“กกร.” ฝันปี 63 เศรษฐกิจดี ขอการเมืองนิ่งช่วยดึงการลงทุนจริง แนะใช้มาตรการช้อปช่วยชาติกระตุ้นอีกรอบ

นายกลินทร์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ปี 2563 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น เนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่ทยอยออกมา การลงทุนจากต่างประเทศที่ปี 2562 ได้เริ่มขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ และจะเริ่มลงทุนจริงก่อสร้างจริงในปีหน้า การค้ากับตลาด CLMV การท่องเที่ยวที่คาดจะทะลุกว่า 40 ล้านคน และการมีคณะทำงาน Ease of doing Business ทำให้อำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนมากขึ้น

ขณะที่ปี 2562 ยังคงคาดการณ์ว่า GDP จะอยู่ที่ 2.7-3% ส่งออกติดลบ 2-0% เงินเฟ้อ 08.-1.2% ไว้เช่นเดิม และจะทบทวนอีกครั้งในเดือน ม.ค. 2563 ซึ่งเอกชนยังคงคาดการณ์ไว้เช่นนี้ เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายด้าน อาทิ มาตรการ ชิมช้อปใช้ (ทั้ง 3 เฟส) มาตรการประกันรายได้สินค้าเกษตร, มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว, มาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์

ซึ่งเป็นแรงบวกที่จะชดเชยผลกระทบจากหลายปัจจัยกดดันจากภายนอกประเทศได้บ้าง ซึ่ง กกร.เห็นว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ รัฐบาลควรที่จะเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เพื่อทำให้เศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 ต่อเนื่องไปถึงไตรมาสที่ 1 ปีหน้าปรับตัวดีขึ้น และรักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวไปมากกว่านี้

จึงเสนอให้นำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนี้ 1.มาตรการช้อปช่วยชาติ  โดยให้บุคคลธรรมดาสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค (ยกเว้นสินค้าบางประเภท อาทิ สุรา ยาสูบ เป็นต้น) รวมทั้งของขวัญปีใหม่ มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

2.มาตรการภาษี เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว และการจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง  โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท และของนิติบุคคลไม่เกิน 1.5 เท่าของค่าใช้จ่ายจริง

3.เร่งการลงทุนภาครัฐเพื่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องของภาคเอกชน อันจะส่งผลต่อห่วงโซ่มูลค่าของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เช่น โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำชลประทานในทุกจังหวัด โดยใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษ ใช้ผู้รับเหมาจากในพื้นที่เท่านั้น (Local to Local)

4.ผลักดันและเร่งรัดการดำเนินงานตามแผนงานของ บสย. ในปี 2563 เช่น โครงการ PGS8 (โครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับ SMEs) และการนำ Credit Scoring มาใช้เพื่อให้สามารถคิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันตามลำดับความเสี่ยงของ SMEs ให้มีการดำเนินการที่เร็วขึ้น

5.เร่งรัดการคืนภาษี VAT ทั้งผู้ส่งออกและผู้ประกอบการให้รวดเร็วขึ้น โดยเชื่อมโยงกับบริการ e-Payment

6.ผลักดันโครงการค้ำประกันการส่งออกให้ครอบคลุมตลาดใหม่ๆของ SMEs และรัฐบาลช่วยรับภาระค่าธรรมเนียมค้ำประกันการส่งออกให้กับ SMEs ในตลาดเป้าหมาย และส่งเสริมผู้ประกอบการส่งออกที่เป็น SMEs ขายสินค้าเป็นเงินบาท และให้สิทธิพิเศษในการทำธุรกรรมทางการเงินสำหรับการรับชำระค่าสินค้าโดยไม่คิดค่า Premium หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง EXIM Bank

ในกรณีของค่าเงินบาท ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% อยู่ที่ 1.25% เพื่อจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว และได้ปรับเกณฑ์ 4 มาตรการเพื่อลดแรงกดดันค่าเงินบาท โดย กกร. เห็นว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมาอาจช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าในระยะสั้น จึงขอให้ ธปท.พิจารณามาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือ SMEs และหากยังปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องจะส่งผลกระทบในระยะยาว

ซึ่งต้องยอมรับว่าค่าเงินบาทจะอยู่ในระดับประมาณ 30.50 บาท และคงไม่กลับไปที่ 34-35 บาทแล้ว ดังนั้นก็ต้องยอมรับและปรับตัวกัน

ส่วนเรื่องของการเมืองเอกชนอยากให้มีเสถียรภาพ เพราะจะช่วยสร้างบรรยากาศการลงทุนได้
ขณะเดียวกันการปรับค่าแรง กกร. อยากขอให้ชะลอไปก่อน และหากต้องปรับก็ควรขึ้นเพียงเล็ก

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภา อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เรื่องจองค่าแรง แต่สุดท้ายแล้วก็อยู่ที่ผู้ประกอบการเอง เพราะหากขึ้นแค่ 1 บาทบริษัทที่จะปิดก็คือปิด หากขึ้น 5-6 บาทรายที่อยู่ได้ก็คือไปต่อได้