แผ่นดินไหว สปป.ลาว อาฟเตอร์ช็อก “แบตเตอรี่ออฟเอเชีย”

เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในช่วงเช้าของวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ถึง 2 ครั้ง ด้วยความรุนแรงขนาด 5.9 และ 6.4 ริกเตอร์ ไม่เพียงสร้างความสะเทือนมาถึงประเทศไทย แต่ยังสร้างความสั่นสะเทือนถึงนโยบาย “แบตเตอรี่ออฟเอเชีย” ของ สปป.ลาวด้วย

แม้ว่าเหตุการณ์ทางธรรมชาติครั้งนี้เป็นคนละลักษณะกับเหตุการณ์เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย แตกเมื่อปี 2561 ซึ่งเป็นผลจากการออกแบบก่อสร้างเขื่อนที่ไม่สามารถรับมือกับสภาพอากาศได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ อาจจะกระทบไทยในฐานะนักลงทุน และในฐานะผู้ใช้ไฟฟ้าจากลาว ซึ่งตามแผนการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) กำหนดให้นำเข้าไฟฟ้าลาวตามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ได้ถึง 9,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจนถึงขณะนี้นำเข้ามาเพียง 6,000 เมกะวัตต์ยังเหลืออีก 3,000 เมกะวัตต์

กฟผ.-กรมชลฯยืนยันไม่กระทบ

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน และนายจรัญ คำเงิน ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ออกมายืนยันว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อเขื่อนขนาดกลาง และขนาดใหญ่ โรงไฟฟ้า และสายส่งที่อยู่ในความรับผิดชอบ

แต่ปัจจุบันเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้งมากขึ้น กรมชลประทานจึงได้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหว 5 แห่ง ในจ.เชีียงใหม่และ จ.แม่ฮ่องสอน โดยมีแผนจะติดตั้งเพิ่มอีกในปี 2563 พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

เอกชนชี้โรงไฟฟ้าไม่สะดุด

ส่วนภาคเอกชนที่เข้าไปลงทุนในลาวต่างเร่งลงพื้นที่ตรวจสอบและรายงานผลการตรวจสอบ เบื้องต้น โดยทั้งหมดยืนยันว่า “ไม่พบความเสียหาย” อาทิ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP ผู้ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าไซยะบุรีและน้ำงึม 2 ซึ่งขณะนี้ได้เดินเครื่องผลิตและจ่ายไฟฟ้าต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับ บี.กริม เพาเวอร์ ซึ่งเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าเซกะตำ ที่แขวงจำปาสัก ขนาด 13.4 เมกะวัตต์ เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ให้การไฟฟ้าลาวเป็นเวลา 25 ปีตั้งแต่กรกฎาคม 2560 และโรงไฟฟ้าน้ำแจ กำลังการผลิต 15 เมกะวัตต์ ในเขตพิเศษไชยสมบูรณ์ ซึ่งเริ่ม COD เมื่อเดือนมิถุนายน 2562

ส่วน “บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด” ผู้ดำเนินการ “โรงไฟฟ้าหงสา” ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง กำลังผลิตรวม 1,847 เมกะวัตต์ ที่เมืองหงสา แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว อยู่ระหว่างเร่งเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ และติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

รัฐบาลลาวตั้ง คทง.ตรวจเขื่อน

นายสุรศักดิ์ พันธ์เครือวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ลาว) จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากเกิดเหตุกับเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยในปี 2561 ทางรัฐบาลลาวก็ยังเดินหน้านโยบายการเป็นแบตเตอรี่ออฟเอเชียต่อไป แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจโดยรัฐบาลกลางได้จัดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบการออกแบบโครงการก่อสร้างเขื่อน ตั้งแต่ที่ยังไม่ได้ก่อสร้าง-ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และตรวจสอบการบำรุงรักษาเขื่อนที่ดำเนินการแล้วด้วย

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้เอกชนไทยยังต้องติดตามต่อไปว่าการดำเนินนโยบาย “เพิ่มการผลิตไฟฟ้า” ซึ่งเป็น 1 ใน 6 นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจลาว(GDP) ปี”62 ให้โต 6.7% จะมีทิศทางอย่างไร โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนในโครงการลงทุนใหม่ ๆ จะต้องวางมาตรการรับมือ “ภัยธรรมชาติ” เพราะแผ่นดินไหวครั้งนี้อาจจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย