ลุ้นบอร์ดบีโอไอนัดสุดท้าย หนุนEEC-เสริมแกร่งSMEs

(Photo by Ethan Miller/Getty Images)

ชงบอร์ดบีโอไอโค้งสุดท้ายต่ออายุมาตรการส่งเสริม EEC กับ SMEs หวังดึงนักลงทุนต่อเนื่อง มั่นใจแพ็กเกจไทยแลนด์พลัสดูด 100 บริษัทย้ายฐานเข้าไทย ย้ำภาพปีཻ เตรียมตั้ง Customer Service Unit อัดแผนโรดโชว์เชิงรุก

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า BOI เตรียมเสนอคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในเดือนธันวาคมนี้พิจารณามาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับ SMEs ซึ่งทั้ง 2 มาตรการจะหมดอายุการส่งเสริมลงในสิ้นปีนี้ แต่ยังคงมีความจำเป็นต่อการตัดสินใจของนักลงทุนอยู่ พร้อมกันนี้จะเสนอให้ปรับเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนใหม่ให้สอดรับกับสถานการณ์ในปี 2563 มากขึ้น

“BOI จะคงสิทธิประโยชน์ส่วนที่ยังเหมาะสมไว้ เช่น มาตรการ SMEs ที่ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นสัดส่วน 200% ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ประเภทกิจการในกลุ่ม A ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร บวกการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดถึง 8 ปี (ไม่แคปวงเงิน) หากเป็นกิจการวิจัยและพัฒนาและยังสามารถใช้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าโครงการได้อีกด้วย และจะจัดเร่งประชาสัมพันธ์ให้ SMEs ภูมิภาคที่มีการวิจัยพัฒนานวัตกรรมเข้าถึงสิทธิมากขึ้น”

ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย. 2562) มี SMEs ขอรับการส่งเสริม 419 โครงการ มูลค่า 16,652 ล้านบาท จากปี 2561 ที่ขอรับการส่งเสริม 485 โครงการ มูลค่า 23,089 ล้านบาท และกว่า 80% ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมและออกบัตรส่งเสริมในสัดส่วนสูงถึง 90% ที่ได้ลงทุนจริง

“จะเห็นจำนวนกิจการดิจิทัลเข้ามาขอรับการส่งเสริมมากขึ้น แต่มูลค่าน้อยเพราะกิจการเหล่านี้ใช้เงินลงทุนน้อยและทำงานที่ไหนก็ได้ พื้นที่เป้าหมายส่วนใหญ่ยังเป็นเชียงใหม่ และภูเก็ต แนวโน้มการลงทุนของ SMEs ดิจิทัล การเกษตรที่มีการทำวิจัยพัฒนาสินค้า ทำให้ BOI ต้องต่ออายุมาตรการต่อไป”

นางดวงใจกล่าวว่า บีโอไอจะไม่ต่ออายุมาตรการปีแห่งการลงทุน 2562 ที่จะหมดอายุลงในปีนี้ ด้วยเหตุที่ได้ออกมาตรการ Thailand Plus Package เข้ามารองรับแล้ว บวกกับผลการโรดโชว์ที่รองนายกรัฐมนตรี (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์)และทีม BOI ดำเนินการ จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนตามเป้าหมายที่วางไว้ 750,000 ล้านบาทโดยช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มียอดขอรับส่งเสริม 1,165 โครงการ มูลค่า 314,130 ล้านบาท

“มาตรการใหม่ บวกสถานการณ์ trade war ยังคงเป็นตัวเร่งให้เกิดการตัดสินใจลงทุนเร็วขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มใน list 100 บริษัทที่เป็นเป้าหมายที่เรารวบรวมจากสำนักงานต่างประเทศ ซึ่งยังคงอยู่ระหว่างการตัดสินใจ แม้จะบอกเป็นตัวเลขไม่ได้ แต่ก็มีทั้งที่ลงทุนอยู่แล้ว-เตรียมขยายและเข้ามาลงทุนใหม่ ที่ผ่านยังพบว่ารูปแบบการลงทุนใช้วิธีการเช่าโรงงานมากกว่าลงทุนใหม่”

สำหรับแผนการดึงดูดการลงทุนในปี 2563 BOI ประเมินว่า การแข่งขันดึงดูดการลงทุนจะมีแต่เพิ่มมากขึ้น ไม่มีน้อยลง โดยภาวะเศรษฐกิจโลกจะเป็นตัวกำหนด demand และในแง่ความสามารถการแข่งขันของไทย เช่น การปรับ ecosystem ก็เพื่อรองรับการลงทุน “ไทยเองยังเป็นประเทศที่น่าลงทุนอยู่ และมีอีกหลายอย่างที่ไทยยังทำได้ดีขึ้น” เป้าหมายจึงมุ่งไปว่าไทยจะทำอย่างไรที่จะสามารถปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มเข้าสู่ระบบอัตโนมัติเพิ่มขึ้น เป็นภาพสะท้อนว่าอุตสาหกรรมไทยกำลังปรับตัว

“ปี 2563 จะยังเป็นปีแห่งการลงทุนหรือปีทองหรือไม่คงต้องดูว่าการเป็นปีทอง แต่เราไม่ทำอะไรเลย มันก็ไม่ใช่ปีทอง เราต้องมีทั้งรุกและรับ ต้องโรดโชว์มากขึ้น ปรับบทบาทบริการเชิงรุกอำนวยความสะดวกให้นักลงทุน”

ล่าสุด BOI เตรียมตั้งหน่วยงานใหม่ Customer Service Unit (CSU) เพื่อเป็นช่องทางบริการนักลงทุนให้ทราบถึงมาตรการ BOI มีบริการให้คำปรึกษา และอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ โดยระหว่างนี้อยู่ระหว่างลงทุนด้านฮาร์ดแวร์-ซอฟต์แวร์ และจัดหาเจ้าหน้าที่ คาดว่าจะเสร็จภายในกลางปี 2563