สงครามพาราควอต ยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับขวดยาฆ่าหญ้า

เป็นอีกครั้งที่เกิดความพลิกผันครั้งใหญ่ในการ “แบน” 3 สารจำกัดวัชพืชอันตราย “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต” เมื่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ ซึ่งมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธาน มีมติ “กลับลำ” ให้ขยายระยะเวลาการแบน พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส ออกไปอีก 6 เดือน หรือจากวันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ส่วนสารกำจัดวัชพืชตัวที่ 3 คือ “ไกลโฟเซต” นั้น คณะกรรมการนำไกลโฟเซตออกจากการแบน และหันไปใช้ “มาตรการจำกัดการใช้” แทน ส่งผลให้สถานะของทั้ง 3 สารเคมีอันตราย เดินทางย้อนเวลากลับไปสู่ ณ จุดเดิม หรือก่อนที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย จะมีมติให้แบนในวันที่ 22 ตุลาคม 2562


ทั้งนี้ มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 22 ตุลาคม ก่อนหน้านี้ระบุไว้ว่า ให้ทั้ง 3 สารเคมีอันตรายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร ปรับจากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามผลิต-ห้ามใช้-ห้ามนำเข้า-ห้ามส่งออก และห้ามครอบครอง โดยจะให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 แต่หลังจากนั้นเพียง 1 เดือน คณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ก็ทำการพลิกมติเดิม ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

อย่างไรก็ตาม ในห้วงเวลา 1 เดือนก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์พลิกผันสุดขั้วครั้งนี้ ฝ่ายสนับสนุนการแบนสารเคมีร้ายแรงในนามเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร กับฝ่ายคัดค้านในนาม 3 สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตร-สมาคมคนไทยธุรกิจ-สมาคมอารักขาพืชไทย ต่างก็เกณฑ์กลุ่มเกษตรกร-มวลชนออกมาเคลื่อนไหวอย่างกว้างขวาง แน่นอนว่าเครือข่ายสนับสนุนการแบนได้รับแรงสนับสนุนทางการเมืองจากท่าทีของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่ร่วมกันขับเคลื่อน มาตั้งแต่การหาเสียงเลือกตั้ง

แต่ด้านการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐมนตรี ข้าราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แสดง “ข้อกังขา” ในนโยบายและต่อต้านการแบน ด้วยการยกเหตุผลที่ถือเป็น “จุดอ่อน” อาทิ การหาสารเคมีกำจัดวัชพืชที่มีประสิทธิภาพและราคาใกล้เคียงกับสารเคมีเดิมมาทดแทน ซึ่งทุกคนในวงการรู้กันดีว่า “มันไม่มี” แต่ก็ไม่อาจต้านทานความต้องการทางการเมืองที่จะแบน 3 สารให้ได้ จนนำมาซึ่งมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดเก่า ในวันที่ 22 ตุลาคมข้างต้น

แน่นอนว่าการ “กลับลำ” ของคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ถ้าไม่ได้รับ “สัญญาณบางอย่าง” ที่ถูกส่งออกมา “ประสาน” เข้ากับความเคลื่อนไหว “อย่างหนัก” ของผู้เสียผลประโยชน์ทั้งในและนอกประเทศ

นับจาก 1) สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย อ้างถึงหนังสือของกระทรวงเกษตรและการค้าสหรัฐ ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี “ทบทวน” การแบนไกลโฟเซต

โดยอ้างว่า ไทยไม่ยึดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ จากการเป็นสมาชิก WTO ทว่าเบื้องหลังก็คือ ไกลโฟเซต หรือชื่อทางการค้า “Roundup” เป็นสินค้าของบริษัทมอนซานโต้ สหรัฐ (ถูกซื้อไปโดยบริษัทไบเออร์ เยอรมัน) มีมูลค่าการนำเข้ามาไทยหลายพันล้านบาท ซึ่งหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน สหรัฐก็ประกาศระงับสิทธิพิเศษ GSP ไทย เป็นการชั่วคราว เสมือนหนึ่งตอบโต้การแบนไกลโฟเซตกลาย ๆ

2) สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย-สมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว กับแนวร่วมสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ก็ออกมาคัดค้านการแบน 3 สาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ไกลโฟเซต” เนื่องจาก “เดือดร้อน” มีปัญหาการนำเข้าวัตถุดิบถั่วเหลือง-กากถั่วเหลือง-แป้ง/ข้าวสาลีจากสหรัฐ ที่ยังมีการใช้สารไกลโฟเซต ประกอบกับเงื่อนไขภายใต้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387/2560 เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้างต้องไม่พบการตกค้างของวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 กลายเป็นเงื่อนไข zero tolerance ต่อการนำเข้าวัตถุดิบทั้งอาหารคนและอาหารสัตว์ มูลค่าหลายแสนล้านบาท ท่ามกลางความ “เงียบ” ของหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข เจ้าของชุดนโยบายความปลอดภัยทางอาหาร ที่เป็นผู้รับผิดชอบบังคับใช้ประกาศฉบับที่ 387/2560 โดยตรง

และ 3) ปัญหาสต๊อกตกค้างของสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ประเภทที่คาดการณ์กันว่า มีมากกว่า 38,000 ตัน มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งจะต้องถูก “กำจัด” ไปหลังวันที่ 1 ธันวาคม 2562 จะทำอย่างไร “ใคร” จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บและทำลาย โดยมีความพยายามที่จะหยิบยกเกษตรกร และร้านจำหน่ายยากำจัดศัตรูพืชขึ้นมาอ้าง ทั้ง ๆ ที่สต๊อกคงเหลือตกค้าง 38,000 ตัน เกือบทั้งหมดน่าจะอยู่ในมือของบริษัทผู้นำเข้า-ผู้ผลิตจำหน่าย นับเป็นการเปิดทางให้ขายสต็อกตกค้างออกไปได้อีก 6 เดือน

ด้วยความ “พิเศษ” ของสัญญาณทั้ง 3 จึงไม่น่าแปลกใจที่ว่า ทำไมปลัดกระทรวงเกษตรฯจึง “กล้า” แจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่า “ไม่สามารถบริหารจัดการและไม่มีมาตรการรองรับกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแบนสารเคมีทั้ง 3 ได้ หลังวันที่ 1 ธ.ค.” กลายเป็นการเปิดช่องให้ คณะกรรมการวัตถุอันตราย ขยายระยะเวลาการแบนพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส ออกไปอีก 6 เดือน และอาจจะขยายเวลาต่อไปได้อีก ในเมื่อ “ยังไม่มีมาตรการรองรับในการหาสารทดแทน หรือวิธีการอื่นที่เหมาะสม”

ท่ามกลางคำถามที่ว่า เมื่อไหร่ นายสุริยะจะลงนามในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายเสียทีเพียงแต่ในกรณีของ “ไกลโฟเซต” นั้น ร้ายแรงถึงขั้นหลุดออกจากการประกาศ “แบน” ไปเลย หรือเท่ากับกลับไปอยู่ในบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ซื้อหา นำเข้า ผลิต จำหน่าย ได้ตามปกติ ภายใต้ “มาตรการจำกัดการใช้” ที่ทุกคนทราบดีว่า แทบไม่มีผลในทางปฏิบัติ หลังจากใช้มาตรการนี้มาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน