พาณิชย์ชี้เงินเฟ้อปรับตัวดีขึ้นครั้งแรก 0.21% ผลจากข้าว แป้งดันเงินเฟ้อสูงขึ้น ทั้งปียังมองในกรอบ 0.7-1%

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) พฤศจิกายน 2562 เท่ากับ 102.61 สูงขึ้น สูงขึ้น 0.21% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า

เป็นการปรับตัวดีขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน หลังจากชะลอตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญจากหมวดพลังงาน ที่หดตัวในอัตราต่ำที่สุดในรอบ 4 เดือน ในขณะที่หมวดอื่นๆ ยังขยายตัวและเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ รวมถึงราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้น 8.92% โดยเฉพาะข้าวสารเหนียวที่แหล่งเพาะปลูกเสียหายจากอุทกภัย และแหล่งน้ำมีน้อยไม่สามารถเพาะปลูกได้ ทำให้ผลผลิตมีน้อย รวมถึงเนื้อสัตว์, ไข่ไก่ ปรับตัวสูงขึ้น

สำหรับเฉลี่ยเงินเฟ้อ 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปี 2562 สูงขึ้น 0.69% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี ทาง สนค.ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ในกรอบ 0.7-1.0% ทั้งนี้เงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤศจิกายน 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้น 0.21% ตามการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.51% จากข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง 8.92% โดยเฉพาะข้าวสารเหนียว ที่แหล่งเพาะปลูกเสียหายจากอุทกภัย และแหล่งน้ำมีน้อยไม่สามารถเพาะปลูกได้ ทำให้ผลผลิตมีน้อย เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้น 1.73% ตามการเพิ่มขึ้นของราคาเนื้อสุกรหน้าฟาร์มเนื่องจากเกษตรกรรายย่อยลดการเลี้ยง และมีการเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ยกเว้นกุ้งขาว ราคาลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้นและความต้องการโลกที่ลดลง ส่วนปลาน้ำจืด (ปลาช่อน ปลาดุก ปลานิล) ปริมาณลดลงจากแหล่งน้ำธรรมชาติขาดแคลน

ขณะที่ผักสด (ผักคะน้า ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง) ลดลง 5.43% ตามปริมาณผลผลิตที่ออกมาก เนื่องจากสภาพอากาศเหมาะต่อการเพาะปลูก ประกอบกับฐานราคาในปีที่ผ่านมาสูง เครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช ซีอิ๊ว ซอสหอยนางรม) ลดลง 0.23% หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.53% ตามการลดลงของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร 1.97% โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ลดลง 7.54% ขณะที่ค่าโดยสารสาธารณะ (รถโดยสารประจำทาง รถตู้ ค่าเครื่องบิน) สูงขึ้น 6.17% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2562 ลดลง 0.13% เฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 0.69%

สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการในเดือนพฤศจิกายน 2562 จำนวน 422 รายการ เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2562 พบว่ามีสินค้าปรับสูงขึ้น 130 รายการ อาทิ ข้าวแกง ข้าวกล่อง น้ำอัดลม ข้าวสารเจ้า มะม่วง ปลาทู น้ำมันพืช แชมพู สินค้าปรับราคาลดลง 105 รายการ อาทิ ผักคะน้า แตงกวา พริกสด ผักกาดขาวกะหล่ำปลี ส้มเขียวหวาน มะละกอสุก เนื้อสุกร และสินค้าที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคา 187 รายการ

อย่างไรก็ดี คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี ทั้งมาตรการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจรากหญ้า มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร และมาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย รวมทั้งโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 น่าจะมีความชัดเจนขึ้นและสามารถดำเนินการได้เต็มที่ น่าจะช่วยให้ปัจจัยด้านอุปสงค์เป็นไปในทิศทางเดียวกันและเพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญในระยะต่อไป


สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าอิทธิพลของพลังงานจะลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากราคาน้ำมันในปีนี้เริ่มใกล้เคียงกับปีก่อน ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการอื่นๆ น่าจะยังคงเคลื่อนไหวในลักษณะปกติ ยกเว้นสินค้าเกษตร ซึ่งอาจมีความผันผวนอยู่บ้าง ทำให้เงินเฟ้อในเดือนธันวาคมน่าจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง