น้ำโขงลด สทนช.ถก 25 หน่วยงาน ปรับแผนจัดการน้ำ 38 จังหวัดเสี่ยงขาดแคลน

สทนช.รุกแผนปฏิบัติการป้องแล้งมอบเจ้าภาพหลักรายพื้นที่สทนช.รุกมอบเจ้าภาพหลักรายพื้นที่ ถก 25 หน่วยงานบูรณาการแผนปฏิบัติการรับแล้งระยะ 3 – 4 เดือนข้างหน้า มอบเจ้าภาพรับผิดชอบในพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำอุปโภค-บริโภค พร้อมประสาน สธ.ชี้เป้าโรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำช่วงแล้ง 38 จังหวัด เร่งวางมาตรการรองรับหวั่นกระทบประชาชน

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช.ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 25 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2562/63 ตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ)

โดยมีข้อสรุปที่สำคัญ 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการจัดสรรน้ำและระบายน้ำของแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางเป็นรายสัปดาห์ ซึ่ง สทนช.ได้ติดตามแผนการจัดสรรน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ พบว่ามีการจัดสรรน้ำเกินแผนแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่มอก เขื่อนกิ่วคอหมา และเขื่อนกระเสียว ซึ่งเป็น 1 ใน 5 แห่งของเขื่อนที่มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอทำการเกษตร

ปัจจุบันพบว่า แผนการจัดสรรน้ำ 13 ล้าน ลบ.ม. แต่มีการจัดสรรน้ำแล้ว 17.62 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 135% ที่ประชุมจึงได้เน้นย้ำกรมชลประทาน (ชป.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ควบคุมการจัดสรรน้ำให้กับพื้นที่ ตามปริมาณน้ำที่กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยขอให้จังหวัด กำกับ ดูแลพร้อมสร้างการรับรู้กับประชาชนในพื้นที่ เพื่อป้องกันปัญหาการสูบน้ำไว้ใช้ระหว่างการส่งน้ำ ทั้งนี้ หากมีเหตุจำเป็นที่ต้องมีการจัดสรรน้ำมากกว่าแผน ต้องมีการรายงานให้ สทนช.ทราบก่อนด้วย เพื่อพิจารณาความเหมาะสมเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่ใช้ในการจัดสรรน้ำตลอดฤดูแล้งนี้และต้นฤดูฝนปี’63

สำหรับ ประเด็นที่ 2การกำหนดเจ้าภาพหลักในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้กับพื้นที่เป้าหมายเสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งเบื้องต้นที่ประชุมได้มอบหมายให้การประปานครหลวง (กปน.) พิจารณาการใช้น้ำจากฝั่งตะวันตก มาทดแทนการใช้น้ำจากฝั่งตะวันออกให้มากขึ้น พร้อมทั้งดำเนินการร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อสำรองน้ำเพิ่มเติม ขณะที่พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคในเขตการประปาภูมิภาค (กปภ.) 48 สาขา 64 อำเภอ 26 จังหวัด ที่มีการสำรวจไว้เดิม และอีก 13 แห่งของ กปภ.ริมแม่น้ำโขง ใน 7 จังหวัด 19 อำเภอ ได้มอบหมายกรมทรัพยากรน้ำบาดาลพิจารณาสนับสนุนการดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาล 13 แห่ง รวมถึงมอบกรมชลประทานจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม 19 แห่ง ส่วนอีก 29 แห่งที่เหลือให้ กปภ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาหาแหล่งน้ำสำรอง

สำหรับนอกพื้นที่บริการ กปภ. ที่มีความเสี่ยง 38 จังหวัด โดยเฉพาะประปาชุมชนและประปาหมู่บ้านซึ่งมักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำทุกปี กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะสำรวจสถานภาพแหล่งน้ำที่มีอยู่ หากพื้นที่ใดมีความเสี่ยงขาดน้ำต้องประสานกับกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจัดหาแหล่งน้ำผิวดิน และน้ำบาดาล เป็นแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ รวมถึงพิจารณาหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่การเกษตรที่เป็นไม้ผล พืชต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน สทนช.ได้ประสานกระทรวงสาธารณสุขสำรวจพื้นที่ให้บริการต่างๆ โดยประสานกับหน่วยบริการจ่ายน้ำ เพื่อให้ได้ข้อมูลโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่มีความเสี่ยงขาดน้ำในฤดูแล้ง 38 จังหวัด เพื่อวางมาตรการป้องกันโดยเร่งด่วนด้วย


ประเด็นสุดท้าย ที่ประชุุมได้มีการพิจารณาพื้นที่น้ำร่องในการกำหนดเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำสำหรับหน่วงและเก็บกักน้ำหลากเพื่อดำเนินการในระยะแล้งนี้ เพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝนหน้า โดยที่ประชุมมอบหมายให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่าง 12 ทุ่ง และทุ่งบางระกำ โดยเพิ่มเติมโครงการนำร่องพื้นที่ลุ่มต่ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยัง จ.ร้อยเอ็ด และบางพลวง จ.ปราจีนบุรี พร้อมทั้งให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง พิจารณาแนวทางการจ่ายค่าชดเชยตามมติ ครม. 3 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ สทนช.ได้สรุปผลการประชุมเพื่อนำเสนอต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมทำหนังสือถึงหน่วยงานเกี่ยวข้องรับทราบมติที่ประชุมข้างต้น เพื่อให้เกิดผลที่ชัดเจนในทางปฏิบัติในการดำเนินการเชิงป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.พ.- พ.ค.63 เนื่องจากแนวโน้มปริมาณฝนในภาพรวมของประเทศลดลงต่อเนื่องด้วย