“ม็อบ”บี้เลื่อนแบนพาราควอต สบช่อง2ปีล้างสต๊อกเกลี้ยง

แฟ้มภาพ
3 สมาคมผู้ค้าสารเคมีกำจัดวัชพืชขนม็อบเกษตรกร 4,000 คน บุก 2 กระทรวง กดดันคณะกรรมการวัตถุอันตราย “ชะลอ” แบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต” ขอเวลา 2 ปี จับตาท่าที “สุริยะ” ยังไม่ประกาศวัตถุอันตรายชนิดที่ 4

 

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย ถูก “กดดัน” อย่างหนัก ในการประชุมวันที่ 27 พฤศจิกายน เพื่อที่จะตัดสินใจในเรื่องสำคัญ จะเดินหน้า “แบน” 3 สารกำจัดวัชพืชอันตรายร้ายแรง “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต” ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 (ตามมติวันที่ 22 ตุลาคม) ต่อไป หรือจะ “ชะลอ” การบังคับใช้ออกไปอีกระยะเวลาหนึ่ง ท่ามกลางมวลชนหนุนหลัง 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง686 องค์กร กับ 3 สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย, สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร, สมาคมอารักขาพืชไทย, กลุ่มเกษตรกรที่ต้องการใช้สารกำจัดวัชพืชต่อไป และเครือข่ายอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบที่มีการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชจากต่างประเทศ

ขอลุงตู่ยกเลิกแบน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงาน 3 สมาคมที่เป็นตัวแทนของผู้ค้าสารเคมีการเกษตรกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช รวมกับกลุ่มเกษตรกรประมาณ 4,000 คนได้รวมตัวกันที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์-กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อที่จะเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอ “ทวงสิทธิ” เกษตรกรที่ต้องการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช พาราควอต-คลอร์ไฟริฟอส-ไกลโฟเซต ต่อไป พร้อมกับคัดค้านการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ด้วยเหตุผล 1) การลงมติ “แบน” สารเคมีทั้ง 3 ชนิดของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในวันที่ 22 ตุลาคม 2562 มิได้มีการพิจารณาข้อมูลหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใหม่ และมิได้มีการพิจาณาถึงผลกระทบต่อเกษตรกร

2) ผลการรับฟังความเห็นจากประชาชนต่อร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ซึ่งสิ้นสุดการรับฟังเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 ปรากฏมีผู้ไม่เห็นด้วยต่อการยกเลิกการใช้สารทั้ง 3 ชนิด ถึงมากกว่า 70% 3) ยังมิได้มีมาตรการรองรับผลกระทบจากการยกเลิก ต่อเกษตรกร-อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร

4) การยกเลิกการใช้สารทั้ง 3 ชนิดอย่างเร่งรีบ และไม่มีมาตรการรองรับขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2560 มาตรา 73

Advertisment

5) การยกเลิกการใช้สารทั้ง 3 ชนิดอย่างเร่งรีบ และไม่มีมาตรการรองรับยังส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์

“ในระหว่างนี้ให้นำมาตรการจำกัดการใช้มาใช้ตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ เพื่อส่งเสริมการใช้สารเคมีเกษตรอย่างถูกต้องและปลอดภัย และหากยืนยันที่จะยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 รัฐบาลต้องมีคำตอบเรื่องสารทดแทนที่ดีกว่าหรือเทียบเท่า ทั้งในด้านความปลอดภัย ประสิทธิภาพ รวมถึงความคุ้มค่าในเรื่องต้นทุนเกษตรกร”

Advertisment

กลับลำไม่ส่งออก

มีรายงานข่าวจากกลุ่มผู้นำเข้าผลิตและจำหน่ายสารเคมีกำจัดวัชพืชทั้ง 3 ชนิดเข้ามาว่า ได้มีการประเมินสถานการณ์ทางที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือ “ชะลอ” บังคับใช้การประกาศแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดออกไปอีกระยะเวลาหนึ่ง หรือเท่ากับกลุ่มผู้ค้ายังมีโอกาสที่จะจำหน่ายสารเคมีที่เหลือตกค้างอยู่ในสต๊อก ซึ่งการชะลอการแบนออกไป จะส่งผลดีกับผู้ค้า 2 ประการ คือ 1) ไม่จำเป็นจะต้องทำการส่งออกสารเคมีเหล่านี้ออกไปนอกประเทศ กับ 2) พ้นไปจากความรับผิดชอบที่จะตกเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการทำลายสารเคมีทั้ง 3 หากบริษัทยังเหลือครอบครองอยู่

