จ่อปรับเป้าส่งออกปี”62 ติดลบ 3% ต่ำสุดในรอบ 4 ปี

(Photo by Markus Scholz/picture alliance via Getty Images)
ไทยอ่วมทั้งขึ้้นทั้งล่อง ศก.โลกซ้ำบาทแข็งทุบส่งออกเดี้ยง สูญรายได้ 2 แสนล้านต่อปี คาดการณ์ไตรมาส 4 ส่งออกติดลบกว่า 4.5% “สภาผู้ส่งออก”เตรียมปรับลดประมาณการเป้าหมายปี”62 ติดลบกว่า 3% ต่ำสุดในรอบ 4 ปี

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือสภาผู้ส่งออก (สรท.) เปิดเผยภายหลังงานครบรอบ 25 ปี สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยว่าในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 ทางสภาผู้ส่งออกจะมีการประชุมเพื่อทบทวนประมาณการเป้าหมายการส่งออกปี 2562 ใหม่ ผลจากตัวเลขส่งออกเดือนตุลาคมลดลงมากถึง 4.5%

โดยเบื้องต้นหากการส่งออกอีก 2 เดือนสุดท้าย ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2562 สามารถส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนได้มูลค่า 20,700 ล้านเหรียญเท่ากับเดือนตุลาคม 2562 จะทำให้ภาพรวมไตรมาส 4/2562 เฉลี่ยลดลงกว่า 4.5% และมีผลให้การส่งออกทั้งปีนี้ลดลงมากกว่า 3% จากเดิมที่สภาผู้ส่งออกเคยคาดการณ์ว่าจะติดลบ 1.5% ทั้งนี้ ถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 4 ปี นับจากปี 2558 ที่ส่งออกติดลบ 5.8% ส่วนปีหน้ายังคาดว่าการส่งออกจะขยายตัว0-1%

สำหรับปัจจัยหลักที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากสงครามการค้าที่ยังคงยืดเยื้อ กระทบตลาดส่งออก รวมถึงปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งในการประเมินเป้าหมายการส่งออกดังกล่าวทางสภาผู้ส่งออก ยังคงวางกรอบอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะเสนอธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่มมาตรการในการดูแลค่าเงินบาทเพิ่มเติมมาตรการที่ ธปท.ดำเนินการออกมาก่อนหน้านี้ พร้อมทั้งเร่งเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับคู่ค้าต่างๆ

“การที่สหรัฐเตรียมปรับขึ้นภาษีสินค้ารอบใหม่จากจีนวันที่ 15 ธันวาคมนี้ เรามองว่าสองฝ่ายน่าจะเจรจากันได้ แต่หากเจรจาไม่สำเร็จผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการส่งออกก็จะเห็นผลในปีหน้า แต่ไทยยังต้องประเมินปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างไม่ใช่แค่เทรดวอร์ แต่ยังมีเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมืองในหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง หรือ Brexit และปัจจัยเสี่ยงค่าแรง ซึ่งยังมีการคุยกันว่าจะขึ้นค่าแรงอยู่ ก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า และที่สำคัญการขาดแคลนแรงงานจากสังคมสูงวัยก็อาจจะกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน และภาคเกษตร”

ด้านวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า ผลจากสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่แข็งค่าขึ้นมาแล้วประมาณ 17% ทำให้การส่งออกสูญเสียรายได้จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าหลายแสนล้านบาท หรือเฉลี่ยสูญเสียปีละเกือบ 2 แสนล้านบาท โดยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบมากสุด คือ กลุ่มผู้ใช้วัตถุดิบในประเทศผลิตสินค้าส่งออก ดังนั้น เร็ว ๆ นี้ ธปท.จะมีการหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อขอยกระดับมาตรการดูแลค่าเงินบาทเพิ่มเติม โดยอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่เอกชนสามารถค้าขายได้ควรอยู่ที่ 30-33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ในส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าปี 2563 การส่งออกขยายตัว 3-5% เนื่องจากปีนี้ติดลบค่อนข้างสูงแล้ว ในปีหน้าสินค้าอาหารน่าจะเป็นสินค้าจำเป็นที่ตลาดยังมีความต้องการ โดยเฉพาะอาหารกลุ่มอาหาร functional food เติบโตได้ดี เพราะเทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ และการก้าวสู่สังคมสูงวัยจะทำให้อาหารกลุ่มนี้ได้รับความนิยม ดังนั้น ผู้ผลิตจะต้องปรับตัว สร้างนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าให้อาหาร แทนการขายสินค้าเกษตรในรูปโภคภัณฑ์แบบเดิม ซึ่งเน้นการแข่งขันเรื่องราคา

“ยกตัวอย่างเช่น ข้าว ที่เคยผลิตและส่งออกได้ปริมาณมากเป็นอันดับ 1 แต่ภายหลังจากประสบปัญหาค่าบาทแข็ง ราคาข้าวหอมมะลิไทยแพงกว่าคู่แข่งเกือบ 2 เท่า ปริมาณการส่งออกก็ลดลง อีกทั้งคู่แข่งโดยเฉพาะเวียดนามได้พัฒนาการผลิตสินค้าที่มีสายพันธุ์ดี ซึ่งทางออกคือการต่อยอดผลิตสินค้ากลุ่ม functional food ขณะที่ต้นน้ำต้องพัฒนาสายพันธุ์เพิ่มผลผลิต เช่น ข้าว กข.43 เป็นข้าวที่มีปริมาณน้ำตาลต่ำ เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่ดูแลเรื่องสุขภาพ”

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงในการส่งออกอาหารในปีหน้า ยังต้องติดตามปัญหาเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบ เพราะขณะนี้มีแนวโน้มสัญญาณภัยแล้งจะรุนแรง ซึ่งขณะนี้กลุ่มผักและอาหารเริ่มประสบปัญหาบ้าง เช่น ข้าวโพดหวาน และสับปะรด ซึ่งมีซัพพลายลดลง แต่ในอีกด้านหนึ่งปัญหานี้อาจจะทำให้ผู้ผลิตสามารถปรับราคาสินค้าขยับขึ้นได้ ซึ่งจะชดเชยผลกระทบจากค่าบาทแข็งค่าได้บ้าง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) 4 ฉบับ เพื่อสร้างแต้มต่อและโอกาสทางการค้า ประกอบด้วย การเร่งรัดให้มีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งจะนำร่องใน 15 ประเทศ โดยเตรียมจะจัดประชุมรับฟังความเห็นทุกภาคส่วนอีกครั้งในวันที่ 16 ธันวาคมนี้ ก่อนที่จะมีการเตรียมลงนามในต้นปี 2563 และความตกลงเอฟทีเอไทย-ตุรกี ซึ่งเป็นประเทศที่ไทยสามารถใช้เป็นเกตเวย์สู่ตลาดสหภาพยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา, เอฟทีเอไทย-ศรีลังกา ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิกติสก์ และเอฟทีเอไทย-ปากีสถาน ซึ่งมีประชากรมากกว่า 160 ล้านคน

ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไทยในเดือนตุลาคม 2562 มีมูลค่า 20,758 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 4.5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 20,251 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 7.6% ส่งผลให้การค้าไทยเกินดุล 507 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้การส่งออก 10 เดือนแรกของปี 2562 (มกราคม-ตุลาคม 2562) มีมูลค่า 207,330 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.4% การนำเข้า มีมูลค่า 199,442 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.1% ทำให้ไทยมีการค้าเกินดุล 7,888 ล้านเหรียญสหรัฐ