‘มีศักดิ์ ภักดีคง’ พัฒนาประมงแบบมีส่วนร่วมทุกมิติ

หลังจากภาครัฐนำโดยกรมประมงได้จัดระเบียบการทำประมงมากว่า 4-5 ปี ทั้งทางด้านกฎหมาย แรงงานประมง เรือและเครื่องมือในการทำการประมง แต่ก็ยังไม่เข้าที่เข้าทางดีนัก ล่าสุด นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมงคนใหม่ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงภารกิจสเต็ปต่อไป พร้อมชูแผนพัฒนาการประมงแบบมีส่วนร่วมทุกมิติ เพื่อให้ “คนอยู่ได้ ทรัพยากรยั่งยืน ไม่ฝืนพันธสัญญา”

การพัฒนาแบบมีส่วนร่วมทุกมิติกรมประมงต้องการยกระดับมาตรฐาน การประมงไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และมีความยั่งยืน ดังนั้น ทิศทางการขับเคลื่อนภาคประมงของไทยต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง ต้องใช้นโยบายการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมด้านการประมงอย่างยั่งยืน เกิดความสมดุล เพื่อให้คนที่อยู่ในอาชีพนี้อยู่ได้ ทรัพยากรก็ยั่งยืน ไม่ฝืนพันธสัญญาที่มีอยู่เดิม คือ การขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ควรฝ่าฝืน ที่ผ่านมา กรมไม่อยากให้เกิดกรณีฝ่าฝืนและรุมทำร้ายเจ้าหน้าที่ที่ชัยนาท เกาะช้าง จ.ตราด หรือทางภาคใต้ ทั้งนี้ คดีที่เกิดขึ้น 300 กว่าคดีในปี 2562 ส่วนใหญ่เกิดจากประมงชายฝั่ง

7 ภารกิจสำคัญในปี 2563 กรมให้ความสำคัญในการพัฒนา 7 ด้าน คือ 1.การสนองงานสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อดำรงความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำ เช่น โครงการผลิตปลานวลจันทร์ทะเล (กก.ละ 120 บาท) โครงการผลิตพันธุ์ปลาบู่ (กก.ละ 1,000 กว่าบาท) และการผลิตปลาพลวงชมพู (กก.ละ 2,000 บาท) โครงการผลิตปลาสเตอร์เจี้ยน ซึ่งได้ไข่ปลามาจากจีน รัสเซีย และเยอรมนี มาเพาะเลี้ยงต่อไป

2.การบริหารจัดการประมงอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานวิชาการและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เน้นการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา ใช้งานวิชาการเข้าไปปรับใช้กับการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำของชุมชน ควบคุมการจัดการของคน ผู้ใช้ทรัพยากร มีรถโมบายยูนิตเข้าไปให้บริการ ตั้งเป้าหมายให้ชุมชนประมงน้ำจืดและชุมชนประมงทะเลพัฒนาให้เป็นชุมชนประมงเพื่อการท่องเที่ยวในอนาคต จังหวัดละ 1 แห่ง

“เมื่อก่อนเรามีงบฯเพาะพันธุ์สัตว์น้ำแจกจ่ายปีละ 1,000 กว่าล้านตัว ล่าสุดเหลือปีละ 550 ล้านตัว ใช้งบประมาณ 80 ล้านบาท แยกเป็นการแจกจ่ายให้ชุมชนประมงน้ำจืด 400 ล้านตัว และชุมชนชายฝั่งทะเล 150 ล้านตัว”

3.มุ่งแก้ปัญหาการประมงโดยให้ความสำคัญกับการรักษามาตรฐานการควบคุม ป้องกัน แก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย จะเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจชาวประมงบนหลักการการมีส่วนร่วมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวประมง

4.การผลิตด้านการเพาะเลี้ยงใช้หลักการตลาดนำการผลิต โดยมุ่งผลิตสัตว์น้ำที่มีมูลค่าสูง เช่น ปลาบู่ กำลังเพาะลูกพันธุ์ 1 ล้านตัว ให้เกษตรกรไปเลี้ยงในบ่อระบบปิด

5.งานวิชาการต้องตอบสนองด้านการเพาะเลี้ยง ซึ่งขณะนี้มีงานวิจัยอยู่ 66 โครงการ เพื่อนำไปต่อยอดด้านการส่งเสริมเพาะเลี้ยง กับการตอบสนองการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างเหมาะสม 6.การขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนของรัฐมุ่งเน้นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ตามแผนปฏิบัติการฟื้นฟูเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัยปี 2562 ไปแล้ว 766 ล้านบาท

และ 7.มุ่งพัฒนากรมประมงให้เป็นบ้านที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ทั้งพัฒนา ข้าราชการมืออาชีพ อาคารสถานที่ วางระบบการแต่งตั้งโยกย้ายอย่างเป็นธรรมแนวทางช่วยเหลือชาวประมง

กรมไม่ได้นิ่งนอนใจ อย่างเรื่องการสนับสนุนสินเชื่อให้ชาวประมงกู้1.05 หมื่นล้านบาท รัฐช่วยสนับสนุนชดเชยด้านอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลง ซึ่งจะมีการปล่อยกู้ผ่านธนาคารออมสิน 5,000 ล้านบาท และธนาคาร
เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 5,500 ล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการ เรื่องการเยียวยาโดยการซื้อเรือประมงคืน 2,000 กว่าลำ วงเงิน 7,400 กว่าล้านบาท ทางกระทรวงเกษตรฯเสนอเรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว เรื่องการคืนความถูกต้องให้ชาวประมง มีคดีที่สิ้นสุด ศาลตัดสินไม่มีความผิดแล้ว 7 ราย จำนวนเรือ 31 ลำ กรมจะคืนอาชญาบัตรให้


ส่วนเรื่องปัญหาขาดแคลนแรงงานประมงกำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งการใช้ ม.83 ตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ขึ้นทะเบียนแรงงานประมง กรมดำเนินการมา 2 ครั้งแล้ว ส่วนเรือที่ต้องการออกไป ทำการประมงนอกน่านน้ำอย่างสง่างาม และปฏิบัติตามระเบียบอนุสัญญาที่ไทยไปผูกพันไว้นั้น อนุมัติแล้ว 5 ลำ ออกทะเลหลวง 2 ลำ กำลังจะออกอีก 3 ลำ และอีก 10 ลำ กำลังปรับปรุงเรือเพื่อทำประมงนอกน่านน้ำไทยต่อไป