นายสกล มงคลธรรมากุล ประธานที่ปรึกษาสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร และสมาคมอารักขาพืชไทย กล่าวถึงการส่งออกสารเคมีกลับคืนประเทศต้นทาง หรือส่งไปประเทศที่ 3 นั้น ในทางปฏิบัติ “เป็นไปไม่ได้ และเป็นไปได้ยาก” เนื่องจากการนำเข้าสารเคมีกำจัดวัชพืชในแต่ละประเทศมีกฎระเบียบแตกต่างกัน สารเคมีที่ไทยนำเข้ามีการปรับสูตรให้เหมาะสมกับศัตรูพืชในประเทศ แต่ที่สำคัญก็คือ การที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย ประกาศให้ทั้ง 3 สารเคมี จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามนำเข้า-ห้ามผลิต-ห้ามใช้-ห้ามส่งออก และห้ามครอบครองนั้น “จะไม่มีประเทศใดอนุญาตให้นำเข้าประเทศได้” ดังนั้น รัฐบาลต้องพิจารณาข้อกฎหมายด้วย

ขณะที่ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวยืนยันว่า มีบริษัทได้แจ้งความจำนงจะขอ “อนุมัติ” ส่งออกสารเคมีกำจัดวัชพืชทั้ง 3 ประเภท ซึ่งทางที่ดีที่สุดก็คือเร่งส่งออกลอตแรกให้ได้ 700 ตัน ก็จะลดปริมาณสต๊อกตกค้างหลังวันที่ 1 ธันวาคม ลงไปได้ระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ มีข้อน่าสังเกตถึงปริมาณสต๊อกสารเคมีทั้ง 3 ประเภท ที่กรมวิชาการเกษตรรายงานเข้ามา กลับเต็มไปด้วยความสับสนจนไม่มีใครแน่ใจว่า แท้จริงแล้วมีสารเคมีเหลือตกค้างอยู่เท่าใดกันแน่ ยกตัวอย่าง เดือนมิถุนายน 2562 มีบันทึกสต๊อกสารเคมี 3 ชนิด คงเหลือ 36,243 ตัน จาก 103 บริษัท, วันที่ 5 กรกฎาคม มีรายงานสต๊อกคงเหลือ 34,688 ตัน, วันที่ 30 กันยายน รายงานสต๊อกคงเหลือ 29,669 ตัน, วันที่ 31 ตุลาคม สต๊อกเหลือ 23,263 ตัน แต่ล่าสุดวันที่ 12 พฤศจิกายน รายงานสต๊อกคงเหลือเพิ่มขึ้นมาเป็น 38,855 ตัน หรือสต๊อกคงเหลือเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายนอีก 2,612 ตัน โดยมีการประเมินกันว่า สต๊อกคงเหลือระดับ 38,000 ตัน เกษตรกรจะใช้กำจัดวัชพืชได้อย่างต่ำไม่น้อยกว่า 2 ปีทีเดียว

หึ่งเลื่อนบังคับใช้

ล่าสุดมีรายงานจากกระทรวงอุตสาหกรรมเข้ามาว่า ในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย วันที่ 27 พฤศจิกายน ซึ่งมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานนั้น “มีความเป็นไปได้สูงที่จะเลื่อนการแบน 3 สารเคมีอันตรายออกไปอีก ด้วยเหตุผลที่ว่า 1) ร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ที่ดำเนินการยกร่างโดยกรมวิชาการเกษตร ยังไม่แล้วเสร็จ ไม่สามารถลงในราชกิจจานุเบกษาได้ทัน 2) ยังไม่มีความชัดเจนทั้งในเรื่องของการเยียวยาเกษตรกร-การจัดเก็บทำลายสารเคมี-ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งจากตัวเกษตรกรและผู้ประกอบการค้าสารกำจัดวัชพืช และ 3) คณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิด ที่มี นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน แสดงท่าทีขอให้เลื่อนการบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคมออกไปก่อน

“ท่าทีของคณะทำงานของกระทรวงเกษตรฯสอดคล้องกับข้อเสนอของผู้ค้าสารกำจัดวัชพืชที่กลับลำไม่ยอมส่งออกไปประเทศที่ 3 แต่ต้องการให้มีเวลาจำหน่ายสารเคมีในสต๊อกตกค้างกว่า 38,000 ตัน ให้กับเกษตรกรในประเทศทั้งหมดแทน ซึ่งเบื้องต้นจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี และระหว่างนี้ให้นำมาตรการจำกัดการใช้มาบังคับใช้ต่อไป โดยผู้เสนอให้ชะลอการบังคับใช้จะต้องเป็นกรมวิชาการเกษตร ไม่ใช่กระทรวงอุตสาหกรรม” แหล่งข่าวกล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม… เลื่อนแบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” 6 เดือน 1 มิ.ย.63 ต้องหมด “ไกลโฟเซต” รอด