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้า IPP กัลฟ์ ปลวกแดง จ.ระยอง หรือโครงการ GPD กำลังการผลิต 2,650 เมกะวัตต์ จากกลุ่มสถาบันการเงิน 16 แห่ง วงเงิน 41,000 ล้านบาท เป็นเงินบาท ร้อยละ 50 และสกุลเงินเหรียญสหรัฐ ร้อยละ 50 เป็นระยะเวลานาน 23 ปี

ทั้งนี้ GPD เข้าทำสัญญาแลกเปลี่ยนจากอัตราดอกเบี้ยลอยตัวเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ (interest rate swap) อัตรา 3.3% ต่ำจากภาวะดอกเบี้ยที่ต่ำในปัจจุบัน สามารถปิดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินบาทได้ โครงการนี้คาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2566-2567

นายสารัชถ์กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายรายได้ปี 2563 เพิ่มเป็น 36,000 ล้านบาทจากปีนี้ที่คาดว่าจะมีรายได้ 33,000 ล้านบาทผลจากการรับรู้รายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในโอมาน 326 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าไบโอแมส 20 เมกะวัตต์ ใน อ.จะนะ จ.สงขลา และการลงทุนในเวียดนามซึ่งมีทั้งพลังงานโซลาร์เซลล์ 100 เมกะวัตต์ และพลังงานลม 210 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยขายไฟเชิงพาณิชย์ COD

ทั้งนี้ ในปี 2563 บริษัทวางงบประมาณลงทุนไว้ประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งไม่ใช่เพียงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า IPP จำนวน 2 แห่ง แต่จะลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ทั้งมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งมีท่าเทียบเรือก๊าซและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG terminal) และในแหลมฉบังซึ่งจะเป็นคอนเทนเนอร์พอร์ต โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขคุณสมบัติผู้ร่วมประมูลโดยศาลปกครอง นอกจากนี้ ยังมีการร่วมลงทุนระบบเก็บเงินโครงการมอเตอร์เวย์เส้นทางM6 บางปะอิน-นครราชสีมา และ M81 บางใหญ่-กาญจนบุรี ร่วมกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ (BGSR)

“เราพร้อมจะลงทุนในธุรกิจหลายอย่างในประเทศไทย โดยเฉพาะในโครงการที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการจ้างงานและกระจายรายได้เข้าสู่ประเทศ”

สำหรับการลงทุนนี้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ที่บริษัทวางไว้อีก 5 ปีข้างหน้าหรือปี 2024 บริษัทเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 12,000 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นในประเทศไทย 11,000 เมกะวัตต์และต่างประเทศ 1,000 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในพลังงานทดแทนจากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 5% และเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานตามโครงการดังกล่าว

สำหรับการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศ เน้นโอมาน เวียดนาม และลาวโดยไปหารือกับรัฐบาลเวียดนามเพื่อศึกษาโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาด 6,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว ปีละ 5 ล้านตัน แต่จะเป็นการเริ่มปีไหนขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ไฟฟ้าและมาสเตอร์แพลน หรือพีดีพีเวียดนาม นอกจากนี้จะลงทุนในลาว 3 โครงการ (โครงการ Pak Beng, Pak Lay และ Sanakham) ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาขายไฟกลับมาในไทย

สำหรับการลงทุนในประเทศเน้นการก่อสร้างโรงไฟฟ้า IPP 2 แห่ง ส่วน SPP อีก 3 แห่งไม่ทำต่อเพราะขนาดเล็กกำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

“ส่วนโรงไฟฟ้าหินกอง 1,400 เมกะวัตต์ที่มีข่าวว่าจะคุยกับราช กรุ๊ปยังไม่ได้คุย ถามว่าสนใจไหมเราก็สนใจหมด หากใครเสนอมา แต่ priority ตอนนี้เน้นโอมาน เวียดนาม ลาว และก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานก่อน”

นายสารัชถ์ กล่าวว่า “เราไม่ได้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือผู้ให้บริการ (shipper) ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งคราวก่อนที่ กกพ.เปิดให้เสนอและปิดรับสมัครไปแล้วไม่ได้ให้เรา ซึ่งเรามองว่าการเปิดเสรีการนำเข้า LNG อยู่ที่แผนการบริหารจัดการก๊าซ หรือ GAS plan ของกระทรวงพลังงาน ในส่วนโครงการโรงไฟฟ้าเราเป็นพันธมิตรซื้อก๊าซ ปตท. เช่นที่มาบตาพุดใช้ 10-16 ล้านตัน

“ในเมืองไทยยังนำเข้าก๊าซธรรมชาติไม่ได้เพราะติดเงื่อนไขกฎหมายเกี่ยวกับการจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติที่ยังไม่ได้เปิดเสรีขึ้นอยู่กับกระทรวง”

นายสารัชถ์ กล่าวถึงทิศทางและแนวโน้มพลังงานประเทศไทย ว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (transition) เพื่อหาจุดสมดุล โดยมองว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ในระดับพอดี และมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ทั้งการทำโรงไฟฟ้าชุมชนต่าง ๆ ขณะเดียวกัน พีกไฟฟ้าเปลี่ยนตามพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม มองว่าพลังงานหลักจะยังมาจากก๊าซธรรมชาติซึ่งแนวโน้มมีราคาถูกลงอย่างมากหลังจากประมูลแหล่งบงกช เอราวัณ ประเด็นนี้จะทำให้ไม่มีการตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินแน่นอน

ทั้งนี้ กลุ่มสถาบันการเงิน 16 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC), ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB), ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (SMBC),ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, ธนาคารออมสิน, ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย, ธนาคารโอเวอร์ซี-ไชนีส แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (OCBC), ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM), ธนาคารมิซูโฮ, ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย ทรัสต์ และธนาคารดีซี แบงก์

อนึ่ง บริษัท IPD เป็นบริษัทย่อยที่กัลฟ์และ Mitsui & Co., Ltd. ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 70 และร้อยละ 30.0 ตามลำดับ เพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าIPP 2 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตแห่งละ 2,650 เมกะวัตต์ รวม 5,300 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการ GPD และโครงการ GSRC ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมWHA อ.ศรีราชา ซึ่่งเริ่มก่อสร้างไปแล้วร้อยละ 39.5 จะเปิดดำเนินการ COD ปี 2564- 2565 ทั้ง 2 โครงการจะขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นาน 25 ปี