กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยยอดจดบริษัทตั้งใหม่เดือนต.ค. หด 7% แต่มูลค่าทุนตั้งใหม่พุ่งเฉียด 1 แสนล้านบาท

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยยอดจดบริษัทตั้งใหม่เดือนต.ค. หด 7% จำนวน 5,751 ราย แต่มูลค่าทุนตั้งใหม่พุ่งเฉียด 1 แสนล้านบาท ผลควบรวมกิจการกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ – ธุรกิจรองรับอีอีซี ด้านบริษัทเลิก มีจำนวน 2,116 ราย เพิ่มขึ้น 2% คาดทั้งปีคาดตั้งใหม่ทะลุ 76,000 ราย

นางโสรดา เลิศอาภาจิตร์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การจดทะเบียนธุรกิจเดือนต.ค.2562 มีผู้ประกอบการยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศ 5,751 ราย ลดลง 17%เทียบกับเดือนก.ย.2562 และลดลง 7%เทียบกับเดือนต.ค.2561 และมีทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นมากถึง 98,590 ล้านบาท เทียบกับเดือนก.ย.2562 เพิ่ม 248% และเทียบกับต.ค.2561 เพิ่ม 393% โดยธุรกิจที่จัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ยังคงเป็นธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร

ส่วนธุรกิจเลิกกิจการเดือนต.ค.2562 มีจำนวน 2,116 ราย เทียบกับก.ย.2562 เพิ่มขึ้น 9% และเทียบกับต.ค.2561 เพิ่มขึ้น 2% โดยธุรกิจเลิกกิจการ 3 อันดับแรก ยังสอดคล้องกับธุรกิจจัดตั้งใหม่ คือ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร เพราะตั้งมาก ก็เลิกมาก เป็นปกติของการทำธุรกิจ โดยมีทุนจดทะเบียนเลิก 8,050 ล้านบาท เมื่อเทียบกับก.ย.2562 ลดลง 48% เทียบต.ค.2561 ลดลง 20%

ทั้งนี้ ยอดรวมบริษัทตั้งใหม่ในช่วง 10 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ต.ค.) มีจำนวน 63,359 ราย เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น 1% มีทุนจดทะเบียนรวม 284,618 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% ส่วนบริษัทเลิกกิจการ มีจำนวน 14,070 ราย เพิ่มขึ้น 2% ทุนจดะเบียนเลิก 82,959 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15%

“มีการจัดตั้งธุรกิจขนาดใหญ่ และการตั้งธุรกิจสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามนโยบายการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของรัฐบาล ทำให้เดือนต.ค. มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 98,509 ล้านบาท”

สำหรับรายละเอียดของบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนสูง คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีการควบรวมกิจการนิติบุคคล 12 รายเหลือรายเดียว มูลค่าทุน 71,665 ล้านบาท บริษัทแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน 1 ราย มูลค่าทุน 1,281 ล้านบาท และตั้งบริษัทจำกัด 1 ราย มูลค่าทุน 1,000 ล้านบาท และการตั้งธุรกิจรองรับโครงการในอีอีซี คือ การขนส่งทางรางและพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก เชื่อม 3 สนามบิน 1 ราย สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา มูลค่าทุน 4,000 ล้านบาท และธุรกิจสิ่งอำนวยความสะดวกของท่าเรือ มี 1 รายที่มีมูลค่าทุน 1,000 ล้านบาท และอีก 1 ราย มูลค่าทุน 3,500 ล้านบาท ทำธุรกิจสำหรับโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด

สำหรับแนวโน้มการจดทะเบียนตั้งใหม่ เริ่มขยายตัวไปยังพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตามการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ ทั้งการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบิน ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด รวมถึงการดึงดูดการลงทุนเข้ามาในอีอีซี ทำให้มีธุรกิจตั้งใหม่เพื่อรองรับเพิ่มมากขึ้น

“คาดการณ์การตั้งบริษัทใหม่ทั้งปี 2562 คาดว่า ยอดรวมจะทำได้ประมาณ 72,000-76,000 ราย จากการที่รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1.25% และธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลง ทำให้เกิดแรงกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การบริโภค การลงทุนของภาคเอกชน และการดึงดูดการลงทุนในอีอีซี ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้มีการตั้งธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น”นางโสรดากล่าว