“เฉลิมชัย” เล็งถกสุริยะ ถอยคำสั่งแบน 3 สาร มนัญญาไม่ถอย อัดงบ 200 ล้านหนุนใช้เครื่องจักรกลเกษตร

“เฉลิมชัย” เล็งถกสุริยะ ถอยคำสั่งแบน 3 สาร มนัญญาไม่ถอย อัดงบ 200 ล้านหนุนใช้เครื่องจักรกลเกษตร ด้านเกษตรกร 5,000 คน เล็งยื่นข้อเรียกร้องทำเนียบ 27 พ.ย.นี้

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการเข้าพบตัวแทนเกษตรกร 19 องค์กรที่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกใช้ (แบน) สารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ว่า ได้รับมอบหมายฐานะเป็นตัวแทนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อรับข้อเรียกร้องจากเกษตรกร เนื่องจากนายกรัฐมนตรีติดภารกิจต่างประเทศ ณ กรุงปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ โดยเกษตรกรขอให้ยกเลิกมติแบนสารเคมี 3 สาร ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา และให้ศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน ทั้งเคมีและชีวภาพ หรือสารทดแทน

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน และเรื่องการแบนสารเคมี 3 ชนิด แน่นอนว่าเป็นกระแสที่สังคมสนใจ ดังนั้นในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ จะหารือกับนายสุริยะ เป็นการส่วนตัว เพราะเรื่องการแบนหรือไม่แบนสารนั้น เป็นอำนาจของคณะกรรมการวัตถุอันตราย

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในส่วนของข้อเรียกร้องของเกษตรกรกล่าวถึงมติแบน 3 สารที่เกิดขึ้น จากคณะกรรมการวัตถุอันตรายอ้างว่าพิจารณาตามความเห็นของกระทรวงเกษตรฯนั้น เป็นธรรมดาที่ทุกหน่วยงานจะเสนอข้อคิดเห็น แต่การตัดสินใจจะเห็นด้วยหรือไม่เป็นเรื่องที่คณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาตามหลักการ ซึ่งในการประชุมครั้งใหม่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 กระทรวงเกษตรฯจะเสนอข้อคิดเห็นเช่นกัน แต่เป็นเรื่องที่นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตร มีอำนาจในฐานะกรรมการที่จะเสนอไป เพราะตนเองไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจและไม่ได้อยู่วนคณะกรรมการ ดังนั้น ได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พิจาราณาผลกระทบต้นทุนการผลิตทุกด้าน คาดว่าจะมีตัวเลขประเมิน

“การหารือนี้คงไม่คุยกับนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรฯกรณีการคัดค้านการแบนของเกษตรกร เนื่องจากได้มอบอำนาจการตัดสินใจก่อนหน้าไปแล้ว ซึ่งท่านเองก็คงพิจารณารอบคอบ ผมก็ให้จัดทำบันทึกการประชุมเพื่อรายงานไปยังนายกรัฐมนตรี และจะทำรายงานไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตรายด้วย ฉะนั้นสิ่งที่เกษตรกรมายื่นในครั้งนี้ ไม่ต้องห่วงว่าผมจะเอาไปเสียบไว้ใต้โต๊ะ ผมก็ทำงาน เกิดมาชาติเดียวไม่ได้มีชาติที่สอง ผมก็ไม่อยากโดนด่า พยายามทำทุกอย่างให้ได้การรับการแก้ปัญหามากที่สุด มีกระทบบ้าง ทำงานกับเกษตรกร ลิ้นกับฟันก็มีบ้าง ไม่มีหรอกที่จะสะดวกราบรื่นล้านเปอร์เซ็นต์ มีปัญหาก็ช่วยกันแก้” นายเฉลิมชัยกล่าว

