กฟภ.ผ่าองค์กรดิจิทัลยูทิลิตี้ ไฟฟ้ายุคใหม่ดึง 200 หัวกะทิตั้งทีมสู้ศึก

นาย​สม​พง​ษ์ ป​รี​เปรม ผู้​ว่าการ​การ​ไฟฟ้า​ส่วนภูมิภาค วัน​ที่ 19 พฤศจิกายน 2562 นาย​สม​พง​ษ์ ป​รี​เปรม ผู้​ว่าการ​การ​ไฟฟ้า​ส่วนภูมิภาค วัน​ที่ 19 พฤศจิกายน 2562

“PEA” เร่งผ่าตัดโครงสร้างองค์กรใหม่ มุ่ง “ดิจิทัล ยูทิลิตี้” ตั้งทีม “InnovationHub” พัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มสปีดการทำงานตอบสนองผู้บริโภค ทั้งดึงวิศวกรหัวกะทิกว่า 200 คน นำร่องโครงการ “ADHOC” คิด-วิเคราะห์ธุรกิจใหม่รองรับอนาคต ทั้งเดินหน้าดัน “พีอีเอเอ็นคอมฯ” จดทะเบียนในตลาด mai ลุยธุรกิจไฟฟ้า

นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแผน 5 ปี (2561-2565) ทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ Digital Utility ว่า ใน 3 ปีจากนี้ต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพคนทำงานรองรับธุรกิจใหม่ในอนาคต โดยดำเนินการ 2 เรื่อง คือ 1.ตั้งทีม Innovation Hub รวม 17 คนพัฒนา และสร้างแอปพลิเคชั่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และ 2.ตั้งทีมภายใต้โครงการ ADHOC หรือคนทำงานพิเศษ ดึงวิศวกรระดับหัวกะทิขององค์กรรวม 200 คน มาช่วยคิดวิเคราะห์ถึงโอกาสในธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจไฟฟ้า

ทีม ADHOC ทั้ง 200 คนจะได้รับการฝึกจากผู้ชำนาญแต่ละด้าน 3 เดือน โดยฝ่ายบริหารจะส่งโจทย์ให้ทีมไปคิดวิเคราะห์โอกาสใหม่ทางธุรกิจ ด้วยการนำข้อมูลในระบบที่มีครบทุกมิติไปวิเคราะห์ เพื่อให้เกิดแนวทางการทำงานใหม่ ๆ อีกทั้งทีมต้องมอนิเตอร์ความเคลื่อนไหวของตลาดพลังงาน

“ใน 3-5 ปีจากนี้เป็นการทยอยพัฒนาฐานรากขององค์กรใหม่ ตั้งแต่เปลี่ยนวิธีทำงานใหม่ผสมเข้ากับการนำเทคโนโลยีมาใช้ ถ้าให้คำนิยามของการมุ่งสู่ดิจิทัลยูทิลิตี้ก็คือการปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่ทั้งหมด”

ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคยังขยายให้เห็นภาพของเหตุผลที่ต้องปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ว่า ธุรกิจพลังงานจะเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่โครงข่ายระบบไฟฟ้า ดังนั้นการบริหารแบบเดิมจึงใช้ไม่ได้แล้วทั้งกระแสรถยนต์ไฟฟ้าที่จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งการจัดการระบบต้องง่ายขึ้นหากไม่ทำอะไรตอนนี้ในอนาคตจะลำบากเช่น มีรถอีวีเข้ามา 100 คัน จะเกิดอะไรขึ้น หรือทุกคนหันมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้นจะเป็นอย่างไร

“อย่าลืมว่าการไฟฟ้าฯมีผู้จัดการกว่า 1,000 สาขาทั่วประเทศ ทุกวันนี้เน้นแก้ปัญหามากกว่าป้องกัน เช่น ไฟฟ้าตก- ดับตอนนี้ได้สั่งการให้เริ่มใหม่แล้ว คือต้องวิเคราะห์สภาพการจ่ายไฟของพื้นที่รับผิดชอบทุกวัน เพื่อให้เห็นว่าสภาพจ่ายไฟหม้อแปลงไฟฟ้าเกินพิกัดหรือไม่ การแก้ไขปัญหาสมัยใหม่ต้องดีขึ้นเมื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้จะรู้พิกัดเสาไฟฟ้าทั้งหมด แต่ไม่ได้ใช้งานจริงจัง ต้องนำรีซอร์ซที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

นายสมพงศ์กล่าวด้วยว่า บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ PEA ถือหุ้น 100% ต่อไปจะกลายเป็นเครื่องมือสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจให้ PEA โดยปี 2561 ที่ผ่านมาผลประกอบการเริ่มเป็นบวก ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่มาจากการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) จึงมีแนวคิดที่จะนำบริษัทนี้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ใน 3 ปีข้างหน้า เพื่อลดข้อจำกัดและเพิ่มความคล่องตัวทางธุรกิจ


“ตามแผน 5 ปีของ PEA ที่ต้องพัฒนาตนเองไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ มากขึ้นจึงอาจจำเป็นต้องหาคนในส่วนที่เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น Data Analyticsและเอไอ เพิ่มเติมจากปัจจุบันมีพนักงานกว่า 3 หมื่นคน และพนักงานลูกจ้างอีก 7 พันคน”