ศึกชิงเก้าอี้ CEO ปตท. จับตาขั้วบิ๊กตู่ชี้ชะตาพลังงานไทย

จับตาขั้วอำนาจการเมืองชี้นำ ศึกชิงซีอีโอ ปตท.คนที่ 10 เดือด 6 ผู้สมัครเปิดหน้าท้าประลอง “นพดล-วิรัตน์” ตัวเต็ง จับตานารีขี่ม้าขาว “จิราพร” กุมหัวใจธุรกิจค้าปลีก คลุกวงในนโยบายพรรคพลังประชารัฐ จุดเปลี่ยนกุมชะตาอาณาจักรธุรกิจพลังงานไทย 2.4 ล้านล้านบาท โจทย์ใหญ่พลิกอนาคตองค์กรรับยุคดิจิทัล

บริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านพลังงานของประเทศอย่าง ปตท. กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะเปลี่ยนตัวผู้บริหารสูงสุดขององค์กร โดย นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (CEO) จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 ท่ามกลางการจับตามองว่า “ใคร” จะขึ้นมากุมบังเหียนบริษัทที่ดูแลความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ อีกทั้งยังเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยมีมาร์เก็ตแคปล่าสุด (28 พ.ย. 2562) อยู่ที่ 1.24 ล้านล้านบาท ทรัพย์สินรวม ณ สิ้นปี 2561อยู่ที่ 2.35 ล้านล้านบาท โดยปีที่ผ่านมา ปตท.มีรายได้รวม 2.36 ล้านล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1.19 แสนล้านบาท

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศรายชื่อผู้สมัครชิงตำแหน่ง “ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ คนที่ 10” จำนวน 6 คน ประกอบไปด้วย

1. นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC)

2. นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP)

3. นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท.

4. นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC)

5. นางสาวเพียงพนอ บุญกล่ำ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักกฎหมาย ปตท.

6. นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR)

โดยผู้สมัคร CEO ปตท.รอบนี้ทั้ง 6 คนเป็น “คนใน” องค์กร ปตท.ทั้งหมด ต่างจากการชิงตำแหน่ง CEO คนที่ 9 มีผู้สมัครเป็นคนใน 3 คน (นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร-นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต-นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์) ทำให้การแข่งขันค่อนข้างที่จะคึกคักมากกว่าครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นการแข่งขันภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แตกต่างจากครั้งที่แล้วที่อยู่ในช่วงของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า เบื้องหลังการคัดเลือก CEO ปตท. ไม่ได้มาจากคณะกรรมการสรรหาทั้ง 100% แต่มี “การเมือง” เข้ามาชี้ตัวผู้ชนะเป็นหลัก

จับตา 2 ม้ามืด  

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามไปยังกลุ่มผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. หลายคนให้ความเห็นตรงกันว่า หากมองที่คุณสมบัติและประสบการณ์การทำงานจากผู้สมัครทั้ง 6 คนแล้ว เทียบกับคุณสมบัติในการเป็น CEO เบื้องต้นที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจภาพรวมธุรกิจของ ปตท.ไม่เฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง เห็นว่า นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต กับ นายนพดล ปิ่นสุภา จะเป็น “แคนดิเดต” ที่สำคัญคู่หนึ่ง

นายนพดล-ปิ่นสุภา

โดยนายนพดลผ่านการทำงานในธุรกิจหลักของ ปตท. ด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ระบบท่อจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ รวมไปถึงกลุ่มธุรกิจใหม่อย่างไฟฟ้า ภายใต้บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และล่าสุดยังดำรงตำแหน่งในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน บริษัท ไออาร์พีซี ด้วย

ในขณะที่นายวิรัตน์นั้น เส้นทางใน ปตท.ก็ไม่แตกต่างจากนายนพดล จับงานทั้งธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและขั้นปลาย ล่าสุดดำรงตำแหน่ง CEO บริษัท ไทยออยล์ ที่สำคัญก็คือ นายวิรัตน์เคยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินของบริษัท ปตท. มาก่อนหน้านี้ด้วย

