กรมการค้าต่างประเทศ แจงข้อกำหนดและการบังคับใช้ประกาศห้ามนำเข้ารถยนต์ใช้แล้ว ก่อนจะมีผลบังคับใช้ 10 ธ.ค. นี้ ย้ำหากนำเข้ารถยนต์ภายใต้ระเบียบเดิมต้องดำเนินการไม่เกินวันที่ 9 ธ.ค. 62 เท่านั้น
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกำหนดให้รถยนต์ใช้แล้วเป็นสินค้าที่ต้องห้ามหรือต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งจะมีผลใช้บังคับวันที่ 10 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป
โดยกำหนดห้ามนำเข้ารถยนต์ใช้แล้วหลายชนิด โดยเฉพาะรถยนต์นั่งใช้แล้วส่วนตัว ซึ่งใบอนุญาตนำเข้ารถยนต์ใช้แล้วทุกประเภทที่ออกตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายฉบับเดิม จะมีอายุไม่เกินวันที่ 9 ธันวาคม 2562 ดังนั้น ผู้ได้รับใบอนุญาตแล้วจะต้องนำเข้ารถยนต์ให้แล้วเสร็จภายในอายุใบอนุญาตด้วย
สำหรับการนำเข้ารถยนต์ลักษณะพิเศษใช้แล้ว อาทิ รถหัวลาก รถเครนและปั่นจั่น และการนำเข้ารถยนต์ใช้แล้วที่ได้รับบริจาคของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การสาธารณกุศล อาทิ รถพยาบาลและรถดับเพลิง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ยังคงสามารถขออนุญาตนำเข้าได้ สำหรับการนำเข้ารถยนต์ใช้แล้วประเภทอื่น อาทิ การนำเข้ารถยนต์ที่มีเอกสิทธิ์ทางการทูต การนำเข้ารถยนต์ชั่วคราว การนำเข้ารถยนต์ต้นแบบเพื่อวิจัยและทดสอบ การนำเข้ารถยนต์เพื่อปรับสภาพแล้วส่งออก การนำเข้ารถยนต์เพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ และการนำเข้ารถยนต์ที่เป็นยุทธภัณฑ์ จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามรายละเอียดในประกาศกระทรวงฯ ฉบับดังกล่าว
กรณีการนำเข้ารถยนต์เพื่อปรับสภาพแล้วส่งออก ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป ผู้ประกอบอุตสาหกรรมปรับสภาพรถยนต์หากประสงค์จะนำเข้ารถยนต์ใช้แล้วเพื่อปรับปรุงหรือซ่อมด้วยวิธีการใดๆ ให้มีสภาพใช้งานได้ในเขตประกอบการเสรีหรือเขตปลอดอากรแล้วส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของกรมศุลกากรและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยอย่างเคร่งครัด
โดยเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 กรมฯ ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับประกาศกระทรวงฯ ฉบับดังกล่าว ที่ประชุมขอให้กรมการค้าต่างประเทศซักซ้อมความเข้าใจแนวปฏิบัติในกรณีการนำเข้ารถยนต์ใช้แล้วเพื่อปรับปรุงหรือซ่อมด้วยวิธีการใดๆ ให้มีสภาพใช้งานได้ในเขตประกอบการเสรีหรือเขตปลอดอากร ดังนี้
1. ผู้นำเข้ารถยนต์ใช้แล้วเพื่อปรับปรุงหรือซ่อมด้วยวิธีการใดๆ ให้มีสภาพใช้งานได้ในเขตประกอบการเสรีหรือเขตปลอดอากรแล้วส่งออกไปนอกราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือกฎหมายว่าด้วยศุลกากร จะต้องมีหนังสือแสดงเจตนาหรือวัตถุประสงค์ประกอบใบขนสินค้าขาเข้า และจะต้องมีสถานประกอบการในเขตดังกล่าวด้วย
2. ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 “ปรับปรุง” หมายความว่า แก้ไขให้เรียบร้อยยิ่งขึ้น “ซ่อม” หมายความว่า ทำสิ่งที่ชำรุดให้คืนดี ดังนั้น “การปรับปรุงหรือซ่อมด้วยวิธีการใดๆ ให้มีสภาพใช้งานได้” หมายความถึง การแก้ไขหรือปรับปรุงของที่ชำรุดหรือเสียหายให้คืนดีหรือเรียบร้อยยิ่งขึ้น แต่ไม่รวมถึง การบำรุงรักษาทั่วไปหรือตรวจสภาพการใช้งาน อาทิ การทำความสะอาด การขัดสีที่มิได้อยู่ในกระบวนการทำสีและซ่อมสี การตรวจสอบสภาพเครื่องยนต์ การทดสอบระบบการขับเคลื่อน การตรวจสอบระบบไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้นำเข้าจะต้องแสดงเอกสารหรือหลักฐานการปรับปรุงหรือซ่อมเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ
อนึ่ง ผู้ประกอบการรายใดที่ได้รับอนุญาตจากกรมการค้าต่างประเทศให้นำเข้ารถยนต์เพื่อปรับสภาพแล้วส่งออกก่อนวันที่ 10 ธันวาคม 2562 จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดตามกฎหมายเดิมจนกว่าจะพ้นภาระและความรับผิด ทั้งนี้ รวมถึงการนำเข้ารถยนต์เป็นการชั่วคราวด้วย
นายกีรติกล่าวเพิ่มเติมว่า การฝ่าฝืนนำเข้าสินค้าต้องห้ามจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 ดังนั้น หากผู้ประกอบการรายใดฝ่าฝืนนำเข้าสินค้ารถยนต์ใช้แล้วตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภท 87.01 (ยกเว้นรถหัวลาก) ประเภท 87.02 ประเภท 87.03 (ยกเว้นรถพยาบาล) ประเภท 87.04 และรถยนต์ใช้แล้วที่มีอายุเกินหนึ่งร้อยปี (รถโบราณ) ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภท 97.06 ซึ่งเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้าแล้ว กรมศุลกากรจะดำเนินการทำลายรถยนต์ดังกล่าว ผู้ประสงค์นำเข้าจึงต้องตรวจสอบประเภทรถยนต์ใช้แล้วให้เรียบร้อยก่อนนำเข้าว่าเข้าข่ายต้องห้ามนำเข้าหรือไม่
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองบริหารการค้าสินค้าทั่วไป โทร. 02-547-5124 หรือเว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th หรือสายด่วน 1385