แบนพาราควอตกระทบผู้ผลิตข้าวโพดหวาน ต้นทุนพุ่ง 10 เท่า-จี้รัฐเยียวยา 6 หมื่นครอบครัว

กลุ่มผู้ผลิตและผู้ส่งออกข้าวโพดหวานทั่วไทย ชี้ กรณีแบนสารพาราควอตกระทบอุตสาหกรรมการผลิตข้าวโพดหวานทั้งระบบ ระบุเป็นการประกาศยกเลิกใช้โดยที่ยังไม่มีสารทดแทน คาดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรกว่า 6 หมื่นครอบครัวพุ่งขึ้น 10 เท่า จี้รัฐหามาตรการเยียวยา โดยเฉพาะการหาสารทดแทนที่มีประสิทธิภาพ-ปลอดภัยได้มาตรฐานและราคาที่ไม่เพิ่มต้นทุน พร้อมเสนอแก้ปัญหาค่าเงินบาทอย่างเร่งด่วน
 
นายองอาจ กิตติคุณชัย อุปนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และประธานกลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดหวาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และกลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดหวานในประเทศไทย ได้จัดประชุมสถานการณ์วัตถุดิบข้าวโพดหวาน ณ ห้องประชุมเวียงแก้ว ศูนย์ประชุมนานาชาติคุ้มคำ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีประเด็นที่ได้ร่วมกันพิจารณา อาทิ สถานการณ์วัตถุดิบข้าวโพดหวาน ปริมาณการผลิตและพื้นที่เพาะปลูก สถานการณ์เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวาน ราคาวัตถุดิบและการส่งออกสินค้า รวมถึงหารือในประเด็นการประกาศยกเลิกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิดคือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิถุนายน 2563
 
ทั้งนี้ การประกาศยกเลิกใช้สารเคมีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเกษตรทั้งระบบ เพราะส่วนใหญ่ภาคการเกษตรยังมีความจำเป็นที่ต้องอาศัยการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีหรือสารใดที่มาทดแทนได้ การยกเลิกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิดในทันทีจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและกระทบต่อผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมด้วย ในแง่ของต้นทุนการผลิตที่จะเพิ่มสูงขึ้น ผลผลิตต่อไร่ลดลง ต้นทุนของเกษตรกรในการเพาะปลูกสูงขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการเกษตรที่ต้องแบกภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
 
“เรายังไม่รู้ว่าสารที่จะนำมาทดแทนนั้นจะมีประสิทธิภาพเท่าสารเดิมหรือไม่ ซึ่งพาราควอตเป็นสารที่ใช้อยู่ในกลุ่มการผลิตข้าวโพดหวาน โดยที่ผ่านมาก็จะมีวิธีการควบคุมการใช้อยู่แล้วในระดับที่เหมาะสม หากรัฐเข้ามาดูแล มีมาตรการควบคุมการใช้งานที่ปลอดภัย การให้ความรู้และวิธีการใช้สารเคมีที่เหมาะสม ก็จะทำให้ผลกระทบน้อยลง”
 
นายองอาจ กล่าวต่อว่า อีกปัญหาสำคัญคือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกอย่างสูงมากในปีนี้ อยากเรียกร้องให้รัฐบาลคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น และเร่งหาทางเยียวยาผู้ส่งออกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามาดูแลค่าเงินบาทให้เหมาะสมและใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะหากในปี 2563 ยังต้องเจอกับวิกฤติค่าเงินและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ภาคการส่งออกทั้งประเทศก็จะอยู่ในภาวะวิกฤติอย่างแน่นอน
 
นายทนงศักดิ์ ใจจงรักษ์ ที่ปรึกษาบริษัทผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวาน กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมข้าวโพดหวานในประเทศไทยมีกำลังการผลิตของวัตถุดิบรวมกว่า 500,000 ตัน มีพื้นที่ปลูกกว่า 600,000 ไร่ มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหวานราว 60,000 ครอบครัว และมีมูลค่าตลาดข้าวโพดหวานรวมกันราว 7,000 ล้านบาท ทั้งนี้ การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชยังคงมีความจำเป็นในการทำอุตสาหกรรมข้าวโพดหวาน โดยเฉพาะสารพาราควอตเป็นสารเคมีหลักที่ใช้ในกลุ่มการผลิตข้าวโพดหวาน การประกาศยกเลิกใช้โดยที่ปัจจุบันยังไม่มีสารเคมีใดสามารถทดแทนได้ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรในด้านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น จากเดิมต้นการผลิตอยู่ที่ 60 บาทต่อไร่ จะเพิ่มขึ้นเป็น 400-500 บาทต่อไร่ หรือเพิ่มขึ้นราว 2,000 บาทต่อไร่ จากการใช้สารตัวใหม่ที่จะนำมาทดแทนสารที่ถูกแบน ขณะที่ต้นทุนการปลูกทั้งระบบจากเดิมอยู่ที่ 5,500-6,000 บาทต่อไร่ จะเพิ่มขึ้นเป็น 8,000 บาทต่อไร่ในอนาคตอันใกล้นี้
 
ด้านนายปรีชา จงประสิทธิพร ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อวัตถุดิบ บริษัท กาญจน์ คอร์น จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกข้าวโพดหวานทั้งประเทศกว่า 60,000 ครอบครัว ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันปริมาณวัตถุดิบในภาพรวมลดลง ด้วยเพราะสาเหตุภัยแล้งและการระบาดของหนอนกระทู้ลายจุด ทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง ซึ่งการประกาศยกเลิกใช้สารเคมีศัตรูพืช ก็จะเป็นซ้ำเติมปัญหาเพิ่มขึ้นอีก ส่งผลกระทบให้ต้นทุนในการปราบวัชพืชสูงขึ้น โดยประเด็นนี้รัฐบาลควรมีมาตรการเยียวยาเกษตรกร และภาคอุตสาหกรรมเกษตรที่จะมีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นในอนาคต และเร่งหาสารชนิดใหม่ที่จะสามารถทดแทนสารพาราควอตได้ในระดับประสิทธิภาพที่ใกล้เคียงกัน และไม่เป็นการเพิ่มต้นทุน