“ธุรกิจพลังงานของ ปตท.ถือว่าครบวงจร ประกอบไปด้วยธุรกิจต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ที่ออกมาเป็นโปรดักต์ตอบสนองความต้องการของตลาด การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ทะเลอ่าวไทยและบนบก ที่มี บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เป็นกลไกสำคัญในธุรกิจนี้ รวมไปถึงธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน ในด้านประสบการณ์ในองค์กรถือว่า ทั้ง 2 ท่านมีความโดดเด่น ประกอบกับในการสรรหา CEO รอบที่แล้ว (นายชาญศิลป์) นายวิรัตน์ได้ลงแข่งขันด้วย โดยล่าสุดมีข่าวว่า นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และอดีต CEO ปตท.‘ก็มองนายวิรัตน์อยู่’ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท ปตท. ของนายไพรินทร์เองด้วย เพราะมีความเชื่อกันว่า นายไพรินทร์ค่อนข้างแนบแน่นกับผู้ใหญ่ในรัฐบาลชุดนี้ จากการได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง รมช.คมนาคมในยุครัฐบาล คสช.”

หากนายไพรินทร์ถูกดึงกลับมาเป็นกรรมการ ปตท. คนที่นายไพรินทร์ให้การสนับสนุนก็จะมีน้ำหนักในการพิจารณาของผู้ใหญ่ในรัฐบาลชุดนี้มาก แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่า ผู้ใหญ่ในรัฐบาลจะฟังใคร เพราะจะต้องมีบุคคลแวดล้อมเสนอชื่อบุคคลอื่น ๆ ไม่ใช่แต่นายไพรินทร์จะเสนอคนเดียว แหล่งข่าวให้ข้อสังเกต

นารีขี่ม้าขาวชิงเก้าอี้ ปตท.

อย่างไรก็ตาม การสรรหา CEO ปตท.รอบนี้อาจจะมี เซอร์ไพรส์ หลังจากที่ปรากฏชื่อของ น.ส.จิราพร ขาวสวัสดิ์ CEO ของบริษัท ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด หรือ PTTOR แม้ประสบการณ์ในการทำงานในองค์กร ปตท. ยังไม่ครอบคลุมเหมือนกับผู้สมัครคนอื่น ๆ แต่ในช่วงที่ผ่านมานับว่า “เป็นผู้บริหารหญิงที่มีความโดดเด่นมาก” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามาในจังหวะที่ ปตท.กำลังจะแยกธุรกิจค้าปลีกที่สามารถสร้างรายได้ออกมาจากกลุ่ม

จิราพร ขาวสวัสดิ์

“คุณจิราพรค่อนข้างคุ้นเคยในการร่วมงานกับท่านสนธิรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คนปัจจุบัน ซึ่งมีความใกล้ชิดกับนายสมคิด รองนายกรัฐมนตรีมาก สังเกตได้ว่าเวลานายชาญศิลป์ เข้าพบ รมว.พลังงาน จะต้องเห็นภาพคุณจิราพรด้วย เนื่องจากเป็นคนทำงานเบื้องหลังโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก อาทิ โครงการไทยเด็ดผ่านทางสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ซึ่งเป็นเรื่องช่วยชุมชนรากหญ้าที่รัฐบาลชุดนี้ชอบ ส่งผลให้ชื่อของคุณจิราพร ถูกจับจ้องเป็นพิเศษจากการสนับสนุนของฟากรองนายกฯสมคิด”

ส่วนทางด้านของผู้สมัครท่านอื่น ๆ อาทิ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ซึ่งลงแข่งขันกับนายชาญศิลป์ในอดีต มาครั้งนี้ค่อนข้างที่จะ เงียบและมีประสบการณ์ที่เคยได้รับการสนับสนุนจากอดีต CEO ปตท.คนก่อน ๆ หน้านี้ ส่วนนายชวลิต ทิพพาวนิช CEO GPSC การทำงานในองค์กร ปตท.ก็ยังไม่ครอบคลุมเท่าผู้สมัครท่านอื่น ด้านนางสาวเพียงพนอ บุญกล่ำ ก็เติบโตมาในสายกฎหมาย