ADVERTISMENT

ด้านนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์จะสำรวจความต้องการของสหกรณ์การเกษตรเพื่อสนับสนุนให้สหกรณ์จัดหาเครื่องจักรกลทางการเกษตรและเครื่องมือต่าง ๆ ในการกำจัดวัชพืชและเตรียมดินเพื่อเพาะปลูก เช่น รถไถ เครื่องตัดหญ้า รถแทรคเตอร์ เพื่อให้สหกรณ์นำไปบริการแก่สมาชิกราคาถูก โดยรัฐอุดหนุน 90% สหกรณ์ 10% โดยสหกรณ์ต้องมีคุณสมบัติ คือ 1) ต้องได้รับความเห็นชอบและมีมติยินยอมเข้าร่วมโครงการจากที่ประชุมคณะกรรมการดาเนินงานสหกรณ์ 2) สถาบันเกษตรกรต้องมีสมาชิก เกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา และปาล์มน้ามัน 3) สามารถปิดบัญชีได้ในปีปัจจุบัน และ 4) ไม่มีข้อบกพร่องหรือมีแต่ได้รับการแก้ไขแล้วเสร็จ เป็นต้น เป้าหมาย 169 แห่ง เกษตรกร 101,400 คน แบ่งเป็น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 44 แห่ง ยางพารา 78 แห่ง มันสำปะหลัง 17 แห่ง ปาล์มน้ำมัน 19 แห่ง อ้อย 5 แห่ง และไม้ผล 6 แห่ง ทั้งนี้จะจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาสนับสนุนงบ คาดว่าประมาณ 200 ล้านบาทต่อไป

อย่างไรก็ตาม การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันที่ ‪27 พ.ย.‬นี้ ผลการประชุมจะเปลี่ยนไปหรือไม่นั้น ทุกฝ่ายควรกลับมาดูเหตุผล ว่าทำไมถึงแบนสาร 3 สารนี้ ซึ่งหากประชุมในครั้งที่ 2 ผลจะมีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องชี้แจงเหตุผล นอกจากนี้เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 62 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสารวัตรเกษตรจากทั่วประเทศเพื่อทำความเข้าใจที่ตรงกันในการปฏิบัติหน้าที่ก่อนที่จะมีการยกเลิกการใช้ ซึ่งไม่มีใครคัดค้าน และในวันนี้ก็ได้ประชุมร่วมกับสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ ให้มีการวางแผน เตรียมมาตรการไว้รองรับ ส่วนมติที่ประชุม‪ในวันที่ 27 พ.ย.‬ นี้จะเป็นอย่างไรนั้น ก็ยอมรับผลการประชุม ซึ่งมั่นใจว่าได้เดินหน้าทำเต็มที่แล้ว หากใครต้องการให้ชี้แจงก็ยินดี เมื่อทำแล้วก็พร้อมที่จะผิดชอบ จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ADVERTISMENT

“สำหรับกรณีที่กรมวิชาการเกษตร ขยายเวลาบังคับใช้ในการจัดเก็บคืนสารเคมีวัตถุอันตรายทางการเกษตร 3 ชนิด ออกไปอีก 180 วัน หรือ 6 เดือน เนื่องจากมีสต๊อกเหลือกว่า 2 หมื่นตัน หลังจากที่มีการประกาศแบน 3 สาร วันที่ ‪1 ธ.ค.‬62 นั้น ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร เร่งทำหนังสือชี้แจงภายในวันที่ ‪26 พ.ย.‬ 62 ถึงเหตุผลที่ต้องขยายเวลาออกไป หรือมีปัญหาติดขัดในส่วนไหน ให้ชี้แจงมา” นางสาวมนัญญา กล่าว

ขณะที่ นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า ในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ จะเป็นอีกหนึ่งวันที่กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจะมาร่วมแสดงพลัง สะท้อนให้ภาครัฐได้เห็นถึงผลกระทบของการแบนสารเคมีเกษตรที่มีต่อเกษตรกรพืชไร่และไม้ผลต่างๆ เบื้องต้น เกษตรกรกว่า 5,000 ราย เตรียมเดินทางมากระทรวงเกษตรฯ และทำเนียบรัฐบาลแล้ว หวังว่าจะไม่โดนหน่วยงานภาครัฐสกัดกั้นเช่นในอดีตที่ผ่านมา ส่วนในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 เกษตรกรจะยังคงปักหลักอยู่กรุงเทพฯ และเดินทางไปรับฟังผลการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่อีกครั้งที่ กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป

นายสุกรรณ์ กล่าวต่อว่า เพื่อให้มั่นใจ นายเฉลิมชัย และนายสุริยะ และคณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้พิจารณาอย่างรอบคอบและกลับไปใช้มาตรการจำกัดการใช้ฯ ตามข้อเสนอของเกษตรกรกว่า 1.5 ล้านราย ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายเป็นวงกว้างกว่า 2 ล้านล้านบาท และเกษตกรคงต้องพึ่งศาลยุติธรรมเอาผิดกับผู้ลงนามทุกราย ทุกกรม ทุกกระทรวง และนักวิชาการอิสระ