ปัจจัยลบรุมเร้ากด”จีดีพี”ไทย เอกชนประสานเสียงหดเป้าส่งออกลบ3%

ปัจจัยลบรุมเร้า เอกชนประสานเสียง ปรับลดตัวเลขเศรษฐกิจ BAY หดจีดีพี ปีนี้โตแค่ 2.4% ด้านสภาผู้ส่งออก ลดเป้าหมายส่งออกปีนี้ลบ 3% คาดปี”63 ฟื้นโต 0-1%

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือสภาผู้ส่งออก (สรท.) เปิดเผยว่า สภาผู้ส่งออกปรับลดเป้าส่งออกปีนี้ ติดลบ 2.5%-ติดลบ 3% จากที่เคยประเมินติดลบ 1.5% หาก 2 เดือนสุดท้ายส่งออกเฉลี่ยต่ำกว่าเดือนละ 20,700 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปัจจัยเสี่ยงสงครามการค้ายืดเยื้อ และการที่สหรัฐประกาศสนับสนุนผู้ชุมนุมประท้วงในฮ่องกงเป็นการแทรกแซงภายในของจีน นำไปสู่ปัญหายืดเยื้อ อีกทั้งค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า จาก 33 เป็น 30.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งเราขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บริหารจัดการและเร่งส่งเสริมการชำระค่าใช้จ่าย เช่น ค่าระวางเรือ เป็นสกุลเงินเหรียญสหรัฐแทนเงินบาท ส่วนการส่งออกปี 2563 จะขยายตัว 0-1% ในกลุ่มสินค้าเกษตร 0% อาหาร ขยายตัว 5% อิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัว 2% กลุ่มยานพาหนะ ขยายตัว 3% ส่วนในกลุ่มพลังงานและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับพลังงานมีโอกาสขยายตัวเป็นบวกเช่นกัน

“แม้มีปัจจัยบวกการเร่งในช่วงตรุษจีนปลายเดือนมกราคม 2563 การลงทุนในญี่ปุ่นขยายตัว การเร่งเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทยกับหลายประเทศ แต่ก็ยังไม่มากหากเทียบกับปัจจัยเสี่ยง ซึ่งมีทั้งองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) จะเริ่มบังคับใช้มาตรการ IMO 2020 วันที่ 1 ม.ค. 2563 กำหนดให้เรือทุกลำเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงลดการปล่อยซัลเฟอร์เหลือ 0.5% ลดมลพิษ จะทำให้ต้นทุนค่าขนส่งทางเรือ ผลจากการเรียกเก็บภาษีความหวาน ซึ่งเป็นต้นทุนเอกชน ลดทอนความสามารถในการแข่งขัน และยังต้องติดตามผลเจรจากับสหรัฐว่าจะยกเลิกการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้าไทย 573 รายการก่อนจะมีผลบังคับใช้ 25 เมษายนหรือไม่ และนโยบายชะลอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การแบนสารเคมีการเกษตรว่าจะมีแนวทางอย่างไร”

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2562 ขยายตัว 2.4% จากเดิม 2.9% เนื่องจากการส่งออกหดตัว 2.5% การลงทุนของไทยลดลงต่อเนื่อง และกำลังซื้อมีแนวโน้มแผ่วลง เป็นตัวฉุด ขณะที่จีดีพีไทยปี 2563 คาดว่าจะเหลือเพียง 2.5% จากเดิม 3.5% ขณะที่การส่งออกอาจจะกลับมาขยายตัว 1.5% เพราะเชื่อว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยเฉพาะภาคการผลิตประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น เริ่มฟื้นตัวจะช่วยหนุนการส่งออกไทย

“ส่วนค่าเงินบาทสิ้นปี 2563 คาดว่าจะอยู่ที่ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ใกล้เคียงกับปัจจุบัน แม้ฝ่ายวิจัย ธปท.มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้งเพื่อพยุงเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2563 แต่อาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่ามากนัก เนื่องจากส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยที่มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ซึ่งในปีหน้าแนวโน้มบาทจะไม่แข็งค่าเร็วเท่าปีนี้ ที่แข็งค่าไปแล้วกว่า 7%”