“ถ้าพูดถึงอายุงานที่เหลือ นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ปัจจุบันอายุ 57 ปี เช่นเดียวกับนายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต และนายชวลิต ทิพพาวนิช ซึ่งหากได้รับเลือกเป็น CEO ปีหน้าก็จะมีเวลาทำงานในตำหน่งอีก 2 ปี ขณะที่นายนพดล ปิ่นสุภา จะเหลืออายุงาน 4 ปี ส่วน น.ส.เพียงพนอ กับนายอรรถพลมีอายุงานเหลือมากที่สุดคือ 5 ปี”

จับตารายชื่อบอร์ดสรรหา

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า แม้จะยังไม่มีการประกาศรายชื่อคณะกรรมการสรรหา CEO ปตท. แต่นายชาญศิลป์ CEO คนปัจจุบันกล่าวว่า กรรมการสรรหาจะมาจากบอร์ด ปตท. ไม่มีคนนอก เพราะรู้จักผู้สมัครทุกคนดี” โดยรายชื่อคณะกรรมการ (บอร์ด) ปตท.ปัจจุบัน ประกอบด้วย นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย ประธานกรรมการ, นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร, นายจุมพล ริมสาคร,นายณัฐชาติ จารุจินดา, นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์, นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์, นายวิชัย อัศรัสกร, นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค, นายสุพจน์ เตชวรสินสกุล, นายสุรพล นิติไกรพจน์, นายดอน วสันตพฤกษ์, นายดนุชา พิชยนันท์ และพลเอก ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ ตัวแทนฝ่ายทหารคนเดียวที่ยังนั่งเป็นบอร์ด ปตท. ท่ามกลางการจับตามองว่า นายไพรินทร์ อดีต CEO ปตท. จะกลับเข้ามาเป็นบอร์ดอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยชี้ขาดที่จะทำให้ 1 ใน 6 ผู้สมัคร CEO ปตท.ไปถึงฝั่งฝันได้ แท้จริงแล้วไม่ได้อยู่ที่การชี้ขาดจากคณะกรรมการสรรหาทั้งหมด แต่เป็น“ผู้ใหญ่” ในรัฐบาลที่จะมอบความไว้วางใจในการบริหารกำกับความมั่นคงทางด้านธุรกิจพลังงานของประเทศให้กับ “ใคร” แน่นอนว่า “รายชื่อว่าที่ CEO” จะต้องไม่พ้นไปจากสายตาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่รู้ดีว่าบริษัท ปตท. ในอดีตได้ถูกนักการเมืองที่เข้ามากำกับดูแลกิจการพลังงาน “ฝัง” บุคคลของตัวไว้ในทุกธุรกิจของเครือข่าย ปตท. และยังได้เก็บดอกผลมาอย่างต่อเนื่อง “คณะกรรมการสรรหาที่กำลังจะตั้งขึ้นมา จัดเป็นหัวใจสำคัญในการคัดเลือก CEO คนใหม่ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการเรคอมเมนต์ของนายสมคิด รองนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้วย”

สำหรับสิ่งที่ CEO ปตท.คนต่อไปจะต้องขับเคลื่อนองค์กรตามแผนลงทุนระยะเวลา 5 ปี (2562-2566) ที่วางเอาไว้ในวงเงิน 167,114 ล้านบาท อาทิ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 10,908 ล้านบาท, ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 27,527 ล้านบาท, ปิโตรเลียมขั้นปลาย 11,779 ล้านบาท, การร่วมทุนและลงทุนในบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% ในโครงการขนาดใหญ่ อาทิ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EECi, โครงการท่อส่งก๊าซเส้นที่ 5, สถานีรับจ่ายก๊าซและคลังก๊าซLNG, ท่าเรือ-คลังก๊าซ LNG 101,205 ล้านบาท


รวมไปถึงโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 นอกจากนี้ยังมีงบลงทุนในอนาคตสำรองไว้อีก 245,202 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่จะเป็น New S-curve ของ ปตท.ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า โดยธุรกิจเหล่านี้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาและพร้อมที่จะขับเคลื่อนในปี 2563